"รัฐบาลจีน" ใช้ยาแรง ลดแรงกดดันด้านการเรียนของเด็กและเยาวชนในครอบครัวจีน
ตั้งแต่กลางปี 2564 "รัฐบาลจีน" ใช้ยาแรงหลายขนานมาแก้ปัญหา ลดความกดดันด้านการเรียนของเด็กและเยาวชนจีน เมื่อพ่อแม่อยากให้ลูกเรียนมากเกินพอดี
ความกดดันด้านการเรียนของเด็กและเยาวชนจีน ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาทางสังคมที่จีนมีความวิตกกังวล และรัฐบาลจีนพยายามแก้ไขมานานนับหลายปี โดยเฉพาะในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจีน หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “เกาเข่า 高考” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่โหดสนามหนึ่งในโลกเลย หนึ่งปีสอบหนึ่งครั้ง (เหมือนกับการสอบ Entrance ของไทยในสมัยก่อน ถ้าใครทันการสอบเข้าแบบนี้ น่าจะมีอายุในระดับหนึ่ง แต่ไม่ต้องกังวลครับ เพราะคุณมีผู้เขียนเป็นเพื่อนร่วมยุค)
รัฐบาลจีน พยายามแก้ไขให้การสอบ เกาเข่า เพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่มีความเหลื่อมล้ำจนเกินไป กระจายโอกาสทั้งคนที่เรียนในเมืองใหญ่ และเมืองต่างจังหวัด เขตรอบนอก เขตชนบท อย่างเช่น การให้คะแนนพิเศษสำหรับคนที่มาจากพื้นที่ห่างไกล และปรับหลายๆ อย่างให้เด็กไม่ถูกกดดันมากจนเกินไป
ในแง่ของการเรียนในชั้นเรียน จีนออกกฎระเบียบในการลดภาระการเรียน ลดการบ้าน และเพิ่มกฎระเบียบสำหรับการออกกำลังกายในหลักสูตรเรียนให้มากขึ้น โดยเรื่องการออกกำลังกาย นำไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนระดับปริญญาตรีด้วย
ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยครุศาสตร์อันชิ่ง มหาวิทยาลัยในมณฑลอันฮุยก็เคยออกกฎ “หากทดสอบความฟิตของร่ายกายไม่ผ่านเกณฑ์ จะไม่ได้รับใบปริญญา” จนเป็นกระแสไวรัล ได้รับความสนใจจากชาวจีนจำนวนมาก ในช่วงปี 2018 หลังจากนั้นก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยจีนออกกฎคล้ายๆ กัน โดยจุดประสงค์หลักต้องการให้ลดความเครียดด้านการเรียน และใส่ใจเรื่องอื่นด้วย อาทิเช่น ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ
แม้จีนเอาจริงกับเรื่องการลดความกดดันการเรียนของเด็ก แต่ดูเหมือนว่า ครอบครัวชาวจีน ยังคงสร้างแรงกดดันให้ลูกหลานในครอบครัว เพราะพวกเขายังเชื่อว่า การเรียนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เด็กจีนต้องทำ ถึงขั้นที่ “คู่รักชาวจีนจำนวนมากที่อยากหย่าขาด แต่ต้องอดทนรอจนลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัย พอลูกสอบเสร็จ ถึงพากันไปหย่าได้” เกิดขึ้นจำนวนมากทีเดียวในจีน เรียกได้ว่า เริ่มจะเป็นเรื่องปกติ ขนาดบนเว็บไซต์ Baidu Baike (百度百科) หรือที่รู้จักในนาม Wikipedia จีน มีนิยามและอธิบาย 高考离婚族 การหย่าร้างหลังสอบเกาเข่า (สอบเข้ามหาวิทยาลัย) ไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
