“ทรอปิคานา ออยล์” อย่าหยุดแค่คำว่า “ดีแล้ว”
ถ้าคุณมีสินค้าที่มีคุณภาพดีอยู่แล้ว คุณจะทำอย่างไรต่อ ถ้าพูดถึงน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น หลายคนคงนึกถึงแบรนด์ “ทรอปิคานา ออยล์” ผู้ก่อตั้งธุรกิจคือ คุณสุรเดช นิลเอก อดีตมนุษย์ออฟฟิศในบริษัทใหญ่ที่มีความฝันอยากมีกิจการของตัวเองจึงลาออกมาเพื่อทำความฝัน
ธุรกิจแรกของ "สุรเดช นิลเอก" คือโรงงานประกอบพื้นรองเท้าในปี ค.ศ. 1988 จนกระทั่งปี 1997 ธุรกิจโรงงานประกอบพื้นรองเท้าเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจสงครามอ่าวเปอร์เซีย จึงทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ กระนั้น ความล้มเหลวของการทำธุรกิจแรกก็ไม่สามารถหยุดความมุ่งมั่นของคุณสุรเดชได้
คุณสุรเดชเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขากลับมาดูว่าดินแดนบ้านเกิดมีอะไรน่าหยิบจับมาพัฒนาเป็นธุรกิจได้บ้าง เขาก็พบว่าคำตอบอยู่ใกล้ตัว คืออยู่ในสายเลือดชาวสวนมะพร้าวจากดินแดนอันสมบูรณ์และบริสุทธิ์แห่งคลองร้อยสายลุ่มน้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี ของเขานั่นเอง เพราะสุราษฎร์ธานีคือแหล่งของ “มะพร้าว” ชั้นดี แต่ถ้าขายมะพร้าวเป็นสินค้าเกษตรผ่านพ่อค้าคนกลางตามแบบที่เกษตรกรทั่วไปทำ คุณสุรเดชก็มองว่า แม้จะมีสินค้าที่มีคุณภาพดีอยู่ใกล้มือ แต่น่าจะมีหนทางที่เพิ่มคุณค่าได้มากกว่าขายมะพร้าวธรรมดา คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้คือ จะ “เพิ่มคุณค่า” ให้กับสินค้าที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร
คุณสุรเดชจึงใช้กรรมวิธี “สกัดเย็น” โดยใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาเองซึ่งแตกต่างจากที่มีอยู่เดิมทำให้เกิดน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณภาพดี แทนที่จะขายมะพร้าวจากสวนแบบปกติ ทรอปิคานา ออยล์ จึงเกิดขึ้นในปี 2003 ตลาดน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว แม้จะยังไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่โต แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผลิตภัณฑ์จะต้องมีความแตกต่างตั้งแต่ก้าวแรกเพื่อเป็นพื้นฐานการทำธุรกิจที่แข็งแกร่ง ยิ่งมีความแตกต่างที่คู่แข่งเลียนแบบไม่ได้ยิ่งเป็นเรื่องดี
เทคโนโลยีการสกัดของทรอปิคานา ออยล์ ใช้กรรมวิธีสกัดเย็นโดยสามารถสกัดเยื่อหุ้มกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากไปกว่าการสกัดจากเนื้อมะพร้าวอย่างเดียว จึงเป็นเหตุให้น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นของทรอปิคานา ออยล์ มีสีประกายทอง มีกลิ่นหอม เก็บไว้ได้นานไม่เหม็นหืน แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ในท้องตลาดที่เป็นสีขาวใส
ทั้งสารอาหารที่มากกว่า สีประกายทองบวกกับกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ และการใช้งานที่ง่าย กลายเป็นจุดแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรงตั้งแต่ต้น ในตอนที่เริ่มธุรกิจเทรนด์สุขภาพยังไม่เติบโตมาก ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นยังมีกลุ่มเล็ก เป็นผู้สูงอายุที่รักษาสุขภาพเป็นหลักที่นิยมบริโภคน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเพื่อบำรุงสุขภาพ แต่เมื่อเทรนด์สุขภาพเติบโตขึ้น กลุ่มคนรักสุขภาพเริ่มมีคนอายุน้อยลงมาเสริมทัพ คนรุ่นใหม่ดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โจทย์ของทรอปิคานา ออยล์ คือจะปรับตัวรับกับโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
กลับไปเรื่องเดิมคือ มีผลิตภัณฑ์ที่ดีอยู่แล้ว จะเพิ่มคุณค่าอย่างไรให้มากขึ้น ทรอปิคานา ออยล์ จึงไม่หยุดแค่การเป็นน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นสำหรับบริโภคอย่างเดียว แต่แตกไลน์ออกมาเป็นสินค้าด้านความงาม ทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายและเส้นผม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและถนอมใยผ้า รวมทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศ
