Metaverse โลกเสมือนจริงกับธุรกิจ | พสุ เดชะรินทร์
สัปดาที่แล้วมีข่าวจาก Facebook มีแผนที่จะจ้างพนักงานใหม่ในภูมิภาคยุโรปอีก 10,000 คนภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนา Metaverse ขึ้นมาโดยเฉพาะ
ข่าวจาก Facebook ดังกล่าว สะท้อนภาพทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคต ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและทุ่มเทของ Facebook กับเรื่องของ Metaverse สมกับที่ทางบริษัทมองว่า Metaverse จะเป็นธุรกิจหลักต่อไปของ Facebook
นอกจากนี้ Facebook ยังต้องการจะปรับเปลี่ยนตนเองจากความเป็น Social media company สู่ความเป็น Metaverse company ถึงขั้นที่มีข่าวมาล่าสุดว่าทางบริษัทกำลังพิจารณาจะเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็นชื่ออื่นเพื่อสะท้อนภาพทิศทางดังกล่าวด้วย (ขณะเขียนบทความนี้บริษัทยังไม่ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ)
ยังมีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่นๆ เช่น Microsoft, Nvidia, Epic Games ที่ต่างก็อยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับ Metaverse คนในวงการเทคโนโลยีต่างมองเรื่องของ Metaverse เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง และส่วนใหญ่จะมองว่า Metaverse จะเป็นนวัตกรรมที่สำคัญของโลก ถึงขั้นที่ยิ่งใหญ่กว่าโทรศัพท์มือถือหรือเว็บด้วยซ้ำไป
แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่าปัจจุบัน Metaverse ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นแม้กระทั่ง Facebook เองก็ออกมายอมรับว่ายังต้องใช้เวลาอีก 10-15 ปีในการที่จะพัฒนา Metaverse
สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับ Metaverse นั้น ลองนึกภาพดูว่าทุกคนอาศัยอยู่ในโลกนี้ใบเดียวมาตั้งแต่เกิด แต่ในอนาคตถ้ามีโลกอีกใบที่เป็นโลกเสมือนจริงหรือโลกคู่ขนาน ที่คนสามารถเข้าไปอยู่ในนั้น และสามารถที่จะเข้าไปพูดคุย พบเจอเพื่อนฝูง ท่องเที่ยว เรียนหนังสือ ประชุม ทำงาน ช้อปปิ้ง และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ผ่าน Avatar ที่เป็นสามมิติ
ปัจจุบันท่านอาจจะพบเจอ พูดคุย ช็อปปิ้งในโลกอินเทอร์เน็ตผ่านทางหน้าจอและคีย์บอร์ด แต่ในอนาคตนั้นการเข้าสู่โลกเสมือนจริงอาจจะเกิดจากการสวมแว่นตา หรือ ที่ครอบหัว คล้ายๆ กับเครื่องเล่น VR (Virtual Reality) ในปัจจุบัน แต่เป็นรุ่นที่เบา บาง และคล่องตัวกว่า อีกทั้งยังสามารถมีอุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้รู้สึกเสมือนจริงมากขึ้น
ตัวอย่างของ Metaverse ในอนาคตนั้น ได้ปรากฎผ่านทางนิยายหรือภาพยนต์ต่างๆ มาแล้ว ซึ่งภาพยนต์เหล่านั้น ตัวละครมักจะเข้าไปเล่นเกม เลี้ยงสัตว์ สู้กับสัตว์ประหลาด เก็บไอเทม ฝึกวิชา ฯลฯ แต่สำหรับ Metaverse ที่ฝันกันนั้นจะไม่ใช่แค่การเล่นเกมเพียงอย่างเดียว แต่จะรวมทั้งเรื่องปฏิสัมพันธ์ การทำงาน และการพักผ่อนหย่อนใจด้วย
เรื่องหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับตรงกันก็คือ Metaverse ที่แท้จริงในอนาคตนั้นจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตอบหรือฟันธงให้แน่ชัดลงไปได้ในปัจจุบัน เนื่องจากทั้งเทคโนโลยีและแนวคิดล้วนอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ก็พพอจับกระแสหรือเห็นทิศทางได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย เช่น การที่ Facebook ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับเครื่อง VR ของตนเองเป็นอย่างมาก
สำหรับธุรกิจอื่นๆ นั้น หลายบริษัทก็เริ่มคิดถึง Metaverse Strategy ของตนเองขึ้นมาแล้ว เนื่องจากทุกอย่างมีความเป็นไปได้ในโลก Metaverse เช่น ร้านค้าปลีกสามารถไปเปิดร้านใน Metaverse เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองใช้สินค้าจริงๆ ก่อนจะตัดสินใจออกมาซื้อในโลกของจริง หรือ พนักงานที่อยู่กันคนละทวีปแทนท่ีจะเจอกันผ่านหน้าจอ ก็สามารถที่จะไปนั่งทำงานร่วมกัน ใน Metaverse ภายใต้บรรยากาศการทำงานตามที่กำหนด แล้วงานที่ทำนั้นก็สามารถถูกดาวน์โหลดกลับสู่โลกของจริง
ถึงแม้ Metaverse จะดูเหมือนมีโอกาสและศักยภาพมหาศาล แต่ก็มีข้อที่ต้องคำนึงถึงไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมรรถนะและความสามารถของระบบคอมพิวเตอร์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล หรือ แม้กระทั่งการเสพติด เพลิดเพลิน เล่นสนุกกับโลกเสมือนจริงจนละเลยไม่อยากจะกลับสู่โลกของความเป็นจริง
สำหรับธุรกิจของไทยนั้น ถ้าท่านไม่ได้ตั้งใจที่จะพัฒนา Metaverse ขึ้นมาเองหรือพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ควรจะมุ่งเน้นการเฝ้าติดตามไปก่อน เนื่องจากยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโยโลยีที่เกี่ยวข้องอยู่ แต่ถ้ามีโอกาสก็อาจจะเริ่มศึกษาและคิดว่าธุรกิจของท่านจะเข้าไปอยู่ใน Metaverse ได้อย่างไร เพื่อที่เมื่อโอกาสมาถึงธุรกิจจะได้มี Metaverse Strategy ขึ้นมารองรับได้ทันท่วงที.