การศึกษาไทย:จุดเน้นเพื่อรับมือกับความท้าทาย | จักรี เตจ๊ะวารี
การศึกษาเป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐได้ให้และจะยังคงให้ความสำคัญ รวมทั้งมีการลงทุนในอันดับต้นๆ มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การเรียนการสอนทั่วโลกต้องปรับตัวขนานใหญ่
ขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังมีแรงกดดันจากนักเรียนนักศึกษาที่มีการรวมตัวกันประท้วงและเรียกร้องเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาในหลายมิติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมจากแหล่งข้อมูลและสถิติที่หลากหลายแล้ว แนวโน้มด้านการศึกษาต่อไปนี้น่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในอนาคตอย่างสำคัญ
จำนวนนักเรียนลดลง ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น การลดจำนวนลงของนักเรียนเป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในกรณีของไทย แนวโน้มดังกล่าวเห็นได้ชัดจากจำนวนนักเรียนระดับประถมศึกษาที่มีแนวโน้มลดลงตลอด จากประมาณ 7.45 ล้านคนในปี 2525 ลดลงเหลือเพียงประมาณ 4.75 ล้านคน ในปี 2562 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
การลดลงของจำนวนนักเรียนดังกล่าว ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กต้องปิดตัวลง หรือต้องควบรวมกับโรงเรียนขนาดเล็กอื่นที่เผชิญสถานการณ์เดียวกัน ขณะเดียวกัน ด้วยความก้าวหน้าด้านสาธารณสุข รวมทั้งสุขอนามัยของประชากรทั่วโลก ก็ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวมากขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากกว่าในอดีต
รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (เม.ย.2564) ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยถือเป็นสังคมสูงอายุ เพราะมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปถึง 9 ล้านคน และคาดว่าจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุแบบสุดยอด” ในอีก 9 ปีข้างหน้า
การที่คนมีอายุยืนมากขึ้นนี้มีนัยสำคัญต่อการออกแบบการศึกษาในอนาคต ที่มีแนวโน้มมุ่งไปสู่แนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ทำให้คนต้องมีการเรียนรู้เพิ่มทักษะให้กับตนเองทั้งเพื่อการใช้ชีวิตและการทำงาน
เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำกับอนาคตของการศึกษา เช่นเดียวกับภาคการผลิตอื่นๆ เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในเกือบทุกมิติของการศึกษา และจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้การเรียนรู้ในอนาคตมีความเป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ มีการต่อยอดความรู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มากยิ่งกว่าในอดีต
และที่สำคัญคือโรคระบาดที่เกิดขึ้นล่าสุด ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเร่งของการใช้และขยายตัวของเทคโนโลยีด้านการศึกษามีความเป็นไปได้เร็วขึ้น ซึ่งโดยหลักการพื้นฐานแล้วเทคโนโลยีทางการศึกษา (EdTech : Education Technology) เป็นการผนวกเอาเครื่องมือด้าน IT มาใช้กับการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทวิจัย Holon IQ ระบุว่ามูลค่าการเติบโตของเทคโนโลยีทางการศึกษาในระดับโลกเพิ่มสูงขึ้นจาก 183 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 เป็น 227 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 404 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568 (holoniq.com)
การเข้าถึงความรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้การเรียนรู้ไม่จำกัดพื้นที่ มีทางเลือกที่หลากหลายไม่ตายตัว สามารถเลือกให้เหมาะสมกับความสนใจของตัวผู้เรียนได้มากขึ้น มีทางเลือกที่หลากหลายโดยไม่ยึดติดกับพื้นที่และเวลา