วิธีคิดคืออะไรก็ตามที่ทำจากน้ำมันมะพร้าวได้ จะทำให้มีคุณภาพดีที่สุด การแตกไลน์ออกมาจากการเป็นสินค้าอาหารอย่างเดียวเป็นก้าวสำคัญของทรอปิคานา ออยล์ เพราะทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในแง่มุมที่หลากหลายของชีวิตผู้บริโภคได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่อสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายมากขึ้น เท่ากับว่าบริษัทสามารถใช้มะพร้าวผลิตสินค้าได้มากขึ้นและคุ้มค่ากว่าเดิม และที่สำคัญไม่ย่อหย่อนคือการสร้างทีมงานอันเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อน ทรอปิคานา ออยล์ อย่างไม่หยุดยั้งแม้จะเป็นธุรกิจ SME แต่ Model ธุรกิจและ Organization ได้ถูกเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต
เมื่อมาถึงรุ่นลูก คือ "ณัฐณัย นิลเอก"ก็ต่อยอดธุรกิจด้วยการพัฒนาทีมงานสู่ Digital Transformation และนำ Data จากระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) มาใช้งานเพื่อประกอบการตัดสินใจทั้งหมด ตั้งแต่ การตลาด การขาย การผลิต R&D ฯลฯ เมื่อมี Data ก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ได้ตรงความต้องการของลูกค้าได้มากกว่าเดิม
ในช่วงโควิด-19 ทรอปิคานา ออยล์ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวไปด้วยเพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของแบรนด์ แต่การที่บริษัทแตกไลน์สินค้าให้หลากหลายไว้ประกอบกับการวางรากฐานในการขยายช่องทางการตลาดอื่นๆ ทำให้ยอดขายจากส่วนอื่นมาชดเชยส่วนที่น้อยลงได้
สิ่งที่ทรอปิคานา ออยล์ทำในช่วงโควิด-19 คือ
1.เช็คสต็อกจาก Distributor และร้านค้าที่ขายอยู่ในจังหวัดที่เป็นหัวเมืองการท่องเที่ยว เพื่อเรียกสินค้ากลับคืน และนำมาทำโปรโมชั่นไม่ให้สินค้าค้างสต็อก และถือเป็นการดูแลคู่ค้าด้วยความจริงใจ
2.ลูกค้าของแบรนด์ยังอยู่ เพียงแต่เดินทางมาซื้อในประเทศไทยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องคุยเรื่องการกระจายสินค้ากับ Distributor ในต่างประเทศ และหันมาทำการตลาดออนไลน์ให้การซื้อขายสะดวกมากขึ้นเพื่อรักษาลูกค้าไว้
3.จากเคยจับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก หันมาจับตลาด Local ขายคนไทยมากขึ้น รวมทั้งทำ e-commerce อย่างเต็มรูปแบบและมีกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มากขึ้น
4.ขายสินค้าเป็นแพ็คเกจ จับคู่สินค้าขายดีอยู่แล้วกับสินค้าที่ต้องการระบายสต็อก สินค้าจะได้ออกไปทั้งคู่ ยิ่งเมื่อมีสินค้าหลาย SKU ยิ่งได้เปรียบเพราะสามารถจับคู่ได้หลากหลาย
5.ชะลอการผลิต และปรับให้พนักงานสายการผลิตมาเพิ่มทักษะทำงานอื่น เช่น สร้างความเชื่อมโยงของสินค้าใน Business unit ใหม่เป็น Tropicana organic farm to table โดยนำของเหลือจากการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นคือกาบอ่อนมะพร้าวมาใช้ในการปลูกผักออร์แกนิคเพื่อขาย ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้คนสายการผลิตมาฝึกเป็นแม่ครัวทำอาหารเพื่อสุขภาพแบบ Delivery ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ทำงานที่บ้าน และนำรถที่เคยใช้ส่งของมาส่งอาหารแทนในช่วงที่มีนโยบายการสั่งปิดร้านอาหาร
6.ทำคอนเทนต์ส่งเสริมการขายใน Tik Tok ซึ่งกลายเป็นว่ายอดขายเพิ่มขึ้นจากช่องทางนั้น และทำให้พาร์ทเนอร์อย่าง 7-eleven ขยายสาขาในการขายเพิ่มขึ้นกว่าเดิมกว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศ
ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นคำตอบว่า ถ้ามีผลิตภัณฑ์ที่ดีอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคือการไม่หยุดเพิ่มคุณค่าให้สินค้าอยู่ตลอดเวลา และคอยคิดอยู่เสมอว่าจะทำให้สิ่งที่ดีแล้วดียิ่งขึ้นอีกได้อย่างไร อย่าหยุดแค่คำว่า “ดีแล้ว” แต่ให้คำว่า “ดีขึ้น” ผลักดันให้เราพัฒนาไม่หยุด