คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี : ชัยชนะของคนรุ่นใหม่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม

คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี : ชัยชนะของคนรุ่นใหม่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา กระแสสังคมที่ร้อนแรงที่สุดในประเทศเยอรมนีคือ การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของเยาวชน และให้คำนิยามการต่อสู้ในครั้งนี้ว่า “อนาคตของตน”

ผู้เขียน : ดร.ศิริญญา ทองแท้ สมจริง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การรวมตัวกันชุมนุมประท้วงในทุกวันศุกร์ของกลุ่ม Fridays for Future เป็นขบวนการทางสังคมระดับโลกที่เริ่มต้นจากการหยุดเรียนในทุกวันศุกร์เพื่อมาประท้วงหน้ารัฐสภาประเทศสวีเดนของ Greta Thunberg นักเรียนชาวสวีเดน Greta เริ่มการประท้วงในปี ค.ศ. 2018 ในขณะที่มีอายุ 15 ปี  

เธอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายลงมือจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยมองว่าหากปล่อยให้สถาณการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเช่นนี้ต่อไป โลกจะไม่มีโอกาสหวนกลับมาแก้ไขปัญหานี้ได้อีกและเมื่อถึงจุดที่สิ่งแวดล้อมล่มสลายกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนในวัยเดียวกับเธอ 

การประท้วงในทุกวันศุกร์ของ Greta จุดประกายให้เยาวชนทั่วโลกหันมาสนใจและเรียกร้องในสิ่งเดียวกัน ในปี ค.ศ. 2019 ขบวนการ Fridays for Future แผ่ขยายไปในหลายประเทศ ประมาณการว่าในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 2019 ซึ่งมีการจัดการประท้วงในหลายประเทศทั่วโลกมีผู้เข้าร่วมกว่า 1.8 ล้านคน 

เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ขบวนการ Fridays for Future ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเข้มแข็ง การประท้วงในทุกวันศุกร์ถูกจัดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเยอรมนีตลอดปี ค.ศ.2019 โดยแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่คือนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวนหลายหมื่นถึงหลายแสนคน 

แม้การประท้วงจะหยุดลงจากสถาณการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่กระแสเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในประเทศเยอรมนีอย่างมหาศาล ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 2021 นโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายสำคัญในการช่วงชิงฐานคะแนนของพรรคการเมืองต่าง ๆ ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ 

เช่น การที่พรรคกรีนส์ (Alliance 90/The Greens: Bündes 90/ Die Grünen) ซึ่งมีนโยบายหลักด้านสิ่งแวดล้อมมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้พรรคสามารถเสนอชื่อตัวแทนพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (candidate for chancellor: der Kanzlerkandidat) ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

ในการเลือกตั้งใหญ่ของเยอรมนีในวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเดิมคือพรรค CDU (The Christian Democratic Union of Germany) ซึ่งถูกวิจารณ์ว่ามีนโยบายที่ไม่ก้าวหน้ามากพอในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมแพ้การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 16 ปี

เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนว่าบริบทเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มาจากพลังความต้องการการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่สามารถพลิกโฉมการเมืองในประเทศ

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในบริบททางกฎหมายได้เกิดการหมุดหมายสำคัญจากการต่อสู้ของเยาวชนเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันได้มีคำพิพากษาให้กฎหมายคุ้มครองสภาพภูมิอากาศปี ค.ศ. 2019 (Klimaschutzgesetz) ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการกำหนดมาตรการการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อันเป็นสาเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมมีเนื้อหาบางส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ความน่าสนใจของคำพิพากษาฉบับนี้อยู่ตรงเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญยกขึ้นเพื่อตีความว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างไร  

ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันให้เหตุผลว่ากฎหมายคุ้มครองสภาพภูมิอากาศฉบับนี้มีกำหนดการใช้บังคับที่สั้นเกินไป จนทำให้ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ กล่าวคือ ในกฎหมายคุ้มครองสภาพภูมิอากาศฉบับดังกล่าวมีการกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจราจร อุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือกิจกรรมครัวเรือนไว้ถึงปี ค.ศ. 2030    

ศาลเห็นว่าการที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาใช้บังคับมาตรการเหล่านั้นไว้ถึงแค่ปี ค.ศ.2030 เป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปในการจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพ เมื่อระยะเวลาในการจัดการดังกล่าวไม่เพียงพอในการป้องกันปัญหาสภาวะเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย่อมเป็นการสร้างภาระแก่คนรุ่นต่อไปในการเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวในอนาคต  นั่นคือศาลมองว่าคนรุ่นต่อไปจะต้องเข้ามาแบกรับภาระในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น 

ภาระนี้ถือเป็นภาระที่มากเกินไปอันเกิดจากการละเลยไม่จัดการแก้ไขปัญหาให้เพียงพอในปัจจุบัน  ภาระที่มากเกินไปเหล่านี้ถือเป็นการจำกัดเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ เพราะพวกเขาจะกลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ต้องเข้ามาแบกรับมาตรการควบคุมการดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้นในอนาคต และมาตรการเหล่านั้นย่อมมีผลในการจำกัดเสรีภาพของกลุ่มคนซึ่งส่วนใหญ่คือเยาวชนในขณะนี้ในทุกด้าน 

การที่เสรีภาพในอนาคตของพวกเขาถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากมาตรการระยะสั้นที่ไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาจากกฎหมายฉบับนี้นั้น ถือว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพื้นฐานของเยอรมัน (Basic Law) ส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ศาลยังอ้างถึงหน้าที่ของรัฐในการปกป้องธรรมชาติอันเป็นรากฐานแห่งชีวิตของมนุษย์และสัตว์ผ่านการกระทำของรัฐทั้งทางบริหารนิติบัญญัติและตุลาการด้วย (Article 20a Basic Law) 

คำพิพากษาฉบับนี้สร้างความยินดีแก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งส่วนใหญ่คือเยาวชนและผู้ร่วมต่อสู้ในกระบวนการ Fridays for Future เป็นอย่างมาก สำหรับพวกเขาคำพิพากษาฉบับนี้เป็นการยืนยันว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและต้องการการจัดการที่เป็นรูปธรรมและเพียงพอจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ 

นอกจากนี้คำพิพากษาฉบับดังกล่าวยังถือเป็นคำพิพากษาประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่ศาลวางบรรทัดฐานว่าการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในอนาคตถือเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ถือเป็นชัยชนะของคนรุ่นใหม่ในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนจากการกระทำของรัฐโดยครอบคลุมถึงผลซึ่งเกิดขึ้นในอนาคตด้วย.