Future of Work : การทำงานแบบไหนดีที่สุด? (1)

Future of Work : การทำงานแบบไหนดีที่สุด? (1)

การทำงานในอนาคตจะเป็นรูปแบบไหน? Work from Home (WFH), Work from Office (WFO) or Work from Anywhere (WFA) แบบไหนดีที่สุด?

ฟัง คุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ในรายการ The Secret Sauce พูดเรื่อง The Great Resignation มีข้อมูลหลายอย่างชวนให้คิด

มนุษย์เงินเดือนในสหรัฐ กว่า 4 ล้านชีวิต ตัดสินใจลาออกจากงานหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 เมื่อเมษายนที่ผ่านมา และลาออกเพิ่มอีก 3.9 ล้านคนในเดือนมิถุนายน ที่น่าสนใจคือ 39% เลือกออกจากงานเพราะไม่อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ และ 50% ของคนที่ออกจากงานเป็นคนเจนวายที่ต้องการอิสรภาพในการทำงาน อะไรคือสาเหตุของอภิมหาการลาออก?

สาเหตุแรก คือ ความต้องการที่มากขึ้น ต้องการเงิน ต้องการเวลา และต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน จากการทำงานที่บ้าน พวกเขาพบว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา รู้สึกปลอดภัยและอยู่ใกล้ชิดกับคนรักมากขึ้น 

ประการที่สอง คนทำงานค้นพบความหมายของชีวิต ครอบครัว และงานที่ตนเองชอบ และเขาเริ่มฉุกคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการในการใช้ชีวิต และสาเหตุสุดท้ายคือความเบื่อหน่ายจากการทำงาน (Burn Out) เนื่องจากความเครียด กดดัน จนหมดไฟทำงาน

แนวโน้มที่ว่า คนลาออกเพื่อค้นหาความหมายในชีวิตเป็นเรื่องจริงหรือ?

ผมตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ตัดสินใจลาออกหลังวิกฤติโควิด น่าจะเป็นคนที่ทำงานมาสักระยะแล้ว มีอิสระในการทำงาน และมีอิสระทางการเงิน (Financial Independence) สามารถดำรงชีพได้ นอกจากนั้นยังต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional Independence) ดี จึงสามารถตัดสินใจลาออกเพื่อขวนขวายหาความหมายของชีวิตได้อย่างที่ต้องการ

แต่พนักงานในระดับกลางลงมา หรือ คนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในประเทศไทย ผมเชื่อว่าอิสระทางการเงินและความมั่นคงทางอารมณ์ยังอยู่ในระดับเริ่มต้น การตัดสินใจลาออกเพื่อค้นหาตัวเอง โหยหาอิสรภาพของการทำงานรูปแบบใหม่ตามตัวอย่างในสังคมต่างประเทศ จะเป็นเพียงกระแสสังคมในระยะสั้นเท่านั้น เพราะหลังจากออกไปเผชิญกับอิสระในการทำงาน คนจำนวนไม่น้อยกลับพบว่าขาดสิ่งยึดเหนี่ยว และขาดความมั่นคงในชีวิตจนสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป ในประเทศอเมริกา มีงานวิจัยพบว่าคนที่ออกไปทำงานอิสระ จะหวนกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ถึง 85% ภายในเวลา 18 เดือน

อย่างไรก็ตาม โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบการทำงานก็ไม่อาจฝืนกระแสธรรมชาติได้

มีการสำรวจความคิดของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของสหรัฐ  ถึงภาพของการทำงานในอนาคตหลังโควิดว่าจะมีรูปแบบอย่างไร ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นว่า การกลับมาทำงานในออฟฟิศเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กร และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ต้องการให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศทำงานถึง 3-5 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่แรงงานรุ่นใหม่ หรือเจนวาย มีความคิดสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง พวกเขาต้องการทำงานที่ออฟฟิศเพียง 1-2 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น

สิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องตอบคำถาม 3 ข้อก่อนเพื่อออกแบบการทำงานในอนาคต คือ...

การทำงานจากที่บ้าน (Work for Home) ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงจริงหรือไม่?

บริษัทต้องการให้พนักงานเข้าออฟฟิศครบทุกวันจริงหรือ?

การยอมเสียพนักงานแลกกับการทำงาน 5 วันในออฟฟิศคุ้มค่าหรือไม่?

ถ้าคำตอบทั้ง 3 ข้อ คือ “ไม่” รูปแบบการทำงานในอนาคตคงต้องเปลี่ยนไปแน่นอน

สำหรับการทำงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขอชวนทุกท่านติดตาม Future of Work ผ่านมุมมองของผมได้ในสัปดาห์หน้าครับ