การควบคุมธุรกรรม “คริปโทเคอร์เรนซี” ในไทย | สุรินรัตน์ แก้วทอง
ประเทศไทยควรสนับสนุนและผลักดันคริปโทเคอร์เรนซีให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทย จะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจที่ถดถอยจากโรคโควิด-19 กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ในปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) เข้ามามีบทบาทในฐานะส่วนหนึ่งของระบบธุรกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาบิทคอยน์ทำราคาสูงสุดไปที่กว่า 2 ล้านบาทต่อ 1 บิทคอยน์
ประกอบกับกระแสธุรกิจโลกที่มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากการพัฒนาระบบบล็อกเชนและระบบควอนตัมคอมพิวเตอร์ รวมถึงความพยายามในการนำระบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Finance - DeFi) มาใช้ในการทำธุรกรรมทางด้านการเงิน
การนำระบบ DeFi มาใช้ในการทำธุรกรรมการเงิน จะผ่อนคลายการผูกขาดอำนาจของรัฐและให้อำนาจแก่ประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงินที่เสรีมากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนยังช่วยส่งเสริมให้การทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีมีถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
ในภาคธุรกิจในประเทศไทย บริษัทเอกชนเริ่มมีการผลิตเหรียญคริปโทของตนเองและนำมาใช้ในการทำธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า หรือนำมาใช้ในการทำธุรกรรมทางด้านการเงินอื่น ๆ ในประเทศไทยคาดว่าคริปโทเคอร์เรนซีมีมูลค่าในการซื้อขายอยู่ในระบบกว่า 6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบริษัทและเข้าซื้อบริษัทบิทคับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมเงินตราของประเทศ หรือแม้กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบธุรกรรมเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนของประเทศไทย กลับมีแนวนโยบายที่ไม่ได้สนับสนุนการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ และมีการจำกัดการออกใบอนุญาตแก่บริษัทซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวแทนในการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย
การออกมาประกาศนโยบายของหน่วยงานทางด้านการเงินที่สำคัญของประเทศไทยดังกล่าว นำมาซึ่งข้อขัดแย้งและประเด็นในทางนโยบายเกี่ยวกับการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ และนำมาซึ่งคำถามที่ว่าประเทศไทยควรใช้แนวนโยบายใดในการควบคุมตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบเศรษฐกิจไทย
ในประเด็นดังกล่าว เมื่อพิจารณานโยบายทางด้านคริปโทเคอร์เรนซีของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอาจแบ่งออกได้เป็นกลุ่มประเทศที่สนับสนุนการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้อย่างเสรี และกลุ่มประเทศที่จำกัดการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีโดยเด็ดขาด
สำหรับประเทศที่สนับสนุนให้มีการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้โดยเสรี เช่น สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์มีการออกกฎหมายให้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่ชอบด้วยกฎหมายประเทศแรกของโลก หรือนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกามีการอนุญาตให้มีการทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีแต่นักลงทุนจะต้องเสียภาษีให้กับรัฐ
ในขณะที่ประเทศจีนและประเทศสิงคโปร์มีการออกกฎหมายจำกัดการทำเหมืองบิทคอยน์และห้ามการทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศโดยเด็ดขาด
ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยควรสนับสนุนและผลักดันคริปโทเคอร์เรนซีให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทยให้มากที่สุด เนื่องจากการใช้คริปโทเคอร์เรนซีมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในการทำธุรกรรมและการซื้อขายแลกเปลี่ยนในประเทศ จะช่วยกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และจะเป็นโอกาสอันดีในการที่จะดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย
นอกจากนี้ หากมีการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ก็จะช่วยสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนสูง การอนุญาตให้นำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ในการทำธุรกรรมหรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนจะต้องทำด้วยความระมัดระวังและจะต้องได้รับการอนุญาต โดยจะต้องมีการพิจารณาเฉพาะเหรียญที่มีความน่าเชื่อถือ มีความโปร่งใส และมีอัตราการผันผวนในตลาดค่อนข้างต่ำ โดยอาจเลือกแต่เฉพาะเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้รับการยอมรับและมีเสถียรภาพมาใช้ เช่น BTC ETH BNB ADA เป็นต้น
หากสามารถสนับสนุนและผลักดันการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ในประเทศไทย จะทำให้สามารถเก็บภาษีในอัตราในการลงทุนได้ แต่อาจจะต้องพิจารณาอัตราที่เหมาะสม ซึ่งการกำหนดภาษีดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมเพียงพอจะทำให้ประเทศไทยมีเงินภาษีที่จะนำมาใช้ในการต่อยอดและใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้
นอกจากนี้ ข้อพึงระวังเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนับสนุนคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย คือ การออกกฎหมายเพื่อป้องกันการนำคริปโทเคอร์เรนซีไปใช้ในการกระทำความผิดทางอาญา ทั้งนี้ เนื่องจากการที่คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสกุลเงินดิจิทัล หรือเป็น Digital Asset ที่มีมูลค่ามากและยากต่อการติดตาม ผู้ที่ถือครองอาจจะนำคุณสมบัติดังกล่าวของคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ในการฟอกเงินหรือใช้ในการเก็บทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญาได้
ดังนั้น หากมีการออกกฎหมายในการสนับสนุนคริปโทเคอร์เรนซีและควบคุมตรวจสอบธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีที่มีประสิทธิภาพเพียงพอแม้อาจจะทำให้รัฐสูญเสียอำนาจในทางการควบคุมระบบการไหลเวียนเงินตราบ้าง
แต่หากการสนับสนุนคริปโทเคอร์เรนซีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ จะทำให้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันระบบธุรกิจดิจิทัล และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีความถดถอยของประเทศในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน.
คอลัมน์กฎหมาย 4.0
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรินรัตน์ แก้วทอง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์