ไทยจะได้มากกว่าเสีย จาก "สมรมเท่าเทียม"

ไทยจะได้มากกว่าเสีย  จาก "สมรมเท่าเทียม"

ประเด็นสมรสเท่าเทียมถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินัจฉัยกรณีการฟ้องร้องในของคู่รักเพศหญิงหลังถูกปฏิเสธการขอจดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ากฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้นไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นสำคัญที่ศาลเพิ่มเติมนอกเหนือคำวินิจฉัยคือ ข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

เพราะโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะพลเมืองในแต่ละประเทศต่างมีความแตกต่างหลากหลาย สังคมและกฎหมายในประเทศที่เจริญแล้วจึงมีการปรับปรุงให้เหมาะสมรับรองสิทธิเสรีภาพของกลุ่มคนทุกกลุ่มในสังคม เพราะเล็งเห็นว่าปัจเจกบุคคลไม่ว่าจะชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนาใด จะมีความชอบหรือรสนิยมทางเพศอย่างไร ก็คือประชาชนในประเทศนั้นๆ สมควรมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน

เพราะโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะพลเมืองในแต่ละประเทศต่างมีความแตกต่างหลากหลาย สังคมและกฎหมายในประเทศที่เจริญแล้วจึงมีการปรับปรุงให้เหมาะสมรับรองสิทธิเสรีภาพของกลุ่มคนทุกกลุ่มในสังคม เพราะเล็งเห็นว่าปัจเจกบุคคลไม่ว่าจะชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนาใด จะมีความชอบหรือรสนิยมทางเพศอย่างไร ก็คือประชาชนในประเทศนั้นๆ สมควรมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน

ปัจจุบัน กว่า 30 ประเทศทั่วโลกนั้นยอมรับการสมรสเท่าเทียมในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ กลุ่มประเทศที่มีความเป็นเสรีประชาธิปไตยสูง อาทิ สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

 

ในกลุ่ม 30 ประเทศนี้ มี 2 ประเทศ/ดินแดนที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่งคือ โปรตุเกสและไต้หวัน โดยโปรตุเกสนั้นเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้นเคารพนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตั้งแต่โบราณ และความเชื่อแต่เดิมนี้ก็ยังคงส่งอิทธิพลมาจนปัจจุบัน

โดยประชากรกว่า 80% ของโปรตุเกสนั้น นับถือคริสต์นิกายนี้ ซึ่งกระแสหลักของกลุ่มผู้ที่มีความเชื่อในนิกายนี้นั้นมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง แต่รัฐสภาโปรตุเกสก็มีความกล้าหาญและยืนหยัดต่อหลักการความเท่าเทียมคลอดกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี 2553 ก่อนสหรัฐ (ในปี 2558) และสหราชอาณาจักร(ในปี 2563) ด้วยซ้ำ

ไต้หวันก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีกับไทยได้ เพราะเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งในกรณีของไต้หวันนั้นกฎหมายสมรสเท่าเทียมนอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ของไต้หวันนั้นโดดเด่นขึ้นในฐานะประเทศเสรีประชาธิปไตยเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่รับรองกฎหมายนี้ ยังส่งเสริมเศรษฐกิจดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศในเชิงการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม

หากเหลียวกลับมามองที่ประเทศไทย ทั้งในแง่ของสังคมการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมแล้ว จะพบว่าคนไทยนั้นมีความเมตตาและอดทนต่อความหลากหลายทางเพศสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อัตราความรุนแรงต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก เราไม่มีกฎหมายลงโทษกลุ่มคนรักร่วมเพศตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งต่างจากประเทศในยุโรปที่มีข้อห้ามและบทลงโทษอย่างชัดเจนและต่อมาจึงถูกยกเลิกไป อาทิ สหราชอาณาจักร

ทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ในการท่องเที่ยว ในมุมมองของคนต่างชาติ ประเทศไทยถูกยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นประเทศที่สนุกสนานมีความหลายครบรสและมีอิสระเสรี จึงทำให้ไทยนั้นดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 3 ล้านล้านบาทในปีก่อนโควิด จากนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน

กฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้นมีความสำคัญและเกี่ยวข้องในทุกระดับตั้งแต่ การรับสิทธิสวัสดิการต่างๆในฐานะคู่สมรส การกู้ร่วมในอสังหาริมทรัพย์ การรับมรดก สิทธิของบุตร (บุญธรรม) โดยในไทยนั้นเริ่มมีการเรียกร้องจนถึงการผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตตั้งแต่เกือบสิบปีที่แล้ว (ปี 2556) แต่สิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศในพ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็ยังไม่เทียบเทียมกับบุคคลทั่วไป จึงทำให้มีการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ประเทศไทยจะได้มากกว่าเสียแน่นอนหากรัฐสภาสามารถคลอดกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ เพราะนอกจากจะได้หน้าได้รับการยอมรับจากทั่วโลกแล้ว ในทางเศรษฐกิจ เม็ดเงินจะหลั่งไหลเข้าประเทศมากขึ้น เรียกว่าได้ทั้งชื่อเสียง ได้ทั้งเงิน