แนวทางไต้หวันต่อต้านอำนาจจีน ...ข้อเท็จจริง | เรือรบ เมืองมั่น

แนวทางไต้หวันต่อต้านอำนาจจีน ...ข้อเท็จจริง | เรือรบ เมืองมั่น

ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีนเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ที่ประธานาธิบดี Tsai In-wen ของไต้หวันชนะเลือกตั้งทั่วไปเป็นสมัยที่สอง

ประธานาธิบดี Tsai In-wen ประกาศย้ำการไม่ยอมรับแนวคิด “หนึ่งประเทศสองระบบ” ของจีน และสนับสนุนการรณรงค์ประชาธิปไตยในฮ่องกง

จีนจะบุกไต้หวันภายในไม่กี่ปีนี้จริงหรือไม่  อเมริกาจะช่วยไต้หวันไหม และไต้หวันจะทำอย่างไรเป็นคำถามที่คนสนใจอย่างมาก
    

รัฐบาลพรรค Democratic Progressive Party (DPP) ของนาง Tsai ได้ปรับเพิ่มความเป็น “ไต้หวัน” ในเชิงสัญลักษณ์ในสากลหลายประการ เช่น เปลี่ยนชื่อหนังสือเดินทางสาธารณรัฐจีน (ชื่อทางการของไต้หวัน) เป็นหนังสือเดินทางไต้หวัน การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงกับรัฐบาลวอชิงตัน และบรรลุข้อตกลงจัดซื้ออาวุธมูลค่าสูงถึง ๑,๘๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  
    การท้าทายดังกล่าวทำให้จีนเพิ่มความกดดันไต้หวันมากยิ่งขึ้น เช่น การกีดกันฝ่ายไทเปจากการเข้าร่วมประชุมองค์การอนามัยโลกเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด ตลอดจนส่งเครื่องบินรบรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันตลอดปี ๒๕๖๓ ถึง ๓๘๐ ครั้ง  
    ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในปี ๒๕๖๔ เมื่อประธานาธิบดี Joe Biden ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับไต้หวันมากขึ้น เช่น มีการเจรจาโดยตรงทาง VTC ระหว่างประธานาธิบดีของทั้งสองชาติ  มีการซ้อมรบร่วมกันบนแผ่นดินไต้หวัน และรัฐสภาสหรัฐ ฯ รื้อฟื้น ร่างพ.ร.บ.ป้องกันไต้หวัน (Taiwan Defense Act) เป็นต้น  
    สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วง ก.ย.-ต.ค. ที่จีนก็ต้องแสดงแสนยานุภาพและย้ำเจตจำนงในการรวมชาติไต้หวันผ่านทางวาระพิเศษ เช่น ครบรอบการ ๑๐๐ ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและครบรอบ ๗๒ ปีก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน 

จีนจึงส่งเครื่องบินรบรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันมากขึ้น เช่น เมื่อ ๔ ต.ค.๖๔ วันเดียวจีนส่งเครื่องบินปฏิบัติการดังกล่าวถึง ๕๖ เครื่อง ทำให้นาย Chiu Kuo-cheng รมว.กห.ไต้หวันวิเคราะห์ว่าจีนจะโจมตีเต็มรูปแบบต่อไต้หวันภายในปี ๒๕๖๙ 

แนวทางไต้หวันต่อต้านอำนาจจีน ...ข้อเท็จจริง | เรือรบ เมืองมั่น
    การยั่วยุของจีนยิ่งก่อให้เกิดแรงต่อต้านจีนในไต้หวันมากยิ่งขึ้นในไม่กี่ปีนี้ จากการสำรวจความนิยมของมหาวิทยาลัย National Chengchi เมื่อ ธ.ค.๖๓ พบว่าคนไต้หวันพิจารณาว่าตนเองเป็นชาวไต้หวันถึงร้อยละ ๖๔ และเป็นชาวจีนแค่ร้อยละ ๒.๖  นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดตามลำดับนับตั้งแต่สำรวจความนิยมครั้งแรกเมื่อ ธ.ค.๒๕๓๕ โดยในเวลานั้นคนไต้หวันพิจารณาว่าตนเป็นชาวไต้หวันร้อยละ ๑๗.๖ และเป็นชาวจีนร้อยละ ๒๕.๕ 
    ไต้หวันไม่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์แม้แต่วันเดียว ในอดีตเคยอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์ ราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง และญี่ปุ่นตามลำดับ ก่อนที่จะตกเป็นของสาธารณรัฐจีนภายใต้การนำของพรรค Kuomintang (KMT) เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒  
    การพ่ายแพ้ของสาธารณรัฐจีนต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ประธานาธิบดี Chiang Kai-chek อพยพกำลังพลและยุทโธปกรณ์มาตั้งมั่นในไต้หวัน ปกครองประเทศภายใต้กฎอัยการศึก โดยมีไทเปเป็นเมืองหลวง แต่ยังอ้างอธิปไตยเหนือจีนทั้งประเทศ รวมทั้งธิเบต มองโกเลียในและดินแดนของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ    
    ทั้งนี้ไต้หวันเป็นหนึ่งในคณะมนตรีถาวรความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจนถึงปี ๒๕๑๔ โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติผ่านมติด้วยคะแนนเสียง ๗๖ ต่อ ๓๕ (งดออกเสียง ๑๗ คะแนน) ขับไต้หวันออกจากคณะมนตรี ฯ โดยรับรองให้จีนแผ่นดินใหญ่เป็นคณะมนตรี ฯ แทนและให้จีนเป็นตัวแทนจีนทั้งประเทศ  ไต้หวันจึงขาลอยนับแต่บัดนั้น
    ไต้หวันมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ โดยมีนาย Lee Teng-hui เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นคนที่เกิดในไต้หวันเอง  แม้ว่าเขาจะเป็นตัวแทนของพรรค KMT แต่วางแนวทางเพื่อให้ไต้หวันสำนึกในความเป็นไต้หวันมากกว่าจีน 

แนวทางไต้หวันต่อต้านอำนาจจีน ...ข้อเท็จจริง | เรือรบ เมืองมั่น
    มีการทำข้อตกลงกับจีนเมื่อปี ๒๕๓๖ ว่าไต้หวันจะยึดถือหลักการสถานะเดิม (Status Quo) โดยไม่ประกาศเอกราช  เห็นพ้องในหลักการจีนเดียว แต่ไม่ยอมรับ หลักการ “หนึ่งประเทศสองระบบ” เนื่องจากยังมีความหวังที่พรรค KMT จะกลับไปครองอำนาจในจีนอีกครั้งหนึ่ง หากจีนปราศจากการปกครองแบบคอมมิวนิสต์แล้ว
    นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ พรรค DPP ที่เชิดชูประเด็นชาตินิยมไต้หวันมีความเติบใหญ่จนสามารถชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยของประธานาธิบดี Chen Shui-bian ที่แสดงความแข็งกร้าวกับจีนมากขึ้น แต่ยังยึดหลักการสถานะเดิมอยู่  ส่วนพรรค KMT กลายมาเป็นรองทางการเมืองภายในประเทศ จึงต้องแสวงหาความร่วมมือจากจีนมากขึ้น  
    เมื่อประธานาธิบดี Ma Ying-jeou ได้ปกครองประเทศเมื่อปี ๒๕๕๒ ความตึงเครียดกับจีนจึงลดลงเป็นห้วงสั้น ๆ   อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกระหว่างกลุ่มชนในประเทศยิ่งถ่างกว้างขึ้น  

คนไต้หวันรุ่นใหม่ที่เกิดในไต้หวันและยึดถือตนเองว่าเป็นชาวไต้หวันไม่ใช่ชาวจีน มีจำนวนมากขึ้น และเลือกนาง Tsai เป็นประธานาธิบดี ๒ สมัยด้วยคะแนนเสียงร้อยละ ๕๖ ต่อ ๓๑ เมื่อปี ๒๕๕๙ และร้อยละ ๕๗ ต่อ ๓๘ เมื่อปี ๒๕๖๓ สัดส่วน ๒ ต่อ ๑ นี้แตกต่างจากสัดส่วนพอๆ กันสมัย Chen สู้กับ Ma เมื่อ ๒๐ ปีก่อน 
    ไต้หวันจะมีทางเลือกอย่างไรต่อตอนหน้านะครับ.