APEC 2022 : เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ไทยได้เข้าร่วมและมีบทบาทในการประชุมในกรอบเอเปค ซึ่งจบด้วยการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
ปีนี้ นิวซีแลนด์ ในฐานะเจ้าภาพมีหัวข้อหลักคือ “ร่วมกัน ทำงาน เติบโต ไปด้วยกัน (Join, Work, Grow. Together.)” และตลอดปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ได้เน้นการมีส่วนร่วมของสังคมในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย
ในช่วงที่เป็นเจ้าภาพปีนี้ได้นำการหารือในกรอบต่างๆ เช่นผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และการจ้างงานต่อชุมชนพื้นเมือง การสร้างหุ้นส่วนและส่งเสริมบทบาทด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เป็นต้น
ต้นสัปดาห์ เริ่มด้วยการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 32 ซึ่งได้ย้ำถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 และความจำเป็นต้องดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยการเสริมสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่เสรีและเปิดกว้าง รวมทั้งการยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบ และการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
โดยเฉพาะการผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกหรือ FTAAP ภายใต้บริบทที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP กำลังมีพัฒนาการเชิงบวกในปัจจุบัน ตลอดจน ความคาดหวังให้การประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
เมื่อคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ไทยได้รับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพกรอบการประชุมเอเปค โดยในช่วง Handover Moment ผ่านระบบออนไลน์
นายกรัฐมนตรี Jacinda Ardern แห่งนิวซีแลนด์ ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นที่ไทยจะขับเคลื่อนเอเปคได้ด้วยพลัง ความคิดริเริ่ม และภูมิปัญญา และได้มอบไม้พาย Waka Paddle ให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมโยงอันยาวนานของชนพื้นเมืองเผ่าเมารีของนิวซีแลนด์ ที่ร่วมมือกันอย่างสามัคคี ในการสร้าง “เรือวากะ” หรือเรือแคนู เช่นเดียวกับการบรรลุเป้าหมายของความเจริญรุ่งเรืองในเอเปคและการร่วมมือกันพายเรือ
เรือลำที่ชื่อว่าเอเปค นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับมอบเสื้อคลุมลาย Korowai และหยกห้อยคอเป็นรูปใบเฟิร์นอ่อน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเกิด เจริญเติบโต และการชุบตัว ของชาวเมารี
จากนี้ไป ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปคถึงพฤศจิกายน 2565 โดยหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปีของไทยคือ “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
บทบาทของประเทศไทยในปีที่เป็นเจ้าภาพ นอกจากการจัดการประชุมตลอดปี ทั้งระดับผู้นำ รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ และภาคเอกชน จะเน้นประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างกันและการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน โดยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ไทยจะต้องขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ เพื่อสานต่อการทำงานของเอเปค และส่งเสริมประเด็นที่ไทยได้ประโยชน์
ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญคือ ขับเคลื่อนให้เอเปคพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิดที่ยั่งยืนและสมดุล และทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านแนวคิด BCG ไทยจะมุ่งผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ
1.การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
2.การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค
3.การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยวเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19
กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชนและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยได้เตรียมการสำหรับการเป็นเจ้าภาพของไทยก่อนที่จะรับมอบหน้าที่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ทั้งในด้านประเด็นสาระความร่วมมือ การประชาสัมพันธ์ พิธีการ โลจิสติกส์
มีการจัดกิจกรรมระดมสมองกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันพัฒนาหัวข้อหลัก ประเด็นสำคัญ และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ของเอเปคในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสอดคล้องกับบริบทโลกและเป็นผลประโยชน์ของไทย และต่อยอดการดำเนินการของมาเลเซีย ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2563 และนิวซีแลนด์ เพื่อให้เอเปคมุ่งไปสู่การเจริญเติบโตอย่างสมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม
สำหรับด้านพิธีการและอำนวยการ มีการพิจารณาสถานที่จัดที่เหมาะสม ทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรูปแบบการประชุมอย่างเหมาะสม คุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเตรียมแนวทางมาตรการด้านสาธารณสุขและการเดินทางเข้าประเทศอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
การประชุมจะมุ่งจัดการประชุมแบบ physical แทนแบบ virtual ให้มากที่สุดตลอดวาระการเป็นเจ้าภาพ
การประชุมครั้งแรกที่ไทยจะจัดหลังจากการรับมอบการเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการจากนิวซีแลนด์คือการประชุม APEC Symposium on 2022 Priorities และการประชุมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ISOM ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นการจัดการประชุมระหว่างประเทศหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-10 และโอกาสอันดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติในมาตรการสาธารณสุขและรูปแบบการจัดการประชุมของไทย
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากเอเปค และประเด็นสำคัญของ APEC2022 Thailand คืออะไร และมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2022 อย่างไร ?
