Cryptocurrency กับธนาคาร | โสภณ พรโชคชัย
เมื่อเร็วๆ นี้ SCBx ซื้อ Bitkub ที่เป็นตัวกลางซื้อขาย Bitcoin และเงิน Cryptocurrency อื่นๆ นัยว่าจะทำให้ธนาคารโตขึ้น จริงหรือ นี่คือทิศทางของธนาคารของโลกหรือไม่ อนาคตการเงินไทยจะเป็นอย่างไร
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 “กลุ่มเอสซีบีเอกซ์” เดินหน้ายุทธศาสตร์ยานแม่ ประกาศส่ง SCB เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน “บิทคับ ออนไลน์” พร้อมร่วมเป็นพันธมิตรวางรากฐานธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มุ่งสร้างการเติบโตระยะยาว เตรียมพร้อมสู่โลกการเงินอนาคต . . . ในการร่วมมือกันครั้งนี้ การที่ “กลุ่มเอสซีบีเอกซ์” โดยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBx) เข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมด 51% ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ที่จำนวน 17,850 ล้านบาท ที่มูลค่าบริษัททั้งหมด 35,000 ล้านบาท”
เรื่องนี้น่าสนใจในหลายแง่มุมโดยเฉพาะด้านมูลค่าบริษัทที่อ้างว่าอยู่ที่ 35,000 ล้านโดยดูจากกำไรสุทธิที่ 1,500 ล้านบาท ทั้งที่ปี 2563 มีกำไรเพียง 80 ล้านและปี 2562 ขาดทุน 15 ล้านบาท รายได้บริษัท Crypto ของคนยุคใหม่นี้เติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ ก็คงพอๆ กับการปั่นราคาพระเครื่อง (สินค้าของคนยุคเก่า)
ถ้าเป็นเช่นนี้จริง อัตราเพิ่มของรายได้สุทธิ ก็ต้องสูงถึงเกือบ 10% ต่อปีจากฐานที่ 1,500 ล้านบาทภายในเวลา 15 ปี (อายุขัยของบริษัทประเภทนี้อาจไม่ยืนยาว) ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3% จึงจะเกิดมูลค่าถึง 35,000 ล้านบาท แต่การที่รายได้ผันผวนเร็วขนาดนี้ ฐานที่ 1,500 ล้านบาทต่อปีจึงเป็นสิ่งที่น่าฉงนไม่น้อย
การลงทุนในหุ้น 51% ที่ 17,850 ล้านบาท กับการสร้างบริษัทค้า Cryptocurrency ขึ้นมาใหม่แทนที่จะซื้อนั้น จะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ ผู้ถือหุ้นของ SCB จึงพึงพิจารณาเป็นพิเศษ ทั้งนี้การสร้างคู่แข่งใหม่ก็คงเกิดขึ้นแน่นอนโดยสถาบันการเงินอื่นที่อาจจะเข้ามาค้าขายแข่งด้วย อย่างไรก็ตามกิจการค้า Cryptocurrency นี้จะยั่งยืนหรือไม่ก็ยังไม่แน่นอนนัก เพราะรัฐบาลแทบทั่วโลกก็ยังไม่ยอมรับ (ยกเว้นยอมรับให้มีบริษัทนายหน้าขาย Cryptocurrency) และราคาซื้อขายก็มีการแกว่งตัวสูงมาก
จากข้อมูลของ Coindesk.com พบว่าราคา Bitcoin 1 เหรียญมีค่าเท่ากับ 324.47 เหรียญสหรัฐในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 แต่ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 หรือ 7 ปีต่อมา ราคาขึ้นเป็น 66,500.24 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 205 เท่า หรือเพิ่มขึ้นปีละ 214% หรือราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในทุกปี ธุรกิจอะไรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นสูงได้รวดเร็วปานนี้ เป็นสิ่งที่น่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง ในรอบ 1 ชั่วโมง 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน ราคาก็ยิ่งแกว่งหนัก ราคาที่ขึ้นลงแบบนี้จะใช้ซื้อของทั่วไปได้จริงหรือไม่
บางท่านอาจแย้งว่าฐานข้อมูลลูกค้าและชื่อเสียงของบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ กรณีนี้ถือเป็น Intangible Assets ของบริษัทที่ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามแม้บริษัทนี้จะมีความโดดเด่นและครองส่วนแบ่งตลาดถึงประมาณ 90% ของทั้งหมด แต่ใช่ว่ารายอื่นๆ จะไม่สามารถเกิดได้ ที่สำคัญรายเล็กๆ อื่นๆ ย่อมมีราคาถูกกว่ามาก
ส่วนฐานข้อมูลลูกค้านั้นหาได้ไม่ยากเพราะมีผู้สนใจซื้อขาย Cryptocurrency มากมายอยู่ ถือเป็นการเปิดช่องทางในการลงทุน (การพนัน) และสำนักงาน ก.ล.ต.ก็เปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ซึ่งประกอบด้วย Cryptocurrency และ Token Digital และขณะนี้มีอยู่ 7 แห่ง (ระงับการให้บริการไป 1 แห่ง)
อันที่จริง Bitcoin แสดงถึงความไม่โปร่งใส เช่น การถูกพัฒนาโดย “ซาโตชิ นากาโมโตะ” ซึ่งแสดงถึงความขมุกขมัวอย่างยิ่ง แต่ก็มีคนหลงเชื่อกันมากมาย มีการส่งต่อกุญแจเตือนเครือข่ายและการควบคุมที่เก็บ Bitcoin Core code ทำอย่างกับหนัง Sci-Fi ที่ว่าขณะนี้ “นากาโมโตะ” เลิกยุ่งเกี่ยวกับ Bitcoin ก็ดูลึกลับ ที่ว่ามีการตั้งเป้าหมายว่าจะกระจายอำนาจการควบคุม ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานใดๆ หรือการที่จะได้ Bitcoin ต้องได้จากการขุดหรือทำเหมือง ก็ขาดความโปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งกว่านั้นการทำเหมืองก็เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางหนึ่งเพราะใช้ไฟฟ้ามหาศาล