ข้อมูลมีอยู่ทุกหนแห่งและมีอยู่มหาศาล มิได้มีน้อย หายาก และกลั่นกรองมาแล้วเช่นแต่ก่อน ปัญหาของการศึกษาเรียนรู้จึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องปริมาณและการเข้าถึงความรู้อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของทักษะการวิเคราะห์ เช่น การแยกแยะระหว่างข่าวจริงกับข่าวปลอม การแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น
ดังในรายงานของ ODEC ระบุว่าโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 54 ของนักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD ได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลว่ามีอคติหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม ในประเทศอื่นนอกกลุ่ม OECD ได้รับการฝึกฝนทักษะดังกล่าวนี้น้อยกว่าร้อยละ 45 โดยในรายงานดังกล่าวนี้ปรากฏว่าเด็กนักเรียนของไทยมีคะแนนทักษะดังกล่าวอยู่ในลำดับรั้งท้าย (OECD, 2021)
ความนิยมในการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาจะลดลง ผลกระทบจากเทคโนโลยีและวิถีชีวิตใหม่ที่เป็นแบบยุคหลังอุตสาหกรรม (post-industrial) คือเป็นวิถีชีวิตที่ไม่ยึดตารางเวลาแน่นอน อาจมีส่วนทำให้คนเลือกที่จะไม่เข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว แต่เปลี่ยนไปฝึกทักษะหรือความชำนาญเฉพาะด้านแล้วเข้าสู่ตลาดแรงงานแทน แสดงให้เห็นว่าคนไม่ได้มองชีวิตเช่นเดียวกับที่เคยเป็นมา
ขณะที่ปรากฏการณ์ในระดับโลกก็กำลังสนับสนุนทิศทางที่เกิดขึ้นดังกล่าว ดังเช่นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google ได้ประกาศออกมาว่า ทางบริษัทกำลังวางแผนที่จะนำเสนอหลักสูตรการเรียนทางออนไลน์แบบระยะสั้น ให้ผู้เรียนมีทักษะที่พร้อมใช้งานได้พร้อมใบรับรองคุณวุฒิ นั่นคือต่อไปเราไม่จำเป็นต้องจบมหาวิทยาลัยก็สามารถที่จะหางานด้านเทคโนโลยีที่มีค่าตอบแทนสูงได้
การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คุณค่าของมหาวิทยาลัยได้รับการท้าทาย ตั้งแต่คุณค่าของปริญญาบัตรที่ไม่ได้เป็นใบเบิกทางให้หางานได้ง่ายอีกต่อไป ต่อมาคือเรื่องประสบการณ์ที่ได้จากการพบปะแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในมหาวิทยาลัย ก็เป็นไปได้ยากเมื่อต้องเรียนกันแบบออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้การสอนทักษะบางอย่างที่จำเป็นต้องลงมือปฏิบัตินั้นมีประสิทธิภาพน้อยลง ไม่อาจเทียบได้กับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, 2021)
ความท้าทายต่อคุณค่าของมหาวิทยาลัยดังกล่าวนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับหลักสูตรทางเลือกที่มีการแข่งขันกันนำเสนอผ่านระบบออนไลน์ที่มีแนวโน้มที่หลากหลายและเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ทั้งแบบเรียนฟรีและเสียเงิน รวมทั้งสามารถเข้าถึงได้สะดวกง่ายดายทั้งของต่างประเทศและของไทยเอง
สิ่งที่แนวโน้มที่กล่าวมาข้างต้นบอกกับเราก็คือ การศึกษาจะยังคงเป็นหัวใจหลักสำหรับการสร้างคนที่มีคุณภาพให้กับโลกในอนาคต แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปคือรูปแบบและคุณค่าที่เคยเป็นมา
ปัจจัยสำคัญที่เข้ามามีผลและจะทวีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ เทคโนโลยีและโครงสร้างประชากรในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดการพลิกผันในชั่วพริบตาได้เลยนั้น จะไม่ได้มีผลแต่เพียงการศึกษาเรียนรู้ของคนเท่านั้น แต่ยังจะไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานของคนในอนาคตอีกด้วย
ดังนั้น การลงทุนด้านการศึกษาของรัฐควรเน้นไปที่การลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่และทักษะใหม่ พร้อมๆ กับการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รวมทั้งรูปแบบและคุณค่าที่เปลี่ยนไป.