โควิดพ่นพิษ!คนทำงานวัยกลางคน เบื่องาน เบื่ออาชีพ ถึงต้องลาออกไปหาความหมาย

โควิดพ่นพิษ!คนทำงานวัยกลางคน  เบื่องาน เบื่ออาชีพ   ถึงต้องลาออกไปหาความหมาย

ช่วงเดือนสองเดือนที่มีการประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนเริ่มออกจากบ้าน และเริ่มกลับเข้ามาทำงานเป็นปกติ พรรคพวกเพื่อนฝูงคนรู้จักกันหลายต่อหลายคน ได้โทรมาถามไถ่ด้วยประโยคสั้นว่า “มีอะไรให้ทำไหม?”

ส่วนใหญ่มีคำถามพรั่งพรูมากมายให้ฟัง พอสรุปได้ว่า “เริ่มรู้สึกว่า...การกลับมาทำงานแบบเข้าออฟฟิศอีกครั้งนี้ ไม่เหมือนเดิม”

เกิดคำถามและมุมมองต่องานที่กำลังทำอยู่ว่า เรายังเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรช่วงเปลี่ยนผ่านโควิดอยู่ไหม? “ไม่แน่ใจว่าอาชีพในอนาคตคืออะไร” นี่คงเป็นส่วนหนึ่งของข่าวทั่วโลก ที่ระบุว่าเกิดปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ขึ้น (The Great Resignation) เมื่อผู้คนเกิดเปลี่ยนใจจากงานที่ทำอยู่ เมื่อต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง

ชีวิตและการงานที่เคยสมดุลกำลังถูกพรากไป

การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้รูปแบบการทำงานของคนเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) การทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) หรือการทำงานจากระยะไกล (Remote Working) นั่นทำให้การทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ คนเริ่มชินกับวัฒนธรรมนี้ และเริ่มมีแนวคิดว่า จริง ๆ แล้วการทำงานที่ได้ประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็ได้

ทุกคนจัดสรรเวลาในการทำงานด้วยตนเองให้ดำเนินควบคู่กันไประหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน หลายคนได้ลงทุนกับการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ หาวิธีให้ทำงานจากที่บ้านได้อย่างราบรื่น เมื่อสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ และรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ทำไมต้องกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลาเหมือนเดิมอีก 

อีกประเด็นหนึ่ง การทำงานอยู่ที่บ้านไม่ต้องเสียสุขภาพจิตที่ต้องตื่นนอนแต่เช้า และกลับบ้านดึกดื่นเพื่อหลักเลี่ยงรถติด การไม่ต้องไปออฟฟิศ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง ลดความเครียดจากรถติด ซึ่งถือเป็นเหตุผลข้อแรกที่ได้คะแนนสูงสุด

เมื่อรู้สึกพอใจกับชีวิตตรงนั้นแล้ว วันหนึ่งต้องกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศดังเดิม และนโยบายทำงานที่บ้านไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป เท่ากับว่าพวกเขาต้องโบกมือลาชีวิตที่อุตส่าห์ปรับตัวได้ด้วยความยากลำบาก ส่งผลให้พวกเขาเริ่มตัดสินใจว่า จริง ๆ แล้วที่นี่เหมาะหรือไม่เหมาะกับเรากันแน่ อะไรที่ไม่คิดว่าจะไม่เห็นก็ได้เห็น จนทำให้มุมมองของการทำงานที่มีอยู่เปลี่ยนไป บางคนเห็นแล้วว่างานที่เราเคยพากเพียรเข้าออฟฟิศทุกวันนั้น ไม่จำเป็นต้องเข้าไปนั่งให้เห็นหน้ากันทุกวันก็ได้

คนทำงานช่วงวัย 40-50 ปี ตัดสินใจลาออกไปหาความหมาย

ผู้คนที่กล่าวข้างต้นที่แวะเวียนมาพูดคุยกับผู้เขียน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 40-50 ปี เริ่มระบายถึงความเหน็ดเหนื่อย แต่เป็นความเหนื่อยล้าที่รู้สึกเหมือนกำลังจะหมดไฟ ความที่ต้องปรับตัวหลาย ๆ อย่างให้เข้ากับ new normal การเผชิญกับความโดดเดี่ยวช่วงกักตัว การขาดการติดต่อแบบ face-to-face และต้องใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารมากขึ้น ทำให้ต้องใช้พลังงานหรือการเพ่งโฟกัสที่มากขึ้นตามไปด้วย หรือแม้แต่การพยายามสร้างสรรค์งานออกมาให้ได้ท่ามกลางวิกฤติการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย พวกเขาไม่ได้รังเกียจการทำงาน พวกเขาเข้าใจดีว่า โลกหมุนไปด้วยการทำงาน เมื่อโลกเปลี่ยน การทำงานก็เปลี่ยน ความเชื่อเดิม ๆ ก็เริ่มสั่นคลอน