Bitcoin จะมีค่าแค่ไหนนั้น เราต้องเข้าใจว่าการประเมินค่าทรัพย์สินจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีตลาด การซื้อขาย Bitcoin ก็มีตลาดมาระยะหนึ่ง รวมเป็นเวลาประมาณ 7 ปี แต่ตลาดนี้ก็ไม่ได้มีการควบคุมใดๆ ทำให้ขาดความมั่นคง โปร่งใสเท่าที่ควร คล้ายกับตลาดพระเครื่อง ตลาดจตุคามรามเทพ ซึ่งก็มีผู้ซื้ออยู่จำนวนหนึ่ง แต่ตลาดพระเครื่องก็ยังมีการซื้อขายกันมายาวนาน ทั้งนี้ยกเว้นราคาที่ผิดเพี้ยน (Outliers) ซึ่งเกิดจากการปั่นราคาและการฟอกเงิน
คุณลักษณะสำคัญของเงินที่แท้ก็คือการสามารถเก็บมูลค่าได้ (Store of Value) แต่ในกรณี Bitcoin ไม่มีพื้นฐานที่แท้จริงอยู่ ต่างจากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่แม้หลายคนมองว่าเป็นเกมการพนัน แต่ก็ยังมีปัจจัยพื้นฐานให้วิเคราะห์หุ้นได้ในระดับหนึ่ง มีกิจการที่แท้จริงดำเนินการโดยบริษัทมหาชนนั้นๆ
เมื่อนำมาเทียบกับเพชรนิลจินดา Bitcoin ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อแสดงความมั่งคั่งได้ หากนำมาเทียบกับทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) เช่น ชื่อเสียงกิจการ หรือแบรนด์ จะพบว่าแบรนด์สามารถนำมาสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ เช่น สินค้าที่มีแบรนด์เนม ก็มีราคาสูงกว่า เป็นต้น
ดังนั้นการประเมินค่า Bitcoin จึงไม่น่าจะทำได้ ความผันผวนต่างๆ ก็มีมาก กลายเป็นเกมในการละเล่นทางการเงิน กลายเป็นแหล่งฟอกเงิน เป็นการพนันมากกว่าที่จะสร้างมูลค่าที่แท้จริงได้ บางคนอาจบอกว่า มีบางประเทศที่ยอมรับ Bitcoin ดังข่าวว่า “(เอลซัลวาดอร์เป็น) ประเทศแรกในโลกดัน Bitcoin เป็นการชำระเงินถูกกฎหมาย” (6 มิถุนายน 2564)
แต่ประเทศนี้ตั้งอยู่ที่ไหน หลายคนก็ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ที่สำคัญในไม่กี่วันต่อมา (17 มิถุนายน 2564) “เวิลด์แบงก์ ยืนกรานไม่รับรอง เอลซัลวาดอร์ ใช้เงิน Bitcoin ตามกฎหมายประเทศ”
วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (subprime mortgage crisis) หรือ วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ ในช่วงปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2551 ในสหรัฐอเมริกา เกิดจาก การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป วิกฤติครั้งนี้มีผลหลายขั้นและค่อย ๆ เผยให้เห็นความอ่อนแอในระบบการเงินและระบบการควบคุมทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามในกรณีสินค้าแบบเสมือนจริง (Virtual) คือ Bitcoin อาจสร้างความวิบัติได้มากกว่าที่ผ่านมาอีก
ย้อนกลับมาดูธนาคารต่างๆ จะเห็นได้ว่า SCB ติดอยู่ในอันดับที่ 10 โดยมี DBS เป็นอันดับที่ 1 หากวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงตัวแปรระหว่างสินทรัพย์กับจำนวนพนักงาน จะเห็นได้ว่าไม่มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรเลย แสดงว่าธนาคารที่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่ใช่ว่าต้องมีจำนวนพนักงานมากกว่า ในทางตรงกันข้ามจะเห็นได้ว่าธนาคารที่มีมูลค่าสูง มักจะมีจำนวนสินทรัพย์ต่อจำนวนพนักงานสูงตามไปด้วย โดยค่า Adjusted R sq. อยู่ที่ 91.4% ใน Regression Analysis และถ้าดูจากการกระจายของตัวเลขด้วยค่า Exponential ค่า Adjusted R Sq. จะอยู่ที่ 87.1% แสดงว่าธนาคารยิ่งมีสินทรัพย์มาก จำนวนสินทรัพย์ต่อพนักงานหนึ่งคนย่อมมากตามไปด้วย
การขยายตัวของธนาคารควรเป็นไปในทิศทางใด ในกรณี DBS เขาก็ยังรักษาการเติบโตตามแบบธนาคารมาตรฐานทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญมีการขยายสาขาไปต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่ธนาคารของไทยมีเพียงไปเปิดสำนักงานติดต่อเป็นหลัก ไม่ค่อยได้บุกตลาดมากนัก นี่แสดงว่าธนาคารไทยยังไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควรหรือไม่ ยิ่งกว่านั้นในด้าน Digital ทาง DBS ยังเข้าร่วมคณะกรรมการของ Blockchain Hedera ซึ่งกรณีนี้ไทยคงยังตามไม่ทัน และ DBS ยังเป็นธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตขาย Cryptocurrency เป็นแห่งแรกในเอเชีย
SCB และธนาคารไทยจะเติบโตไปในทิศทางไหน ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่.