ความต่างระหว่าง "เงินบาทดิจิทัล-ชำระเงินออนไลน์ และ พร้อมเพย์แบบเดิม"

ความต่างระหว่าง "เงินบาทดิจิทัล-ชำระเงินออนไลน์ และ พร้อมเพย์แบบเดิม"

เงินบาทดิจิทัลจะถูกนำมาใช้ชำระเงินทั่วไปแทนการใช้เงินสด หลายคนก็จะถามกลับว่า ทุกวันนี้บ้านเรามีระบบพร้อมเพย์สำหรับคนที่มีบัญชีธนาคารอยู่แล้ว ทำให้เราสามารถชำระเงินหรือโอนเงิน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

ปัจจุบัน สกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดย ธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) เริ่มได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น เช่น หยวนดิจิทัล ของจีนที่จะออกมาใช้เป็นทางการเร็วๆ นี้ รวมถึงบาทดิจิทัลที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำการทดสอบปีหน้า โดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อมั่นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย CBDC ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้จะนำมาทดแทนการใช้เงินสดรูปแบบเดิมได้จริง เพราะสกุลเงินดิจิทัลมีเสถียรภาพ (Stable Coin) ผูกกับสกุลเงินปกติ คือ หนึ่งบาทดิจิทัลจะมีค่าเท่ากับหนึ่งบาททั่วไป

แต่หากบอกว่า เงินบาทดิจิทัลจะถูกนำมาใช้ชำระเงินทั่วไปแทนการใช้เงินสด หลายคนก็จะถามกลับว่า ทุกวันนี้บ้านเรามีระบบพร้อมเพย์สำหรับคนที่มีบัญชีธนาคารอยู่แล้ว ทำให้เราสามารถชำระเงินหรือโอนเงิน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ บ้านเรายังมีระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่ใช้หลายรูปแบบ ซึ่งผู้ใช้สามารถเติมเงินไว้ล่วงหน้าเพื่อชำระค่าสินค้า ทั้งแบบบัตรเติมเงิน หรือผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) อย่าง True Wallet ซึ่งช่วยให้ลดใช้เงินสด ดังนั้นเงินบาทดิจิทัลจะต่างกับระบบเหล่านี้อย่างไร?
 

ประเด็นแรกที่ต้องเข้าใจ คือ เงินบาทดิจิทัลเป็นตัวเงินจริงไม่ใช่บัตรชำระเงิน หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่เงินนี้ไม่ได้อยู่ในรูปเงินสดหรือธนบัตรแบบเดิม แต่อยู่ในรูปของดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้ ซึ่งพอเป็นตัวเงินก็จำเป็นที่จะต้องมีที่เก็บเงิน อาจเก็บไว้ในธนาคาร หรือเก็บไว้ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัว เพื่อให้ทราบว่าเรามีเงินบาทดิจิทัลเก็บเท่าไร และกระเป๋าเงินจะมีระบบให้เรานำเงินดิจิทัลนี้ไปใช้ชำระเงิน โอนเงิน หรือรับเงินเข้ามาจากร้านค้าหรือคนอื่นๆ ได้

ดังนั้นเมื่อมีเงินบาทดิจิทัลเกิดขึ้น คงจะเห็นสถาบันการเงินและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) จำนวนมากออกกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการกับประชาชนที่ต้องเก็บเงินสกุลดิจิทัล โดยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกมาให้บริการอาจเป็นโมบายแอพ ที่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแบบออนไลน์ อาจจะเป็นแอพที่ทำงานแบบออฟไลน์ก็ได้ รวมไปถึงบัตรสมาร์ทการ์ดหรือแม้แต่จะอยู่ในรูปของอุปกรณ์ดิจิทัลอะไรก็ได้​
 

ทั้งนี้ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไม่จำเป็นต้องผูกกับบัญชีธนาคาร และยังสามารถเก็บเงินบาทดิจิทัลของเราได้เสมือนที่เราใช้กระเป๋าเงินทุกวันนี้เพื่อใส่เงินสด แต่ข้อดีกว่ากระเป๋าเงินทั่วไปอีกอย่าง คือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์จะมีระบบความปลอดภัยที่ดีกว่า ถ้ากระเป๋าเงินหายไปคนอื่น ก็ไม่สามารถนำเงินไปใช้ได้ เพราะไม่สามารถระบุตัวตนแทนเราได้

