เมตาเวอร์ส จะเป็นดิสรัปชันได้จริงหรือ
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้เปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊คเป็น เมตา (Meta) และประกาศวิชั่นเข้าสู่โลกของเมตาเวอร์ส (Metaverse) อย่างเต็มตัวโดยอาศัยเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) และความเป็นจริงเสริม (AR) เพื่อพัฒนาเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Network) แบบโลกเสมือนจริง
ความแตกต่างที่สำคัญจาก Social Network ในยุคปัจจุบันคือการอาศัยเทคโนโลยี VR และ AR ในการสร้างประสบการณ์ของโลกเสมือนจริงและเครื่องมือที่สำคัญที่สุดก็คือแว่น VR และ AR ซึ่งก่อนหน้านี้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้เข้าซื้อกิจการโอคูลัส (Oculus) ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีของแว่น VR และสินค้ารุ่นปัจจุบันก็คือโอคูลัสเควสต์ 2 (Oculus Quest 2)
ถึงแม้เมตาเวอร์สจะเป็นวิชั่นอันยิ่งใหญ่แต่สำหรับผู้ที่เคยใช้แว่นVRในรุ่นปัจจุบันย่อมต้องทราบถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่จำเป็นจะต้องก้าวข้ามหากเมตาเวอร์สจะประสบผลสำเร็จอย่างกว้างไกล อาทิเช่น
ข้อจำกัดของแว่นVR
แว่น VR ยังคงมีความชัดของจอภาพและอัตราการรีเฟรชที่ห่างไกลกับที่ระบบประสาทของมนุษย์อาจมีความคาดหวังเพื่อที่จะมีประสบการณ์ที่ดีและสามารถสวมใส่แว่น VR ได้เป็นเวลานานก่อนที่จะเกิดอาการปวดตาหรือวิงเวียนศรีษะซึ่งแตกต่างกับจอภาพของคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนที่มนุษย์จะสามารถใช้งานได้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
นอกจากนี้แว่น VR ยังคงมีน้ำหนักที่ไม่เหมาะสมกับการสวมใส่เป็นเวลานานและมีการใช้งานแบตเตอรี่ยังคงมีข้อจำกัดของเวลา
ข้อจำกัดของการควบคุม
คอนโทรลเลอร์ของ VR ในปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อการเล่นเกมส์และยังคงห่างไกลจากความสามารถที่จะควบคุมได้ทุกอย่างหรือแม้กระทั่งการทดแทนอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างเช่นเมาส์และคียบอร์ดและไม่ต้องคิดถึงการที่จะสามารถทดแทนระบบสัมผัสหน้าจอแบบสมาร์ทโฟนหรือแทบเบล็ต
อีกประการหนึ่งคอนโทรลเลอร์ในยุคปัจจุบันยังไม่สามารถจำลองการเดินหรือการเคลื่อนที่ไปมาอย่างเป็นธรรมชาติและสามารถนำไปสู่การเวียนศรีษะที่อาจรุนแรงมากกว่าการเมารถเมาเรือเมื่อประสาทหลังหูที่มีหน้าที่ในการทรงตัวเกิดการสับสน
แต่หากการใช้งานของ Metaverse จะเป็นการยืนอยู่กับที่หรือนั่งอยู่กับที่ก็จะไม่พบกับปัญหานี้แต่เมื่อต้องลุกขึ้นเดินหรือเคลื่อนที่ก็จะได้รู้ซึ้งถึงการเวียนศรีษะที่ไม่ได้อยู่ในการโฆษณา
ที่กล่าวมา คือ ประสบการณ์จริงของการใช้งานเทคโนโลยี VR ในยุคปัจจุบันจึงต้องคอยติดตามดูถึงความสามารถของ Meta ในการก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ด้วยการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาซึ่งไม่มีอะไรที่จะเป็นไปไม่ได้เพราะ Meta ก็เป็นผู้ที่เพรียบพร้อมไปด้วยทรัพยากร
ความสำเร็จของวิชั่นอันใหญ่ใหญ่อย่างเช่น Metaverse จึงอยู่ที่การดำเนินการ (Execution) ซึ่งก็มีปัจจัยอีกหลายอย่างนอกเหนือจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีและ Meta ก็ไม่ใช่รายแลกที่ริเริ่มที่เริ่มค้นคว้าในวิชั่นนี้เพราะก่อนหน้านี้กูเกิลก็ยังเคยทดลองกูเกิลกลาสก่อนที่จะได้ยกเลิกไปและเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในปัจจุบันก็ได้ผ่านการ Execution มาหลายครั้งก่อนที่จะมาสู่ยุคของไอโฟนได้ทำได้เกิดการดิสรัปชั่นอย่างแท้จริง
สรุปคือ Metaverse คงต้องมาอย่างแน่นอนแต่ต้องรอดูว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการ Execution ได้จนประสบความสำเร็จ