Squid game อำนาจกับการแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียม
ซีรี่ย์ Squid Game จากเกาหลี สร้างปรากฏการณ์เป็นกระแสไวรัลอย่างมาก ความนิยมดูได้จากการที่คำพูดตัวละครและฉากต่างๆ ถูกเอาไปทำเป็นมีมในโซเชียลมีเดีย มีการสร้างเกมจากซีรี่ย์นี้ รวมถึงการแต่งตัวหรือหาเสื้อผ้าที่เหมือนกับเจ้าหน้าที่ในเกมด้วย
(คำเตือน: มีสปอยล์เนื้อหาบางส่วนและตอนจบ) สื่อและเพจต่างๆก็หยิบเรื่องราวมาเขียนอย่างหลายแง่มุม เช่น บทความในมติชน และ The MATTER ที่มองการแข่งขันในโลกของ Squid Game เปรียบดังการแข่งขันในระบบทุนนิยมที่ผู้คนมีความไม่เท่าเทียม และต่างตะเกียกตะกายเพื่อเอาตัวรอด
แต่ที่ผมสะดุดตาและใช้เวลาคิดกับมันสักพักหนึ่งหลังจากอ่าน คือ บทความ “ชวนคุย Squid Game ในมุมมองเศรษฐศาสตร์” จากเพจเฟซบุ๊ค On-Chain Investor ที่นักศึกษาคนหนึ่งได้แชร์มา การที่ติดใจตรงนี้ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูกนะครับ แต่ผมมองว่าผู้เขียนสามารถ conceptualize ปรากฏการณ์ในซีรี่ย์ด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์ได้น่าสนใจและครอบคลุม จนคิดว่าอยากให้ลูกศิษย์ของเราทำได้แบบนี้หลายๆคน พอคิดได้แบบนี้ผมเลยอยากเอาการตีความดังกล่าวมาเล่าให้ฟัง และแน่นอนว่าไม่ใช่เล่าเฉยๆ ผมจะขออนุญาตเติมมุมมองและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วย
ประเด็นแรก Squid Game เกิดขึ้นด้วยกลไกอุปสงค์-อุปทาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ความต้องการ” ของคนสองฝั่งมาเจอกันพอดี
On-Chain Investor เสนอว่า Squid Game เกิดจากความต้องการของคนสองฝั่งมาเจอกันพอดี โดยคนที่รวย ก็รวยจนเบื่อ หาความตื่นเต้นในชีวิตไม่มี ส่วนคนจนกลับกันคือวันๆต้องดิ้นรนเพื่อให้มีข้าวกิน ทั้งสองฝั่งต่างเบื่อหน่าย จึงเกิดเป็น transaction ในการ “แลกเปลี่ยน” ระหว่างสองฝ่าย โดยคนรวยได้ “ความสนุก” แต่ต้อง “จ่ายเงิน” ในขณะที่คนจน ถ้าอยู่ในกรณีที่แพ้คือต้อง “จ่ายด้วยชีวิต” และไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าชนะขึ้นมาก็จะได้รับเงินมหาศาลเป็นการตอบแทน ตรงนี้ในเพจก็ออกตัวไว้อยู่ว่าการเทียบความเบื่อระหว่างคนจนและคนรวยอาจไม่เข้าท่าเท่าไหร่ แต่ก็มาจากบทพูดของลุงหมายเลขหนึ่งจริงๆ
มุมมองเรื่องการจับคู่ความต้องการค่อนข้างน่าสนใจ แต่สิ่งที่ผมอยากเพิ่มเติมคือ มุมมองนี้สะท้อน โลกทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปที่มักมองเศรษฐกิจเป็นเรื่องของ “การแลกเปลี่ยน” ที่เท่าเทียม ก่อนมิติ “อำนาจ” ที่ไหลเวียนอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
อย่าลืมว่าเงื่อนไขการเกณฑ์คนเข้ามาในเกมนี้คือ การชักชวนเชิงถูกล่อลวงและบังคับด้วยจิตวิทยา และเมื่อเข้ามาในเกมแล้วก็ไม่ปรากฏสถานการณ์แลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมแต่อย่างใด (จะเท่ากันได้คือคนรวยก็ต้องเอาชีวิตจ่ายเหมือนกัน) กลับกันผู้แข่งขันถูกใช้อำนาจแบบควบคุม (ให้ทำตามกฎ) และ พึ่งพา (ต้องรอรับทรัพยากรและคำสั่งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่) ซึ่งเกิดจากความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้เล่นและเจ้าหน้าที่
โดยองค์กรผู้จัดเกมก็เปรียบเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่ที่ครอบครองทรัพยากรมหาศาล (ทั้งเงิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนเกาะ กำลังคน ฯลฯ) จนสามารถสร้าง “ระบบนิเวศ" (eco-system) ที่ตนเองเป็น “ศูนย์กลาง” ใช้อำนาจควบคุมได้ รวมถึงใช้อำนาจจากหน่วยข่าวกรองเพื่อปั่นป่วน (manipulate) จิตใจให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกมด้วย
