บริษัทเกาะ Offshore Company | พิเศษ เสตเสถียร
สร้างความฮือฮาให้กับการเปิดโปงครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการเปิดเผยเอกสารที่เรียกว่า Pandora Papers ของกลุ่มนักข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) กับการไปตั้งบริษัทที่ตามเกาะต่างๆ มีฐานะเป็นบริษัทนอกประเทศ Offshore Company
Pandora Papers เปิดโปงเรื่องที่มีผู้นำระดับชาติ นักธุรกิจ และคนดัง ๆ ทั่วโลกที่หลบเลี่ยงไม่ให้ถูกเก็บภาษีจากทรัพย์สินของตน วิธีการเลี่ยงภาษีหลักที่ถูกเปิดโปงก็คือ การไปตั้งบริษัทที่ตามเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะเบอร์มิวด้า เกาะเคย์แมน หรือเกาะบริติชเวอร์จิน (British Virgin Islands) แล้วใช้บริษัทเหล่านี้ไปซื้อทรัพย์สินไม่ต้องใส่ชื่อของคนซื้อตัวจริง และก็จะไม่ต้องเสียภาษีเพราะมีฐานะเป็นบริษัทนอกประเทศ Offshore Company
อันที่จริงการตั้งบริษัทตามเกาะต่าง ๆ เหล่านี้มีมานับสิบปีแล้ว ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด ใครเคยดูหนังเรื่อง The Firm ในหนังเรื่องดังกล่าวก็มีการกล่าวถึงพวกมาเฟียที่นำเงินไปฝากธนาคารในหมู่เกาะเคย์แมน ในโลกนี้ยังมีประเทศอีกมากมายหลายประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกาะจะมีกฎหมายอนุญาตให้มีการจัดตั้งบริษัทนอกดินแดนหรือ Offshore Company ได้เช่น เกาะมาร์แชล (Marshall Island) เกาะเบอร์มิวดา (Bermuda Island) หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียก็มีเกาะลาบวน (La Buan Island) ตอนหลังก็มีเกาะลังกาวี(Langkawi) และประเทศสิงคโปร์ด้วยความที่เป็นเกาะก็เลยเอาประเทศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษให้นักลงทุนไปจัดตั้งบริษัท Offshore ได้เช่นกัน
อันบรรดาประเทศที่มีเกาะเหล่านี้เขาหารายได้เข้าประเทศด้วยการรับจดทะเบียนบริษัทเกาะ และก็ตัดปัญหาเรื่องยุ่งยากที่เกิดแก่ประเทศเขาด้วยการกำหนดห้ามว่า บริษัทเกาะที่ไปจดทะเบียนที่เขาห้ามมาประกอบกิจการในประเทศของเขาแต่จะไปทำอะไรที่ไหนในโลกนี้ก็เชิญเลย แถมยังยกเว้นให้อีกว่าบริษัทเกาะเหล่านี้ไม่ต้องมาส่งงบหรือยื่นบัญชีแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ที่สำคัญก็คือ ไม่ต้องมาเสียภาษีด้วย แบบนี้คนก็ต้องชอบแน่นอน เพราะได้บริษัทที่ไม่ต้องมีภาระใด ๆ (ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่ออายุบริษัทเป็นรายปีนิดหน่อย) ไม่ต้องเสียภาษี ไม่มีคนมาตรวจสอบ ส่วนประเทศเจ้าของเกาะก็จะมีรายได้จากการจดทะเบียนและการต่ออายุมีแต่รายรับ แต่ไม่ต้องรับผิดชอบ
บริษัทไทยไปจดทะเบียนบริษัทย่อยที่เกาะเหล่านี้ก็มียกตัวอย่างเช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) มีบริษัทย่อยอยู่เกาะเคย์แมนนับสิบบริษัท การที่ ปตท.สผ. มีบริษัทย่อยอยู่เกาะเคย์แมนไม่ได้แปลว่า ปตท.สผ. กำลังทำผิดกฎหมายหรืองุบงิบอะไรอยู่ทั้งสิ้น บริษัทเหล่านี้ใช้ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับต่างประเทศ เช่น ไปลงทุน ไปถือหุ้น หรือไปออกหุ้นกู้ที่กำหนดมูลค่าที่ตราไว้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ฯลฯ
เพราะการใช้บริษัทเกาะเหล่านี้มีความคล่องตัวกว่า ซึ่งบริษัทก็ได้เปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีทุกปี บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ไปจดทะเบียนบริษัทเกาะไว้เพื่อทำธุรกิจก็มีอีกหลายบริษัท
แต่พวกที่ใช้บริษัทเกาะเพื่อหลบเลี่ยงภาษีก็มีอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8763/2555 โจทก์ขายหุ้นบริษัท อ. ให้แก่บริษัทในเครือ หุ้นของบริษัท อ. ที่โจทก์ขายยังอยู่ในกลุ่มบริษัทของโจทก์ตามเดิม มิใช่เป็นการขายให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อข้อมูลและวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงของราคาหุ้นไม่น่าเชื่อถือ การขายหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นที่ดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จินให้แก่บริษัทในเครือในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาตามมูลค่าทางบัญชีประเมินภาษีแก่โจทก์จึงมีเหตุผลอันสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560 โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนที่ประเทศบริติชเวอร์จิน จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุนซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียนถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดินซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้บริษัทเกาะในทำธุรกิจเช่น ออกหุ้นกู้ในต่างประเทศแล้วเกิดมีข้อพิพาทกับผู้ถือหุ้นกู้เกิดฟ้องร้องเป็นคดีกันเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15979/2557 บริษัทไทยใช้บริษัทเคย์แมนในการออกตราสารหนี้ และมีการตั้งทรัสตี ซึ่งตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ในส่วนข้อกำหนดและเงื่อนไขของตราสารหนี้ ข้อ 14 อายุความกำหนดว่า สิทธิเรียกร้องเงินต้น พรีเมียมและดอกเบี้ยจะขาดอายุความถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา 10 ปี สำหรับเงินต้นหรือพรีเมียม หรือ 5 ปี สำหรับดอกเบี้ยตามลำดับ นับแต่วันที่เกี่ยวข้องตามที่ให้คำจำกัดความไว้ในข้อ 12 (c) และข้อ 12 (c) (i) ระบุว่า วันที่เกี่ยวข้องหมายถึงวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ถือตราสารหนี้ก่อนโจทก์ใช้สิทธิไถ่ถอนตราสารหนี้แล้ว วันดังกล่าวจึงเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ อายุความจึงเริ่มนับแต่ดังกล่าวอันเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้และอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ไม่ใช่นับแต่วันที่ทรัสตีบอกกล่าวให้ บ. และจำเลยชำระเงินตามตราสารหนี้
การเปิดเผย Pandora Papers คงไม่ได้ทำให้เกาะต่าง ๆ ที่รับจดทะเบียนบริษัท Offshore Company เหล่านี้ยุติการรับจดทะเบียนลงได้ เพราะเขาถือว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไรอยู่ที่ว่าคนที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นมาต่างหากที่เอาบริษัทเหล่านี้ไปกระทำการที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย.