แนวโน้ม ‘เทคโนโลยี-แนวคิด’ ที่ ‘ผู้บริหาร’ ต้องเปลี่ยน

แนวโน้ม ‘เทคโนโลยี-แนวคิด’ ที่ ‘ผู้บริหาร’ ต้องเปลี่ยน

ทุกปีผมจะเขียนบทความสรุป “แนวโน้มเทคโนโลยี” ที่บริษัทวิจัยด้านไอทีอย่าง “Gartner” หรือสำนักอื่นๆ ประกาศออกมา ซึ่ง Gartner Top Strategic Technology Trends for 2022 ที่ประกาศมาช่วงเดือนตุลาคม ผมกลับรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นนัก เทคโนโลยีต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิม

ทุกปีผมจะเขียนบทความสรุป “แนวโน้มเทคโนโลยี” ที่บริษัทวิจัยด้านไอทีอย่าง “Gartner” หรือสำนักอื่นๆ ประกาศออกมา ซึ่ง Gartner Top Strategic Technology Trends for 2022 ที่ประกาศออกมาเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมกลับรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นนัก เทคโนโลยีต่างๆ ที่กล่าวถึงส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิม แต่สิ่งที่เห็นว่าแตกต่างจากเดิมคือ Gartner พยายามชี้ให้เห็นว่า หากเราจัดระบบไอทีและเลือกใช้เทคโนโลยีให้ดีเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรไปได้ดีขึ้น

แนวโน้มของเทคโนโลยีหลักช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ คือ เอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที 5จี บล็อกเชน คลาวด์คอมพิวติ้ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเทคโนโลยีโลกเสมือน (VR, AR) แต่สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปมาก คือ เทคโนโลยีเหล่านี้เก่งขึ้นเรื่อยๆ มีค่าใช้จ่ายถูกลง และพัฒนาได้ง่ายขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน หลายองค์กรพัฒนาระบบไอที ด้วยงบประมาณมหาศาล ต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมาช่วย และใช้เวลานานกว่าจะแล้วเสร็จ แต่หากเราเลือกใช้เทคโนโลยีได้ถูกทาง เช่น บางระบบใช้คลาวด์คอมพิวติ้งสาธารณะ (Public cloud computing) ซึ่งในปัจจุบันมีบริการมากมาย มาเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบเราก็สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว สร้างนวัตกรรมและระบบใหม่ๆ ขยายออกไปได้อย่างรวดเร็ว
 

ตัวอย่างหนึ่ง ที่ผมเห็นในบางองค์กร คือ การแก้ปัญหาระบบล่มเนื่องจากมีผู้ใช้จำนวนมาก ซึ่งสาเหตุในอดีตเกิดจากการพัฒนาระบบทุกอย่างเองในองค์กร มีการจัดหาเครื่องเซิร์ฟเวอร์เอง เมื่อมีปริมาณการใช้งานจำนวนมากจนระบบไม่สามารถรองรับได้จึงทำให้ระบบล่ม แต่ปัจจุบันมีทางเลือกด้วยระบบคลาวด์คอมพิวติ้งสาธารณะ ซึ่งองค์กรสามารถเพิ่มลดการใช้เซิร์ฟเวอร์ได้ตามความต้องการทำให้รองรับจำนวนผู้ใช้ได้ดีขึ้น และระบบก็มีปัญหาน้อยลง

นอกจากนี้การพัฒนาระบบที่ต้องการนวัตกรรมอย่าง เอไอ หรือบล็อกเชน จะพบว่าการใช้บริการบนคลาวด์คอมพิวติ้งสาธารณะสามารถทำได้โดยง่าย และเริ่มมีเครื่องมือที่ทำให้คนทั่วๆ ไป สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาได้แม้จะไม่ได้เรียนการพัฒนาระบบมามากนัก เช่น มีระบบ AutoML ที่ให้คนทั่วไปสามารถพัฒนาระบบเอไอได้โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นในหลายๆ องค์กรทุกวันนี้ คือ ระบบประชุมออนไลน์ ถ้าวิธีคิดแบบเดิม คือ ทุกอย่างต้องพัฒนาเอง เป็นห่วงเรื่องข้อมูลที่จะออกนอกองค์กร มองการประชุมทุกอย่างเป็นความลับ การประชุมออนไลน์คงไม่สามารถเกิดขึ้นง่าย แต่เมื่อองค์กรส่วนใหญ่เลือกใช้ระบบซอฟต์แวร์ การประชุมบนคลาวด์คอมพิวติ้งสาธารณะ ยี่ห้อต่างๆ ที่มีค่าใช้จ่ายไม่แพงมากนัก องค์กรก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานได้ ทำให้มีการประชุมทางไกลที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้ จนหลายคนแปลกใจว่าทำไมเราเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
 

ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การทำ Digital Transformation ขององค์กรในวันนี้จะยิ่งทำได้มากกว่าเดิม Gartner จึงระบุถึงแนวโน้มเทคโนโลยีด้วยศัพท์ใหม่ๆ อย่าง Total experience ที่มองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้ประสบการณ์ของทุกฝ่ายคือทั้งลูกค้า คนทำงาน และผู้ใช้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น รวมไปถึงคำว่า Distributed enterprises คือ องค์กรจะเป็นการทำงานที่กระจายออกไป เหมือนอย่างการที่เราสามารถทำงานที่ใดก็ได้ บริการลูกค้าจากที่ใดก็ได้ และสามารถเข้าถึงจากอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้

องค์กรที่จะแข่งขันได้ในวันนี้คงต้องมีแนวคิดว่า Digital-first และ Remote-first กล่าวคือ ต้องคิดว่าทุกอย่างเป็นดิจิทัลเป็นอับดับแรก ไม่ว่าจะการทำงานหรือบริการทางไกลต้องมาก่อน หากทำไม่ได้จึงค่อยคิดว่าที่จะทำในรูปอื่น เช่น เราประชุมออนไลน์ได้ก็ต้องเลือกแบบนั้นก่อน ระบบเอไอเข้ามาแทนที่การทำงานของคนในบางอย่างได้ ซึ่งถ้าทำได้ก็ต้องเลือกพัฒนาให้เป็นเอไอก่อน ให้บริการลูกค้าแบบออนไลน์ได้ก็ต้องเลือกบริการออนไลน์เป็นสิ่งแรก เป็นต้น

แต่สิ่งที่ผมมักพบเจอในการตัดสินใจของผู้บริหารองค์กรในการทำระบบไอทีเรื่องใหม่ๆ ก็คือ แรงต้านที่มักจะคิดว่ายาก ทำไม่ได้ ไม่มีคนช่วยพัฒนา ใช้งบประมาณมาก รวมถึงไม่เข้าใจเทคโนโลยีเหล่านั้น หรือบางครั้งแม้แต่บริษัทไอทีหลายแห่งก็ยังเน้นที่จะนำเสนอรูปแบบเดิมๆ ให้กับผู้บริหาร เนื่องจากการเสนอวิธีเดิมๆ จะทำให้ผู้บริหารตัดสินใจได้ง่ายเพราะตรงใจ เมื่อแนวคิดเดิมแบบนี้ยังมีอยู่การทำ Digital Transformation ในองค์กรก็เป็นไปได้ยาก เพราะผู้บริหารยังไม่กล้าที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในองค์กร

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือผู้บริหารระดับสูงในองค์กรจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องของแนวโน้มเทคโนโลยี องค์กรจึงจะทำ Digital Transformation ได้สำเร็จ ต้องเข้าใจแนวคิดที่ว่าระบบไอทีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้ว เช่น การใช้คลาวด์คอมพิวติ้งกลายเป็นเรื่องปกติ ข้อมูลบางอย่างอาจจำเป็นต้องนำไปประมวลผลอยู่นอกองค์กร แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็ดีขึ้นมาก ใช่ครับ อย่าให้การตามเทคโนโลยีไม่ทันของผู้บริหารเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กร