โดรนกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน
Generation Z เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ส่งผลให้เป็นกลุ่มคนที่กล้าคิดกล้าทำและให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตโดยอิสระ
แน่นอนว่าวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของ ก็มาพร้อมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน คนรุ่นใหม่ต้องการความรวดเร็วและความสะดวกสบายมาเป็นอันดับแรก การนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการขนส่งสินค้า จึงน่าจะสามารถตอบสนองวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
หากพิจารณาถึงจุดเด่นของการนำโดรนขนส่งสินค้ามาใช้ จะพบว่าโดรนสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งในปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง แต่เดิมการขนส่งสินค้าจำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์ ต้องอาศัยความชำนาญ ประสบการณ์ ใช้ทรัพยากรบุคคลรวมถึงใช้เวลาในการขนส่ง แต่หากมีการนำเทคโนโลยีโดรนขนส่งสินค้ามาใช้ คนรุ่นใหม่จะสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือและมีระบบการขนส่งสินค้าโดยใช้โดรนมาส่งถึงที่หมายอย่างรวดเร็ว
ความสามารถของโดรนยังรวมไปถึงการส่งสินค้าไปยังพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงด้วย ตัวอย่างเช่น พื้นที่ที่มีเทือกเขาสลับซับซ้อน พื้นที่เกาะที่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่
การขนส่งสินค้าปกติในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงนั้นส่วนใหญ่ จึงต้องขนส่งสินค้าในปริมาณมากต่อรอบ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังพื้นที่ดังกล่าวสูง จำนวนการขนส่งต่อสัปดาห์มีน้อยครั้ง หากมีการนำเทคโนโลยีโดรนขนส่งสินค้ามาใช้ คนรุ่นใหม่จะสามารถสั่งสินค้าได้ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องรอคอยรอบในการขนส่ง
นอกเหนือจากนี้โดรนขนส่งยังอาจนำไปใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ด้วย กล่าวคือสามารถขนส่งวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น เลือด อวัยวะหรือสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ได้อย่างทันทีทันใด
การขนส่งด้วยวิธีการปกติอาจทำได้ไม่ทันการเนื่องจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ยากต่อการควบคุมเช่น ปริมารณการจราจรบนท้องถนน การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ยังต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ เช่น โดรนขนส่งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักมาก จึงต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าต่อการลงทุนระบบโดรนขนส่งด้วย พร้อมทั้งคำนึงถึงทักษะของผู้ใช้งาน กล่าวคือ ต้องมีการฝึกอบรมผู้ใช้งานเพื่อให้มีความรู้ความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นอันดับแรก เมื่อเกิดการสะสมความรู้แล้วก็สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
แม้ว่าโดรนอาจสามารถดำเนินการบินเพื่อขนส่งสินค้าในพื้นที่ห่างไกลหรือยากต่อการเข้าถึงได้ แต่ก็ยังคงมีปัญหาในหลายประเทศว่าจะสามารถดำเนินการในเขตเมืองที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่นได้หรือไม่ สาเหตุสำคัญก็คือข้อจำกัดทางกฎหมายที่ก่อให้เกิดความกังวลทั้งในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ความกังวลในเรื่องมลพิษทางเสียงจากการขนส่ง และในเรื่องของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายกรณีด้วยกัน
นอกจากนี้ ในแง่ของผู้ประกอบการยังมีความเสี่ยงที่โดรนจะถูกโจมตีจากผู้ไม่หวังดี ไม่ว่าจะเป็นด้วยความคึกคะนองหรือหวังสินค้าที่ขนส่งมากับโดรน หากภาครัฐไม่มีมาตรการเพื่อคุ้มครองกรณีดังกล่าวก็ยากที่จะมีผู้มาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีโดรนขนส่งสินค้า แม้ในหลายประเทศจะมีการกำหนดให้โดรนเพื่อการขนส่งจะต้องทำประกันวินาศภัยไว้ก็ตาม แต่ค่าเบี้ยประกันภัยในการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นยังมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าผ่านโดรนจึงต้องจ่ายค่าบริการในอัตราที่สูงอยู่
เมื่อทำการเปรียบเทียบในประโยชน์และข้อจำกัดของการนำระบบโดรนขนส่งสินค้า ผู้เขียนมีความเห็นว่ารัฐบาลไทยควรมีการกำหนดแผนกลยุทธ์และนโยบายอย่างชัดเจนโดยเร็ว โดยอาจดูจากตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นที่มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ
เช่นโปรเจค SMART CITY ที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้ระบบโดรนขนส่งมาใช้ในพื้นที่ห่างไกลที่มีผู้คนอยู่อาศัยเบาบาง ในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงแทนการขนส่งโดยปกติก่อน พร้อมทั้งพิจารณาลดข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการลง หลังจากนั้นจึงค่อยเปิดโอกาสให้นำเทคโนโลยีโดรนขนส่งมาใช้ในชุมชนเมืองได้ภายในอนาคต
ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยยังไม่ควรคิดถึงการขนส่งด้วยระบบโดรนในเขตชุมชนเมืองในขณะนี้ เพราะในเขตชุมชนเมืองยังมีการขนส่งอื่น ๆ ที่สะดวกสบายและรวดเร็วอยู่แล้ว เช่น รถมอเตอร์ไซด์และจักรยาน เป็นต้น
แต่ในอนาคตความต้องการระบบโดรนเพื่อการขนส่งในเมืองใหญ่ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะ ผู้บริโภคต้องการได้รับความสะดวกรวดเร็ว และคาดหวังว่าสินค้าจะถูกจัดส่งโดยทันที
ดังนั้น เพื่อตอบสนองกับความต้องการดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ให้บริการจัดส่งจะมุ่งลดระยะเวลาในการจัดส่งให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
กล่าวโดยสรุป ภาครัฐควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยควรวางนโยบายเพื่อกำหนดแผนในการพัฒนาระบบโดรนเพื่อการขนส่งอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อปูทางให้ภาคเอกชนสามารถกำหนดแนวทางการบริหารงานได้อย่างชัดเจนในการลงทุนนำระบบโดรน เพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์มาใช้
พร้อมทั้งส่งเสริมภาคเอกชนให้มีการร่วมลงทุนกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาระบบโดรนขนส่ง ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้บริษัทของญี่ปุ่นพัฒนาระบบดังกล่าวร่วมกันกับประเทศจีน การส่งเสริมให้มีการร่วมลงทุนนั้นจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบโดรนขนส่งได้อย่างรวดเร็วและมีศักยภาพทัดเทียมนานาประเทศ.