Remote Work เป็นคำตอบขององค์กรยุคหลังโควิดจริงหรือ?
"Change is inevitable. Change is constant.” เป็นคำกล่าวของ เบนจามิน ดิสราเอลี อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษสองสมัย คำพูดนี้ยังคงเป็นจริงโดยเฉพาะยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะการเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ดิสรัปชันของเทคโนโลยีที่มีต่อการทำงานเป็นเรื่องที่องค์กรทุกขนาดต้องเจอไม่มากก็น้อย สิบกว่าปีที่แล้วอาจเป็นเรื่องแค่การปรับรูปแบบจากช่องทางหน้าร้านไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งที่ทั่วโลกต้องปรับตัวสู่การทำงานในรูปแบบ Remote Work มากขึ้นอย่างไม่มีทางเลือก การปรับพื้นที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องจำเป็นต่อบริษัทในปัจจุบัน
หลายองค์กรในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ต่างให้การตอบรับกับรูปแบบการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เช่น Shopify ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับใช้ในการสร้างร้านค้าออนไลน์หรือเว็บไซต์ E-Commerce แบบสำเร็จรูป มีแผนที่จะส่งเสริมให้มีการ Work From Home มากที่สุดหลังจากปี 2021 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดรับกับนโยบายก่อนหน้าที่ประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าสู่การเป็นบริษัท Digital-by-Default บริษัท Upwork ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฟรีแลนซ์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สนับสนุนให้พนักงานทำงานจากที่บ้านอย่างต่อเนื่อง สานต่อรูปแบบการทำงานในลักษณะ Remote Work ที่ทำมาตลอด 20 ปี เราจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เพียงเพราะคนรุ่นใหม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี หรือเปิดรับกับไลฟ์สไตล์แบบใหม่เท่านั้น แต่เป็นเพราะรูปแบบธุรกิจเอื้ออำนวยต่อรูปแบบการทำงานลักษณะนี้ด้วย
หากมี “ธุรกิจที่เหมาะ” นั่นหมายถึงว่าอาจมี “ธุรกิจที่อาจจะไม่เหมาะ” ต่อ Remote Work ด้วยเช่นกัน?
เมื่อเห็นการตัดสินใจในรูปแบบการทำงานของหลายบริษัทที่กำลังเปลี่ยนแปลง พบว่ามีเหตุบ่งชี้ว่าธุรกิจนั้นๆ เหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้การทำงานแบบ Remote Work ธุรกิจประเภท อีคอมเมิร์ซ OTT เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ รวมถึงการศึกษาและการฝึกอบรมอาจเหมาะกับการทำงานแบบ Remote Work เพราะธุรกิจเติบโตรวดเร็วมาก ทำให้การทำงานแบบ Work from Home มีความเหมาะสม
แต่ในขณะที่บางธุรกิจ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการ และ การขาย ลักษณะงานไม่เอื้อต่อการทำผ่านระบบออนไลน์ หรือถ้าทำได้ ประสิทธิภาพการทำงานหรือ/ยอดขายลดลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานแบบ in-person เพราะเทคโนโลยีไม่อาจทดแทนการสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพนักงาน คู่ค้า ลูกค้าหรือผู้รับบริการได้
นอกจากเรื่องความเหมาะสม ผมมองว่าการสร้างความดึงดูดใจให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เร็วๆ นี้ ผมได้ไปเยี่ยมสำนักงานแห่งใหม่ของ JLL ที่ตึก The PARQ นอกจากออฟฟิศจะตกแต่งได้สวยงามแล้ว การจัดสรรพื้นที่สะท้อนแนวคิดการออกแบบที่ทันสมัย สำนักงานมีพื้นที่ส่วนกลางกว้างขวาง สามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้หลากหลายเพื่อรองรับการทำงาน การประชุม และงานสังสรรค์ในรูปแบบต่างๆ พร้อมยังมีมุมพักผ่อนที่มีอาหารและเครื่องดื่มให้บริการ สร้างบรรยากาศผ่อนคลายในการทำงาน และสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างวันให้กับพนักงาน สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยส่งต่อความรู้สึกที่ดี เอื้อต่อประสิทธิภาพการทำงาน และเชิญชวนให้พนักงานอยากกลับเข้ามาในออฟฟิศกันมากขึ้น
หลายๆ สิ่งที่ได้ประโยชน์ อาจต้องเสียสละมากขึ้นเพื่อแลกกับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการเช่นกัน
เช่น การออกแบบให้ออฟฟิศมีพื้นที่กว้างขวาง ทุกคนสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ อาจหมายถึงพนักงานที่เคยมีโต๊ะประจำ จะไม่มีโต๊ะประจำเลย ผู้บริหารที่มีห้องส่วนตัว อาจไม่มีห้องประจำอีกต่อไป ทุกคนสามารถเลือกโต๊ะทำงานหรือมุมทำงานใดก็ได้เมื่อต้องเข้าสำนักงาน ซึ่งการจัดสำนักงานแบบนี้เรียกว่า Flexible Space แม้มีหลายบริษัทในประเทศไทยได้เริ่มปรับพื้นที่ออฟฟิศให้เป็นแบบ Flexible Space บ้างแล้ว
แต่หลายบริษัทก็กำลังศึกษาที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการใช้สำนักงาน หากต้องการทำงานแบบ Remote Work ก็ต้องกลับมาถามองค์กรของตัวเองว่า ทีมงานของเราพร้อมที่จะสละห้องทำงาน หรือโต๊ะทำงานประจำแล้วหรือไม่?
แม้วันนี้ยังไม่มีบทสรุปเรื่องรูปแบบการทำงานที่ตายตัว และไม่อาจตัดสินได้ว่ารูปแบบไหนถูกหรือผิด เหมาะหรือไม่เหมาะกับธุรกิจประเภทใด ผมคิดว่าการเลือกรูปแบบการทำงานที่เหมาะกับองค์กรของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกระแสสังคมเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่ควรคำนึงมากที่สุดในการออกแบบการทำงานในอนาคตคือ การเตรียมความพร้อมให้แก่องค์กรและพนักงาน ให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจากในออฟฟิศ หรือนอกออฟฟิศ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น