ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ | ธราธร รัตนนฤมิตศร
เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ประกาศยกเลิกการจัดทำรายงาน Doing Business ที่เคยดำเนินการมาหลายปี อันมีสาเหตุมาจากเรื่องอื้อฉาวจากความผิดปกติของข้อมูลที่นำมาจัดทำดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing business index) ในรายงาน พ.ศ. 2563
เมื่อตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบก็พบความผิดปกติของการจัดการข้อมูลจริง และเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่ามีแรงกดดันจากผู้บริหารในการจัดการข้อมูลบางประเทศในรายงานฉบับปี พ.ศ. 2561 และรายงานปีพ.ศ. 2563
แม้รายงาน Doing Business จะหมดความน่าเชื่อถือและหยุดการดำเนินการไปในปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่ารายงานฉบับนี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลสูงทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รัฐบาลไทยทุกยุคสมัยล้วนได้ใช้ข้อมูลดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจเป็นตัวชี้วัดสำคัญของประเทศและใช้เป็นแนวทางสำคัญในการปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจมาโดยตลอด
เมื่อมองย้อนกลับไป ดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจได้พัฒนาขึ้นมาโดยเริ่มต้นจากการพิจารณาตัวชี้วัดใน 5 มิติของวงจรชีวิตในการประกอบธุรกิจ แล้วได้ขยายเพิ่มเป็น 10 มิติ ครอบคลุมตั้งแต่ การเริ่มต้นธุรกิจ การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ ไปจนถึงการล้มละลาย ดัชนีในแต่ละมิติก็จะมีตัวชี้วัดสำหรับการวัดต้นทุน ระยะเวลาและคุณภาพของกฎระเบียบธุรกิจ
รายงาน Doing Business ครอบคลุม 190 ประเทศ ตัวชี้วัดหลายตัวระบุถึงประสบการณ์ของบริษัททั่วไปในการประกอบธุรกิจ มีการใช้สมมติฐานเกี่ยวกับรูปแบบทางกฎหมาย ขนาด ที่ตั้งของธุรกิจ และลักษณะการดำเนินงานของธุรกิจ ข้อมูลเก็บรวบรวมผ่านแบบสอบถามกับนักกฎหมาย ที่ปรึกษาทางธุรกิจ นักบัญชี ตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่เกี่ยวกับข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ
หลายปีที่ผ่านมา ดัชนีและการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และส่งอิทธิพลถึงรัฐบาลในแต่ละประเทศเพื่อที่จะดำเนินการปฏิรูปกฎระเบียบให้เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีคะแนนและลำดับสูงขึ้น รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากประเทศที่ได้คะแนนสูง ซึ่งส่งผลให้เวลาและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎระเบียบลดลง รวมถึงปรับปรุงคุณภาพของระเบียบ ข้อบังคับและขั้นตอนในแต่ละประเทศให้ดีขึ้น
นับตั้งแต่รายงาน Doing Business ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมาได้พบการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางธุรกิจมากกว่า 3,800 รายการใน 190 ประเทศ การปฏิรูปส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการได้รับสินเชื่อ การเริ่มต้นธุรกิจ การชำระภาษี การจดทะเบียนทรัพย์สิน และการค้าระหว่างประเทศ และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บรูไน รวันดา อินเดีย เวียดนาม เป็นประเทศที่มีจำนวนการปฏิรูปเชิงบวกสูงสุด
สำหรับประเทศไทย รายงาน Doing Business พ.ศ. 2563 พบว่า อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศของโลก ได้คะแนนรวม 80.1 จาก 100 คะแนน
มิติที่ไทยอยู่ในอันดับสูงคือ การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย อันดับที่ 3 ของโลก และการขอใช้ไฟฟ้าอันดับที่ 6 ของโลก ส่วนมิติที่อยู่ในอันดับที่ต่ำและมีโอกาสจะพัฒนาได้อีกมาก คือการชำระภาษี การจดทะเบียนทรัพย์สิน และการค้าระหว่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ ในช่วงพ.ศ. 2555-2557 ประเทศไทยได้อันดับที่ 17-18 แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดและระเบียบวิธีก็ทำให้ในปีพ.ศ. 2558 อันดับของประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนมาก ตกไปอยู่ที่อันดับที่ 46 หลังจากนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านนี้อย่างจริงจัง ส่งผลทำให้อันดับดีขึ้นอย่างมากจนทำให้ในพ.ศ. 2561 ประเทศไทยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 26 และสูงสุดที่อันดับ 21 ในปีล่าสุด
อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยเทียบกับกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยยังตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ก็ถือว่าอยู่ในอันดับที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น เยอรมนี (อันดับ 22) แคนาดา (อันดับ 23) ญี่ปุ่น (อันดับ 29) สเปน (อันดับ 30) ฝรั่งเศส (อันดับ 32) เนเธอร์แลนด์ (อันดับ 42)
เมื่อมองไปในอนาคต แม้ว่าธนาคารโลกจะหยุดการจัดทำดัชนีและรายงาน Doing Business ลงไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยควรจะหยุดการปฏิรูปกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจลงไปด้วย ในทางตรงกันข้าม ห้วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะมีอิสระในการตั้งโจทย์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ และแสวงหาแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้น
โดยเฉพาะในด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การจัดทำแพลตฟอร์มบริการครบวงจรที่มีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง การลดต้นทุนค่าธรรมเนียมและระยะเวลาในการอนุมัติลง การลดขั้นตอนและเอกสารหลักฐานที่ไม่จำเป็น การพิจารณามิติการทำธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจาก 10 มิติที่เคยกำหนดในรายงาน Doing Business ตลอดจนการพัฒนากฎการกำกับดูแลแบบใหม่ที่ทันยุคสมัย สามารถคุ้มครองผู้บริโภค อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ๆ ไปพร้อมกันอย่างสมดุล
อนาคตของการปฏิรูปเพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจจึงไม่ควรปิดฉากลงพร้อมกับการยกเลิกการจัดทำรายงาน Doing Business ของธนาคารโลก แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศที่จะกลับมาทบทวนและเริ่มต้นร่วมกันคิดใหม่อีกครั้งเพื่อสร้างกฎระเบียบที่ดีขึ้น ลดกฎระเบียบที่รกรุงรังลง เพื่อให้ตอบโจทย์โลกธุรกิจยุคใหม่ที่กำลังพลิกโฉมไปอีกมากในอนาคตอันใกล้นี้.