จากการดูสถิติการหย่าร้างของคนจีน จะมีอัตราสูงอย่างมีนัยยะในช่วง 3 เดือน หลังการสอบเกาเข่าผ่านพ้นไป ซึ่งก็คือช่วงกรกฎาคมถึงกันยายนของแต่ละปี เพราะสอบเกาเข่าจะสอบประมาณต้นมิถุนายนของทุกปี หลังจากนั้นจะรู้ผลสอบปลายๆ มิถุนายน
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของลูกและการหย่าร้างของพ่อแม่เกี่ยวข้องตรงที่
"คู่สามีภรรยาหลายคู่ตัดสินใจจะหย่าร้างกันมานาน แต่ยังไม่สามารถหย่าได้ ต้องทนอยู่ด้วยกันเพื่อลูก โดยกลัวว่าการหย่าร้างจะมีผลกระทบต่อการเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นความหวังยิ่งใหญ่ของทั้งตัวเด็กและพ่อแม่"
พอลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วก็ถือว่าหมดห่วง ประกอบกับส่วนใหญ่แล้ววัยที่เข้ามหาวิทยาลัยก็คือ อายุ 18 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น ลูกก็เป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะพอแล้ว พ่อแม่/คู่สามีภรรยาที่ตั้งใจจะหย่ากันมานาน จึงไม่มีรีรอที่จะทำอย่างที่ตั้งใจมานาน
ความกังวลและความกดดันในครอบครัวที่มีลูกหลาน ไม่ใช่มีแค่เฉพาะเรื่องเรียนเท่านั้น เรื่องการเล่นเกมและการเข้าถึงสื่อออนไลน์ในระยะเวลาที่มากเกินไปในแต่ละวันก็เป็นประเด็นความกังวล และเริ่มสร้างความกดดันอย่างมากในครอบครัวจีนอีกด้วย
การใช้ยาแรงของ รัฐบาลจีน
จากเหตุผลต่างๆ ที่เล่ามาข้างต้น ตั้งแต่เข้าสู่กลางปี 2564 ทางรัฐบาลจีนจึงใช้ “ยาแรง” หลายขนานมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นทั้งการควบคุมจัดระเบียบสถาบันกวดวิชา การจำกัดการเข้าถึงสื่อออนไลน์ของเยาวชนจีน และล่าสุด การร่างกฎหมายส่งเสริมการศึกษาในครอบครัว
โดยเมื่อ 23 ตุลาคม 2564 นิติบัญญัติจีนเห็นชอบและให้ร่างกฎหมายส่งเสริมการศึกษาในครอบครัวฉบับนี้ผ่านแล้ว ดังนั้นอีกไม่นานคงได้เห็นกฎหมายนี้บังคับใช้ ตัวกฎหมายนี้ส่งผลไปที่การกระทำของพ่อแม่ผู้ปกครองโดยตรง โดยระบุว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจัดสรรเวลาสำหรับการเรียนของลูก-เยาวชนจีนภายใต้การดูแลให้เหมาะสม ไม่ให้เรียนและมีความกดดันที่มากเกินไป และต้องดูแลพฤติกรรมของเยาวชนจีนไม่ให้มีพฤติกรรมเสพติดโลกออนไลน์มากเกินไปเช่นกัน
ตามที่จีนได้ออกระเบียบจำกัดระยะเวลาการเข้าถึงเกมออนไลน์และสื่อโซเชียล เช่น TikTok ซึ่งการกำกับดูแลพฤติกรรมรวมไปถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม และผิดกฎหมาย หากเยาวชนในความดูแลทำผิดขึ้นมา จะถือเป็นความผิดของพ่อแม่ผู้ปกครอง นอกจากนี้ กฎหมายนี้ ยังระบุรายละเอียดข้อกฎหมายปกป้องผู้เยาว์จากการล่วงละเมิดทางร่างกายและรูปแบบอื่นๆ ภายในครอบครัวด้วย
อย่างไรก็ตาม ยาแรงที่จีนใช้ จะมีผลออกมาเช่นไร จะแค่บรรเทาอาการชั่วครั้งชั่วคราว หรือรักษาได้อย่างหายขาด หรือไม่แน่ว่าอาจดื้อยา ไม่ได้ผลก็เป็นได้ เป็นเรื่องที่ "อ้ายจง" คิดว่ายังคงต้องติดตามกันต่อไป
ผู้เขียน : ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่