ประเด็นที่สอง Squid Game คือการแย่งชิงทรัพยากรที่มีจำกัด เหมือนในโลกเศรษฐกิจจริง
On-Chain Investor ไม่ได้ละเลยประเด็นอำนาจในไปทั้งหมด เพราะวิเคราะห์ว่า ผู้เล่นเกมทุกคนไม่ได้เริ่มจากศูนย์เหมือนกันหมด อำนาจที่ไม่สมมาตรเกิดขึ้นได้จากทั้งความเชื่อใจอีกฝ่ายที่มากเกินไป ความแข็งแกร่งทางกายภาพ การมีเส้นสายกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ และในส่วนของผู้ควบคุมเกมก็รวมศูนย์อำนาจ (centralize) แบบสุดๆ จนทำให้เกิดผลลัพธ์ไม่เป็นธรรม เช่น ลุงเบอร์หนึ่งไม่ตายแม้แพ้เกม หรือ หมอที่ฮั้วกับเจ้าหน้าที่ทำให้รู้ลักษณะเกมก่อนที่จะเล่น ซึ่งการแย่งชิงทรัพยากร (เงิน) ในเกมเป็นไปตามความไม่เท่าเทียมนี้
ผมกลับมองอีกมุมว่า มันมีแต่ฝั่ง “คนจน” หรือ “ผู้ร่วมแข่งขัน” เท่านั้นที่พยายามแย่งชิงทรัพยากรกัน แต่เบื้องหลังการแย่งชิงนี้คือคนรวยใช้เกมเป็นตัวดึงดูด “เงิน” และ “ความสำราญ” อีกทอดหนึ่ง ดูได้จากการที่มีผู้มาชมการแข่งขันแบบสดๆและลงเดิมพัน หรือพูดง่ายๆคือ “ขูดรีด” ประโยชน์จากชีวิตคนจนนั่นเอง
ตรงนี้ไม่ได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะโลกเราทุกวันนั้นเข้าสู่ยุคแห่ง “Surveillance capitalism” (หรือทุนนิยมแบบตรวจตรา) ทำงานโดยดึงข้อมูลของเราจากกิจกรรมออนไลน์ต่างๆตลอดเวลา และนำไปประมวลผลในอัลกอริธึ่มเพื่อหาประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนต่างๆอีกต่อหนึ่ง ซึ่งตัวเราเองนั้นก็เหมือนผู้เล่นใน Squid Game ที่มัวแต่ดิ้นรนใช้ชีวิตโดยไม่รู้ตัว หรือแม้รู้ตัวว่ากำลังถูกหาผลประโยชน์จากความเป็นส่วนตัวอยู่แต่ก็ไม่อาจขัดขืนได้
ประเด็นที่สาม Squid Game ถูกออกแบบมาอย่างเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างดี โดยใช้ทฤษฎีเกม (Game Theory) ออกแบบผลตอบแทน (pay-off) เพื่อดึงดูดให้คนเล่นจนเกมสิ้นสุด
On-Chain Investor มองอย่างทฤษฎีเกมว่า เงื่อนไขตั้งต้นทำให้ผู้แข่งขันไม่สามารถเลิกเล่นเกมได้อย่างง่ายๆ เพราะยิ่งด่านลึกขึ้น เงินสะสมจากการตายของผู้แข่งขันยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเกมถูกโหวตให้ยุติ คนที่มีชีวิตอยู่ก็จะไม่ได้อะไรเลย เพราะเงินจะถูกแบ่งให้ครอบครัวผู้ตายเท่าๆกัน
ดังนั้น “การเลิกเล่น” จึงไม่เป็นกลยุทธ์หลัก (dominant strategy) ของผู้เล่นโดยปริยาย (ซึ่งตรงนี้ก็เห็นได้ในครึ่งหลังของซีรี่ย์ที่ประเด็นเรื่องการโหวตเลิกค่อยเบาบางลงไปเมื่อการแข่งขันเข้มงวดและเหลือผู้แข่งขันน้อยลง)
ตรงนี้อยากจะเสริมว่าไม่ใช่แค่การออกแบบผลตอบแทนเท่านั้น ลูกบอลโปร่งใสขนาดใหญ่บรรจุเงินมหาศาลที่แขวนเด่นอยู่ใจกลางห้องโถงเปรียบเหมือนการล่อหลอกทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งว่าเงินอยู่ “ตรงหน้า” แล้ว และถ้าเลือกออกจากเกมเราก็จะเสียมันไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดเรื่อง “Loss Aversion” ของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่คนมักจะหลีกเลี่ยงการสูญเสียด้วยการยอมเสี่ยง
ฉะนั้น ผู้แข่งขันใน Squid Game จึงถูก “Nudge” (หรือพฤติกรรมถูกสะกิด) เรื่อยๆ ด้วยการที่มีเงินไหลลงมาเมื่อเกมจบเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เดินหน้าเล่นเกมจนสิ้นสุด
สุดท้ายต้องขอบคุณบทความดีๆที่กล่าวถึงที่ทำให้ได้คิดต่อครับ ตอนนี้เหลือแต่ยังไม่เห็นมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติจากซีรี่ย์เรื่องนี้ ซึ่งตอนจบก็เหมือนจะทิ้งท้ายในประเด็นนี้อยู่ ซึ่งคงต้องติดตามในภาคต่อไปว่าตัวเอกของเราจะตอบโต้ระบบเช่นไร.