พวกเขาบอกว่า ถ้าพูดถึงการทำงานในโลกวันวาน โลกเก่าของการทำงานคือการไต่เต้าขึ้นไปตามเส้นทางอาชีพ เลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าเดิม ทุกคนจะพูดเรื่องการไต่ไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้น ๆ จากทำงานแรกเป็น First Jobber เป็น Junior ขยับไปสู่ Senior จนถึง Manager และไปยังระดับผู้บริหาร ศัพท์ในวงการการทำงานเรียกว่า Career ladder 

แต่ในโลกใหม่ ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว วิกฤติโควิดทำให้พวกเขาได้อยู่กับตัวเอง ได้หยุดคิด และเห็นชีวิตในมุมที่หลากหลาย พวกเขาเริ่มมองเห็นว่า ในวัย 40-50 ปีต้นๆ เป็นช่วงรอยต่อระหว่าง Analog กับ Digital งานที่พวกเขาอยากทำ เริ่มรู้สึกเลือนลางจางหาย เริ่มไม่แน่ใจว่า จุดที่ตนเองยืนอยู่ ยังเป็นงานที่พวกเขาอยากทำ เป็นงานที่สะท้อนการใช้ชีวิต และถึงที่สุด สะท้อนตัวตนของเขาด้วยหรือเปล่า??

โลกเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน คุณค่าต่องานก็เปลี่ยน

คนกลุ่มวัย 40-50 ปี ส่วนใหญ่เลือกที่จะลาออก ผมเองก็เริ่มตั้งคำถามให้พวกเขาได้ไตร่ตรอง เขาจำเป็นต้องออกจากงานเพื่อตามหาตัวเองหรือไม่?

คำตอบจากพวกเขาเหล่านั้น ก็คือ เริ่มรู้สึกอิ่มตัว ต้องการเลือกเส้นเดินทางใหม่ ทำงานมาจนถึงจุดอิ่มตัว ต้องสร้างการทำงานบทใหม่ให้กับชีวิต และลาออกเพื่อไปตามหาตัวตนใหม่ โควิดทำให้มีเวลาไปคิดถึงชีวิตแบบใหม่ ขอเปลี่ยนอาชีพใหม่ดีกว่า

ชีวิตเป็นของเรา และเราเป็นคนเลือก เมื่อเรากำลังเลือกสิ่งหนึ่งย่อมหมายถึงเรากำลังละทิ้งอีกสิ่ง ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ หลายคนบอกผมว่าแม้จะลาออกจากบริษัทเก่าที่ทำงาน มาปลูกผักเพาะถั่วงอกขาย แม้ต้องทำงานหนักกว่าเดิม แต่ก็รู้สึกว่าควบคุม (control) ชีวิตตัวเองได้ดีขึ้น

ยุคนี้มันเป็นยุคแห่ง creative class คงไม่แปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยออกจากงานบริษัท เอาความสามารถตัวเองไปรับงานฟรีแลนซ์ เข้าสู่โลกของ gig economy เต็มตัว “อาจจะหนักกว่าเดิมหน่อย แต่คุ้มค่า” เหล่านี้คือ “สายตา” ในการมองโลกของการทำงาน และการใช้ชีวิตที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว…อย่างไม่มีวันหวนกลับ

ดังนั้น ถ้าสรุปเพื่อมองภาพให้ชัด ก็จะเห็นได้ว่า หลังจากปรากฏการณ์ “The Great Resignation” หรือ “อภิมหาการลาออก” ท้ายที่สุด ผู้คนจะยังทำงาน แต่คำว่า “งาน” ได้เปลี่ยนความหมายไปแล้ว

งานที่ดีคือ งานที่สนุก ได้เงิน และมีชีวิตที่สมดุลมีความหมาย