ดังนั้น เมื่อมีผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย จะไม่เกิดการผูกขาดผู้ให้บริการเพียงไม่กี่ราย ประชาชนเลือกเก็บเงินบาทดิจิทัลกับกระเป๋าเงินรายใดก็ได้ และอาจไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับสถาบันการเงินก็ใช้งานได้ หรืออาจใช้งานได้แม้กระทั่งเราอยู่ในที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ เงินบาทดิจิทัลอาจไปอยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศ เช่น AliPay ของจีน เสมือนนำธนบัตรไทยไปเก็บใส่กระเป๋าเงินส่วนตัว

ลองจินตนาการถึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่เข้ามาเมืองไทยทุกวันนี้เขาคงไม่สามารถใช้พร้อมเพย์ในการโอนเงินหรือชำระเงินได้ เนื่องจากไม่สามารถจะเปิดบัญชีธนาคารในบ้านเราได้ แต่หากมีระบบเงินดิจิทัลก็จะทำให้นักท่องเที่ยวนำเงินไปใส่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของเขาได้ และถ้าร้านค้าในประเทศ เรารับชำระเงินด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของเขาอย่าง AliPay เมื่อเขาเดินทางเข้ามาในไทยก็ไม่จำเป็นต้องแลกเงินสด แต่นำกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มาใช้จ่ายในไทยได้ทันที แทนที่ต้องใช้สกุลเงินต่างประเทศที่จะใช้ในการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เดิม หรือก็อาจมาหากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บ้านเราอีกระบบหนึ่ง ซึ่งร้านค้าบ้านเรายอมรับมากกว่าแล้วก็โอนเงินบาทดิจิทัลจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของต่างประเทศมาใส่กระเป๋าเงินใหม่นี้

ดังนั้น ระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตแทนที่ต้องผูกกับบัญชีธนาคาร หรือต้องใส่เงินเข้าบัญชีระบบเขาก่อน เราก็อาจเห็นความหลากหลายที่มากขึ้น นอกจากเป็นระบบหน้าบ้านที่ผูกเงินในบัญชีธนาคาร อาจมีเงินบาทดิจิทัลเราเก็บไว้ รวมถึงอาจใช้เก็บเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆต่างประเทศได้ เช่น อาจมีเงินหยวนดิจิทัล หรือ Stable coin อื่นที่ออกโดยหน่วยงานที่ไม่ใช่ธนาคารกลาง แล้วให้ผู้ใช้เลือกจะใช้เงินสกุลไหนในการชำระเงิน หรือจะชำระเงินผ่านเงินที่ผูกบัญชีธนาคารแบบเดิมก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับร้านค้าที่ชำระเงินและรัฐบาลประเทศนั้นว่ายินดีรับเงินสกุลใดบ้าง และยอมรับใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของเราหรือไม่

เงินสกุลดิจิทัล CBDC จะแตกต่างกับ Stable coin ที่ออกโดยหน่วยงานเอกชน ซึ่งอาจเป็นสกุลเงินที่จำกัดวงจำกัด อาจใช้ได้ในบางร้านค้าหรือคนบางกลุ่ม และแตกต่างกับเงินสกุลคริปโตต่างๆ ที่กำลังถูกมองเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะการลงทุน มากกว่านำมาใช้ชำระเงินจริง เพราะค่าของเงินเหล่านั้นอ่อนไหวมากเกินไป

แต่การนำระบบเงิน CBDC มาใช้สำหรับประชาชนทั่วไปต้องใช้เวลาทดสอบ โดยเฉพาะระบบหลังบ้านที่ต้องปลอดภัย รองรับธุรกรรมจำนวนมากที่ข้ามาใช้จริงได้ ข้อสำคัญที่สุดประชาชนคงยังห่วงความเป็นส่วนตัว เพราะระบบเงินดิจิทัลเหล่านี้ตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ว่า เงินถูกนำไปใช้ทำอะไร โอนเงินไปให้ใคร ไปซื้อสินค้าอะไร จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่มาใช้งานมั่นใจว่าจะไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้ใช้เงิน ประชาชนจึงยอมรับการใช้งานในวงกว้าง