ในภาพใหญ่ ไทยได้ประโยชน์จากการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และได้ร่วมผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ในระดับปฏิบัติการ ไทยได้เรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีและแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกเอเปค
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยได้จัดโครงการ กิจกรรมระดมสมอง การประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้เอเปคกว่า 50 โครงการ ครอบคลุมประเด็นด้านการศึกษา สาธารณสุข MSMEs ป่าไม้ พลังงาน ดิจิทัล เกษตร ฯลฯ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ได้ถูกแปรเป็นนโยบายการพัฒนาของไทยในที่สุด เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชน
รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นกับการทำให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทย“ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม” (Inform-Inspire-Integrate-Involve) ตามยุทธศาสตร์ การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ให้เป็นเพียงเฉพาะการทำงาน หรือการดำเนินการของภาครัฐ
กระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ที่ตรงกับผู้รับสารที่เป็นเป้าหมายแต่ละกลุ่มและให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนในสังคมไทย ทั้ง (1) ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคเกษตร โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs และ start-ups (2) ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (3) นักเรียน นิสิตนักศึกษา เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และ (4) สาธารณชน ภาคประชาสังคม และประชาชนไทย
การประชุมเอเปค เน้นการประชาสัมพันธ์ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการประชุม และได้มุ่งสร้างความเข้าใจพื้นฐานแก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของเอเปค รวมทั้งจัดการเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus Group เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทย เพื่อให้สื่อมวลชนในฐานะ “สะพานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับประชาชน” ช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในวงกว้างมากขึ้นและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่กระทรวงการต่างประเทศต้องการสื่อสารกับสาธารณชน
รวมทั้งในส่วนสารัตถะของการประชุมเอเปค และหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับภาคสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวทางการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยให้ประชาชนไทยรับรู้ ภูมิใจ ใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพไปพร้อมกัน
ตลอดปีนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในการสื่อสารและสร้างการรับรู้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และเชิญชวนบริษัทเอกชนจากหลากหลายแขนงกว่า 30 บริษัท ร่วมเป็นพันธมิตรในการประชาสัมพันธ์ (APEC2022THAILAND Communication Partners) เช่นกัน โดยสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เผยแพร่ภาพสัญลักษณ์เอเปคผ่านสื่อต่าง ๆ ของบริษัท ร่วมจัดทำเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้อง การจัดทำโปรโมชั่นบริการและสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมประชุม และยังเป็นโอกาสแสดงศักยภาพสินค้า บริการและธุรกิจของไทยด้วย
ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทยกับแรงบันดาลใจสู่ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปค
สีสันของการเป็นเจ้าภาพของไทยคือ การประกวดตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรและคณาจารย์ชั้นนำ จัดการประกวดการออกแบบ สำหรับเยาวชนไทยอายุไม่เกิน 25 ปี โดยผู้ชนะเลิศ คือ ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง หรือ “น้องวิว” เจ้าของผลงานตราสัญลักษณ์ “ชะลอม” ซึ่งเป็นเครื่องจักสานของไทย ใช้เป็นภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ และเป็นสิ่งของสัญลักษณ์การค้าขายและการให้ของไทยมาแต่โบราณ เส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น เหนียวแน่นและคงทน โอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาคให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค
ชะลอมสื่อหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปีของไทย ได้แก่ Open – ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง Connect - ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง และ Balance – ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึงการเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึงการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียวสื่อถึงความสมดุล ชวนนท์ฯ ได้บอกเล่าถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยสอดแทรกความเป็นไทยให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย
ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ที่ดี พร้อมแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถเป็นเจ้าภาพที่ส่งผลอย่างรูปธรรมให้กรอบการทำงานเอเปคในปี 2565 ได้อย่างแน่นอน ตามแนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
ท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถติดตามข่าวสารการเป็นเจ้าภาพเอเปคจากช่องทางสื่อของกระทรวงการต่างประเทศและช่องทางของ #APEC2022THAILAND ผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter, IG และ LinkedIn