เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 จุดเริ่มต้นฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจ

เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564  จุดเริ่มต้นฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจ

มีผู้คนมากมายวนวียนมาถามไถ่ขอความเห็นจากผม ทั้งจาก FC ลูกศิษย์ ผู้ประกอบการและเพื่อนฝูงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า... เห็นด้วยกับการเปิดเมือง-เปิดประเทศ-ลดข้อจำกัดในการทำกิจกรรมที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ในวันจันทร์ที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมานี้หรือเปล่า?

“คำตอบที่ให้ได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ว่า เห็นด้วยครับ”

ในช่วงปลายปีเป็นไฮซีซันของการท่องเที่ยวและการจับจ่าย การเปิดประเทศครั้งนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 3 แสนคน พร้อม ๆ กับนักท่องเที่ยวคนไทยที่โหยหากับการท่องเที่ยวภายในประเทศกว่า 2-3 ล้านคน แม้ว่าจะไม่สามารถชดเชยนักท่องเที่ยวที่หายไปกว่า 38 ล้านคนได้ แต่การเปิดประเทศครั้งนี้ ต้องนับเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจที่สำคัญ

โจทย์ใหญ่ของการเปิดประเทศครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการเยียวยา แต่ต้องมุ่งสู่การฟื้นฟูประเทศพร้อม ๆ กับมาตรการสาธารณสุขที่ต้องควบคุมสูงสุดที่ไม่สามารถปล่อยให้มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นได้อีก

“7 S Recovery” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยเร่งด่วน

นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจควรดำเนินการอย่างไร หลายสถาบันก็มีข้อเสนอหลากหลาย แต่แนวทาง “7 S Recovery เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยเร่งด่วน” ที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยนำเสนอต่อภาครัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นแนวทางที่ครอบคลุมตั้งแต่การเยียวยาไปจนถึงการฟื้นฟู และลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศสู่ฐานราก

“7 S Recovery” ได้กำหนดแผนไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างเป็นแบบแผนที่ดำเนินการได้จริง เริ่มจากการฟื้นฟูเร่งด่วน 3 แนวทางระยะสั้น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน พยุงการจ้างงาน สร้างความเข้มแข็งให้ SME ต่อด้วย การฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะกลาง ระยะยาว 4 แนวทาง เริ่มจากการเร่งเครื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การประกอบธุรกิจง่ายและสะดวกมากขึ้น เร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน ปิดท้ายด้วยแนวทางสร้างมาตรการสาธารณสุขที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ผู้เขียนขออนุญาตคัดลอก แนวทาง “7 S Recovery” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยเร่งด่วน ที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้นำเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้

1.Stimulus Consumption ประเทศไทยต้องการการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระบบไม่ใช่แค่เยียวยา ต้องเป็นการฟื้นฟูให้ลุกขึ้นมาเดินหน้าธุรกิจ ก้าวแรกจึงเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว ตรงเป้า มีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้คนไทย เที่ยวไทย ใช้ของไทย เพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ นำ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้โดยเพิ่มวงเงินเป็น 2 แสนบาท จากเดือน ธ.ค.ข้ามปีจนถึง ก.พ. รัฐบาลต้องมีนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าอินเตอร์เน็ต เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่ง S แรก จะสร้างเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากนี้จนถึงเดือน มิ.ย.2565 ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของ GDP

2.Support Employment การแพร่ระบาดของโควิดกระทบการจ้างงานโดยเฉพาะภาคการค้าและบริการที่มีการจ้างงานกว่า 11.2 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานกลุ่มนี้จะมีคนว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน (ผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) กว่า 3.2 ล้านคน ภาครัฐต้องมีมาตรการรักษาการจ้างงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง ทดลองใช้การจ้างงานแบบรายชั่วโมงให้สอดคล้องการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน  มีมาตรการ Upskill Reskill และ New Skill แก่แรงงานเพื่อให้ทักษะตรงตามความต้องการ ส่งเสริมการเรียนรู้ทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

3.Strengthen SME ข้อมูล สสว. SME ทั่วประเทศมี 3.07 ล้านราย ซึ่ง 44.58% อยู่ในภาคการค้าปลีก 35.73% อยู่ในภาคบริการ อาหาร และเครื่องดื่ม รัฐต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อพยุง SME ให้อยู่รอด ควรมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ให้ SME ที่ได้รับผลกระทบหนัก เพื่อให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว รักษาระดับการจ้างงาน และเศรษฐกิจไทยกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง

4.Speed Up Digital Economy รัฐบาลต้องลดกฎระเบียบและพัฒนาระบบ Cloud Computing, AI และ Data Center ให้พร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นหัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐและเอกชนต้องร่วมกันสร้างวงจรบวกในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์ เพราะทักษะดิจิทัลสำคัญที่สุดในขณะนี้

5.Simplify Regulation ปรับกฎหมายและระเบียบที่ช่วยให้การประกอบธุรกิจง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้โดยตรงและลดค่าเสียโอกาสของธุรกิจได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.8% ของจีดีพี การแก้ไขกระบวนการดังกล่าวเป็นการฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

6.Sustainable Public Health ระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและละเลยไม่ได้ ด้วยการควบคุม ระมัดระวัง การแพร่ระบาดของโควิดอย่างใกล้ชิด แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีและตรงจุด อาทิ หากเปิดประเทศแล้วมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขอให้พิจารณาล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่่นั้นไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างเคร่งครัด รัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดส อย่างน้อย 70% ของประชาชนไทยเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือเร่งฉีดให้ครบโดสในพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ ประชาชนการ์ดไม่ตก และเคร่งครัดมาตรฐานด้านสุขอนามัยแบบ Universal Prevention

7.Spike Up Private Investment ภาครัฐสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อเกิดการผลิตและการจ้างงานเพิ่มขึ้น ช่วยให้การบริโภคของประชาชนขยายตัวได้ทันทีและนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน