ภาษาอังกฤษ ทักษะดิจิทัลที่ประเทศไทยขาดแคลน

ภาษาอังกฤษ ทักษะดิจิทัลที่ประเทศไทยขาดแคลน

หลังจากข่าวที่ SCBS เข้าซื้อ Bitkub ได้เกิดขึ้นไม่นานก็เกิดกระแสใหม่ของการที่ Binance จะหยุดให้บริการเป็นภาษาไทย

สิ่งที่ผู้เขียนต้องตกตะลึงคือเสียงวิพากย์วิจารย์ถึงการที่คนไทยเป็นจำนวนมากจะต้องประสบปัญหาในการใช้บริการ Binance เพราะเมนูภาษาอังกฤษอาจไม่เพียงพอในการตอบโจทย์การใช้งานของคนไทย 

ถึงแม้ดิจิทัล หรือ แม้กระทั่งโลกเสมือนจริงที่กำลังจะถูกพัฒนาขึ้นต่อไปเป็น Metaverse จะเป็นการสร้างโลกใหม่ที่ไร้พรมแดนทางกายภาพซึ่งรวมไปถึงพรมแดนระหว่างประเทศ แต่กำแพงที่ใหญ่ที่สุดที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับคนไทยก็คือ ทักษะด้านภาษาอังกฤษที่ยังคงเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงเนื้อหาและบริการในโลกดิจิทัลและในทางกลับกันก็เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเนื้อหาและบริการไปขายในต่างประเทศเช่นกัน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง (Lingua Franca) แห่งโลกดิจิทัล

ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นที่รั้งท้ายของโลกในด้านทักษะภาษาอังกฤษ

EF Proficiency Index 2020 จัดอันดับไทยเป็นอันดับที่ 89 จาก 100 ประเทศ ในโลกด้านทักษะภาษาอังกฤษ

แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้อาจเป็นเพราะว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทยและประเทศไทยมีภาษาประจำชาติเพียงภาษาเดียวการที่รู้ภาษาเดียวจึงไม่เคยเป็นข้อจำกัดสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ในโลกก่อนดิจิทัลไม่ว่าจะเพื่อการเข้าถึงเนื้อหาและบริการในประเทศหรือเพื่อพัฒนาเนื้อหาและบริการไปขายในประเทศเช่นกัน

แต่ประเทศอื่นอีกจำนวนมากของโลกมีการใช้งานมากกว่าหนึ่งภาษาหรือกระทั่งมีภาษาประจำชาติมากกว่าภาษาเดียว และในบางประเทศจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางสำหรับการสื่อสารระหว่างท้องถิ่นภายในประเทศ คนในประเทศเหล่านี้จึงคุ้นเคยกับวัฒนธรรมที่ต้องใช้หลายภาษาจึงมีความตื่นตัวและมีข้อได้เปรียบ

แม้กระทั่งในการพัฒนา Startup คนที่มาจากประเทศที่มีความหลากหลายด้านภาษาก็จะสามารถพัฒนาเนื้อหาและบริการในหลายภาษาเพื่อที่จะไปบุกตลาดในหลายประเทศพร้อมกัน ในขณะที่ Startup ของไทยจำนวนหนึ่งก็ยังคงเน้นภาษาไทยเป็นภาษาหลักและภาษาเดียวจึงเป็นข้อจำกัดของตลาดที่ธุรกิจจะสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

แม้ในวงการดิจิทัลของไทยได้มีการพูดถึงการขาดแคลนโปรแกรมเมอร์และผู้ที่มีทักษะในเชิงเทคนิคด้านดิจิทัลซึ่งก็ปรากฎชัดในตัวชี้วัดระหว่างประเทศ เช่น IMD World Digital Competitiveness 2021 ซึ่งจัดอันดับด้าน Knowledge ของประเทศไทยอยู่ที่ 42 จาก 64 ประเทศของโลก โดยแบ่งเป็น Talent ที่ 39, Training and Education ที่ 56 และ Scientific Concentration ที่ 36 โดยประเทศไทยยังคงตามหลังอีกหลายประเทศในโลกซึ่งรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN อีกด้วย

อย่างไรก็ดี การขาดแคลนโปรแกรมเมอร์อาจเป็นปัญหาที่เล็กกว่าการขาดแคลนทักษะด้านภาษาอังกฤษเมื่อดูจากตัวชี้วัดระหว่างประเทศและเป็นปัญหาที่กว้างไกลกว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะสำหรับประเทศที่การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลัก จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่าทักษะภาษาอังกฤษจะไม่ได้ถูกพัฒนาถึงเพียงนี้

และยังเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อเมื่อได้ทราบว่าโปรแกรมเมอร์ของไทยที่ทักษะด้านเทคนิคพร้อมแต่กลับไม่สามารถสอบ Certificate ระดับสากลได้ผ่านเพราะข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก