"ธุรกิจบริการสมัยใหม่" ริเริ่มและส่งเสริม | อาณดา พฤฒิอางกูร
การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในหลายประเทศทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันคือ มีส่วนประกอบของภาคการบริการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและเห็นได้ชัด
ประเทศด้อยพัฒนาจะมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จากภาคการบริการต่ำสุด ตามมาด้วยประเทศกำลังพัฒนา และสูงสุดในประเทศที่พัฒนาแล้วตามลำดับ
ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกันมีการเติบโตของสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจากภาคการบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาคการบริการในประเทศไทยที่มีการขยายตัวในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 คือ ที่พักและบริการด้านอาหาร กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
จากตัวเลขสถิติปัจจุบันในไตรมาสที่สามของปี 2564 แสดงให้เห็นว่าหลังจากเกิดการระบาด ภาคการบริการที่พักและบริการด้านอาหารได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดโดยมีการหดตัวอย่างมากในปีแรกของการระบาดและยังคงหดตัวต่อเนื่องในปีที่สอง
การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้ามีการหดตัวในปีแรกแต่ขยายตัวเล็กน้อยในปีที่สอง กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัยมีการขยายตัวเล็กน้อยในทั้งสองปีของการระบาด
อย่างไรก็ดีในส่วนของการประกันภัย อาจมีส่วนของสภาพคล่องและความมั่นคงทางการเงินให้ต้องติดตามกันต่อไปเนื่องจากมีการเคลมโควิดจากประกัน "เจอจ่ายจบ" มากกว่าที่คาดการณ์ไว้และตามมาด้วยการเคลมประกันภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงใกล้เคียงกัน
การระบาดของโรคโควิดส่งผลกระทบต่อภาคการบริการอย่างมากทั่วโลก บ้างก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างที่เกิดขึ้นในภาคการบริการที่พักและบริการด้านอาหารของไทย บ้างก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกอย่างที่เกิดกับ Amazon.com ที่ขณะนี้มีราคาต่อหุ้นเป็นสองเท่าของช่วงก่อนเกิดโควิด
ผลกระทบทางด้านบวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับ Amazon เท่านั้นแต่ยังเกิดขึ้นกับภาคการบริการในประเทศต่างๆเป็นวงกว้าง อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการบางรายได้รับผลกระทบทางบวกและบางรายได้รับผลกระทบทางลบ
คำตอบก็คือ ธุรกิจบริการสมัยใหม่ (Modern Services) กล่าวคือถ้าคุณทำธุรกิจในภาคการบริการ แต่เป็นการให้บริการในธุรกิจบริการสมัยใหม่ ผลกระทบจะเกิดกับธุรกิจของคุณคือ ด้านบวก และจะเป็นด้านบวกอย่างมากในช่วงโควิดเนื่องจากมีการระบาดของโรคมาช่วยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
หลังจากผ่านพ้นช่วงของการระบาดของโควิดไปแล้วธุรกิจบริการสมัยใหม่ยังจะคงการเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปเนื่องจากที่มาของความต้องการเกิดจากการปรับเปลี่ยนของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความนิยมเปลี่ยนแปลงไป
ในประเทศไทยภาคการบริการส่วนใหญ่ยังคงเป็นการให้บริการในลักษณะเดิม การขยายตัวในอดีตเกิดขึ้นจากการขยายตัวในเชิงปริมาณในภาคการบริการแบบดั้งเดิม ซึ่งยังคงลักษณะทางธุรกิจแบบเดิมไว้ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นธุรกิจบริการสมัยใหม่มากนัก
สัดส่วนของธุรกิจบริการสมัยใหม่จึงยังมีอยู่น้อย กล่าวคือเป็น 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และในสัดส่วนที่จำกัดนี้ยังนับรวมธุรกิจโทรคมนาคมขนาดใหญ่รวมอยู่ด้วย ในภาพจึงทำให้สัดส่วนธุรกิจบริการสมัยใหม่ที่ไม่ได้นับรวมธุรกิจโทรคมนาคมยิ่งมีสัดส่วนน้อยลงไปอีก
การปรับตัวของธุรกิจในภาคบริการ จึงถือเป็นทางออกสำคัญให้กับการเจริญเติบโตและการกระจายความเสี่ยงของทั้งผู้ประกอบการเองและของประเทศ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมารายได้จากการท่องเที่ยวได้กลายเป็นรายได้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย สัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในช่วงปี 2560, 2561 และ 2562 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 18.79 18.70 และ 18.31 ตามลำดับ
ด้วยเปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูง ประเทศไทยจึงพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี การพึ่งพาการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เปราะบางโดยลักษณะทางธรรมชาติของอุตสาหกรรมหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะมาจากภายในหรือภายนอกประเทศก็สามารถส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้เสมอ
ปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ปัญหาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และอื่นๆอีกหลายปัจจัยความเป็นไปได้ โรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยและโลกในอดีตก็เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยทุกครั้งมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
ในปี 2545 มีการระบาดของโรคซาร์ (SARS) ในปี 2552 มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ในปี 2555 มีการระบาดของโรคเมอร์ส (MERS) และในปี 2557 มีการระบาดของโรคอีโบลา (EBOLA) และในปี 2562 มีการระบาดของโรคโควิด19 (COVID19)
ในครั้งนี้เป็นการระบาดในวงกว้างกว้างกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา ในสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 260 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 ล้านคน ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจของโลกและต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย
จากอดีตที่ผ่านมาและจากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการระบาดครั้งต่อๆไปในอนาคต ในขณะเศรษฐกิจของโลกยังคงรอการฟื้นตัว เวลาในช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการริเริ่ม เปลี่ยนแปลง และปรับตัวอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อนำธุรกิจบริการแบบดั้งเดิมเข้าสู่ธุรกิจบริการสมัยใหม่ และสร้างธุรกิจบริการสมัยใหม่เพิ่มให้มากขึ้น
ธุรกิจบริการสมัยใหม่ ธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Communication Technology-ICT) เข้ามาปรับใช้กับธุรกิจ ในต่างประเทศมีการเติบโตของธุรกิจบริการสมัยใหม่อย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด
ธุรกิจบริการสมัยใหม่ ธุรกิจบริการที่มีการซื้อขายกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต สามารถทำให้เกิดการซื้อขายกันโดยที่ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องเดินทางมาพบเจอกันจริงๆ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสามารถนำไปปรับใช้กับภาคธุรกิจได้เกือบจะทุกประเภท ยกเว้นก็แต่เพียงการท่องเที่ยวและการขนส่งที่ผู้ซื้อและผู้ขายยังต้องเดินทางมาพบเจอกัน
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองธุรกิจนี้ก็ยังได้รับประโยชน์จากการเป็นธุรกิจบริการสมัยใหม่ การให้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต ตอบโจทย์การใช้ชีวิตสมัยใหม่และการใช้ชีวิตในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดต่อ
เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจมากมาย สามารถสร้างตลาดขนาดใหญ่ได้โดยไร้พรหมแดน สามารถเปิดให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ ธุรกิจบริการสมัยใหม่จึงเป็นคำตอบที่ควรริเริ่มและส่งเสริม.
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. อาณดา พฤฒิอางกูร
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล