‘เทศกาลพลุพัทยา’ กรณีศึกษาความร่วมมือในท้องถิ่น
วันลอยกระทงในสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ถือเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองแรก ๆ หลังจากที่ไทยได้เปิดประเทศอีกครั้ง มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งการยกเลิกเคอร์ฟิว ทำให้การรวมกลุ่มสังสรรค์ ตลอดจนร้านอาหารกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง
จะว่าไปแล้ว ในช่วงปลายเดือน พ.ย. จนถึง ธ.ค. ถือเป็นช่วงเวลาที่คนทั่วโลกไม่ว่าจะประเทศ หรือวัฒนธรรมไหนก็ต่างมีงานสังสรรค์ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนหลังจากทำงานอย่างหนักมาแล้วเกือบ 1 ปี ทำให้ห้างร้านก็ต่างจัดโปรโมชั่นขายของเพื่อเป็นของฝาก หรือโรงแรม ร้านอาหารก็ต่างมีโปรเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากผู้บริโภค
ในสมัยก่อน ภาคธุรกิจรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ เพื่อรวมเม็ดเงินทำการตลาดประชาสัมพันธ์เทศกาล ไม่ว่าจะเป็นลอยกระทง คริสต์มาส หรือเฉลิมฉลองปีใหม่ในย่านการค้าเพื่อดึงดูดให้นักช้อปได้มีความสุขทั้งจากการมาช้อปปิ้งและถ่ายรูป อาทิ การประดับไฟคริสต์มาสย่านราชดำริ
ปัจจุบัน ภาคธุรกิจมีการรวมตัวกันภายใต้ความพยายามในการสร้างความแตกต่างให้ย่านที่ธุรกิจตั้งอยู่นั้นเป็นที่สนใจของผู้บริโภคทั้งในช่วงเทศกาลหรือการจัดงานพิเศษนอกเทศกาล อาทิ การแสดงพลุของกลุ่มโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเทศกาลลอยกระทงและเทศกาลฉลองวันปีใหม่ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือเทศกาลพลุเมืองพัทยาที่จัดโดยเมืองพัทยาในช่วง 27-28 พ.ย.นี้
การแสดงพลุในช่วงปลายปีจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา กับองค์กรปกครองท้องถิ่นเมืองพัทยานี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีมากทั้งในเชิงของการรวมตัวกันเองของกลุ่มธุรกิจโรงแรมในกรณีของกลุ่มโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในกรณีของงานพลุพัทยา
กลุ่มธุรกิจโรงแรมริมแม่นำ้เจ้าพระยาเลือกที่จะรวมเงินเพื่อลงทุนจัดแสดงพลุเป็นชุด ๆ ในช่วงเวลาที่ไม่ทับกันไล่เรียงไปทีละโรงแรมจนครบ เสมือนเป็นการแสดงที่มีความต่อเนื่องแก่แขกผู้ใช้บริการในโรงแรม ร้านอาหาร ไม่ใช่เพียงพลุ 1 ชุดจาก 1 โรงแรมภายในระยะเวลาสั้น ๆ การรวมกลุ่มลงทุนเช่นนี้สร้างผลตอบแทนทั้งในรูปแบบของเม็ดเงินที่ได้จากการจองโรงแรมและร้านอาหาร การขึ้นราคาห้องพักในโอกาสพิเศษ
เช่นเดียวกับงานพลุพัทยา ที่ทำให้เมืองพัทยามีความครึกครื้นและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว การมีเทศกาลพลุถือเป็นตัวช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจในการไปพักผ่อนริมทะเลที่พัทยาแทนที่จะไปหัวหินในช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดึงเม็ดเงินเข้าสู่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งจากการเข้ามาพักโรงแรม การเข้ามาจับจ่ายใช้สอยกินเที่ยวในเขตพัทยา ซึ่งในปีที่แล้ว (พ.ศ.2563) มีการบันทึกรายรับของเมืองที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกว่า 400 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวถึง 2 แสนคน
งานแสดงพลุจากทั้งสองแห่งนี้สามารถให้บทเรียนแก่ภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ ในการรวมกลุ่มนำงบประมาณออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด งานพลุพัทยาถือเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการรวมตัวกันของภาครัฐ(ท้องถิ่น)และกลุ่มธุรกิจเอกชน โดยท้องถิ่นนอกเหนือจากอำนวยงบประมาณส่วนหนึ่งแล้ว ยังทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การจราจร การดูแลความปลอดภัย ค่ายมือถือ กลุ่มธุรกิจเอกชน ร้านค้าอาหารรายย่อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวอย่างสะดวกปลอดภัยกลับบ้านด้วยความประทับใจ
นอกเหนือจากเม็ดเงินที่ถือเป็นผลประโยชน์โดยตรงจากการจัดงานแล้ว ยังมีประโยชน์แฝงอื่น ๆ โดยเฉพาะในเชิงของการตลาด ที่เข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์เมืองพัทยาแก่คนไทยและทั่วโลก
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเทศกาลที่หลากหลายขึ้นในหลายเมืองใหญ่ อาทิ ลอยกระทงสุโขทัย งานบอลลูนที่เชียงราย งานดนตรีช่วงหน้าหนาว งานชมดอกไม้ ซึ่งล้วนเกิดจากความร่วมมือกันของคนในท้องถิ่น เพื่อผลประโยชน์แก่ท้องถิ่นทั้งสิ้น เป็นที่น่าเอาใจช่วยและเป็นกรณีศึกษาสำหรับเมืองและท้องถิ่นอื่น ๆ อย่างยิ่ง