“อาคารลดคาร์บอน” ตอบรับกระแส Net Zero Greenhouse Gas Emission
ความเคลื่อนไหวในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมวงกว้าง ก็คือการประชุม COP26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
บทความโดย วิศรา หุ่นธานี ผู้จัดการโครงการอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
การประชุม COP26 ผู้นำเกือบ 200 ประเทศ ได้ร่วมกันหารือเพื่อแก้ไขและรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงประเทศไทยซึ่งนำโดย ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ไปประกาศเจตนารมย์ว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือเรียกสั้นๆ ว่า Net Zero Carbon) ภายในหรือก่อนกว่าปี ค.ศ. 2065 ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
คำถามที่ตามมา คือ คนไทยจะมีส่วนร่วมเพื่อการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง แต่ก่อนอื่นเราน่าจะ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว อย่างเช่น ที่บ้านหรือที่อาคารของเรา ก็สามารถทำให้เป็น Net Zero Carbon ได้เช่นกัน ดูเหมือนว่าจะทำได้ง่ายและมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าด้วย
การนำแนวคิด Net Zero Carbon มาใช้ในการออกแบบอาคารให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีมาก่อนหน้านี้ ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานซี่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสัดส่วนหลัก โดยเจ้าของอาคารจะออกแบบอาคารให้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อลดการใช้พลังงาน ประหยัดพลังงานในระบบต่าง ๆ และมีการผลิตพลังงานเองได้เท่ากับหรือมากกว่าพลังงานที่ใช้ ในขณะที่ผู้ใช้งานอาคารยังคงได้รับความสะดวกสบาย โดยเรียกอาคารเหล่านี้ว่า Zero Energy Building หรือ อาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์
มีตัวอย่างในหลาย ๆ ประเทศ ที่อาคารได้รับการก่อสร้างและใช้งานจริง เช่น Centre for Sustainable Energy Technology (CSET) อาคารคาร์บอนเป็นศูนย์แห่งแรกของประเทศจีน Zero Energy Building (ZEB) ศูนย์รวมเทคโนโลยีอาคารเขียว ประเทศสิงคโปร์ Net Zero Energy Building อาคารต้นแบบอนุรักษ์พลังงานใช้พลังงานเป็นศูนย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้อาคารเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาคารนั้น ได้มีการรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอาคาร (Carbon Reduction Certification for Buildings) หรือ “อาคารลดคาร์บอน” โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อส่งเสริมให้เจ้าของอาคารและผู้ใช้งานอาคารได้มีส่วนร่วมในการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการออกแบบอาคาร การใช้งานอาคาร และการบำรุงรักษาอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ
เช่น การลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการใช้น้ำ การใช้สารทำความเย็น การลดการเกิดของเสียและการจัดการของเสียในรูปแบบต่างๆ การใช้พลังงานหมุนเวียน และการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างการปลูกต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งจะแสดงผลในหน่วยของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) เพื่อเป็นข้อมูลอย่างง่ายสำหรับผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อาคารต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งที่เป็น อาคารสำนักงาน อาคารชุด โรงพยาบาล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงมหรสพ อาคารชุมชุม รวมทั้งสถานศึกษา
กรณีตัวอย่างอาคารที่ร่วมดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการออกแบบอาคาร ใช้งานอาคาร และการบำรุงรักษาอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ และยังให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1) อาคารสำนักงาน ของ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
2) อาคาร A อาคาร B และ อาคาร C ของ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด
3) อาคารหลักและอาคารปฏิบัติการ ของ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
4) อาคารสำนักงานใหญ่และศูนย์ฝึกอบรม สำนักงานระยอง ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
5) อาคารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาคาร คือ การลดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของอาคาร เป็นผลการออกแบบเลือกใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่าง ๆ การลดการพึ่งพาพลังงานที่ซื้อจากภายนอก สามารถผลิตพลังงานใช้เอง การลดการใช้น้ำจากการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้และการใช้ประโยชน์จากน้ำฝน
การเกิดขยะที่ต้องกำจัดน้อยลงจากระบบจัดการขยะและการมีส่วนร่วมของผู้ที่อยู่ในอาคาร การมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคารที่ดี สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยตลอดวัฏจักรชีวิตของอาคารน้อยกว่า รวมถึงการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon ของประเทศเรา
หากมีโอกาสได้เข้าใช้บริการในอาคารเหล่านี้ ลองสังเกตความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันได้ อาคารเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ มีการใช้งานและดูแลบำรุงรักษาอาคารอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย.