AI Joint Venture วิถีสู้ยักษ์ | ต้องหทัย กุวานนท์
AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในองค์กรขนาดใหญ่ ผลสำรวจล่าสุดโดย McKinsey กับองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกพบว่า 56% ขององค์กรที่ทำการสำรวจมีการใช้เทคโนโลยี AI
ผลสำรวจโดย McKinsey ยังพบว่า หน่วยงานธุรกิจอย่างน้อยหนึ่งหน่วยงานการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2563 หรือก่อนสถานการณ์โควิดถึงเกือบ 20%
การนำ AI เข้ามาใช้งานทำให้ธุรกิจเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้เวลานานในการรวบรวมข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า
บริบทของการใช้งานจะอยู่ที่สามเรื่องหลักๆ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ องค์กรยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมหลักมุ่งเป้าลงทุนในเอไอ เพื่อเป้าหมายที่มากกว่าการได้ Insights แต่เพื่อขับเคลื่อนยอดขายและสร้างผลกำไรทางธุรกิจ
บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลกรายหนึ่งประกาศว่า “เอไอ” ทำให้บริษัทเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคก่อนที่ผู้บริโภคเองจะรู้ตัวเสียอีก
ผู้เล่นรายใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและอุปโภคบริโภคที่กุมอำนาจระบบซัพพลายเชน กำลังเดินหน้าใช้ “เอไอ” อย่างเต็มรูปแบบด้วยการร่วมมือกับสตาร์ทอัพต่างประเทศ เดินหน้าสู่การเป็น Tech Company เพื่อเข้าสู่จุดที่จะสามารถ Plan-Make-Move-Sell-Deliver ได้อย่างแม่นยำ
นั่นคือ วางแผนดีมานด์แม่นยำ-ผลิตตามความต้องการจริง-จัดการโลจิสติกส์ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด-เจาะกลุ่มเป้าหมายตรงจุด- ส่งสินค้าตรงสู่ผู้ต้องการสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และนี่จะเป็นบทสรุปของการเอาเทคโนโลยีเข้าไปควบคุมกลไกตลาดได้อย่างสมบูรณ์
“เอไอ” คือสึนามิขององค์กรไซส์กลางและเป็น “Pain”ที่ต้องเร่งหาทางออก เมื่อองค์กรใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูลและพยากรณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ พื้นที่ของการแข่งขันจะเหลือน้อยเต็มทีสำหรับธุรกิจที่มีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะนำเอา “เอไอ” เข้าไปบริหารจัดการในองค์กร Corporate AI Innovation เป็นสัญญาณอันตรายให้องค์กรขนาดรองลงมาต้องเร่งหากลยุทธ์มาแก้เกม
ข้อมูลจาก Analytics Insights ระบุว่า บริษัทใหญ่ 10 อันดับแรกของโลกครอบครองสิทธิบัตร “เอไอ” กว่า 15% ของนวัตกรรมทั้งหมด ซัมซุงครอบครองสิทธิบัตรกว่า 11,243 สิทธิบัตร ในขณะที่ ซีเมนส์ ไอบีเอ็ม อินเทล ไมโครซอฟท์ ต่างมีสิทธิบัตร “เอไอ” ที่จดทะเบียนแล้วมากกว่ารายละ 2,000 สิทธิบัตร ซึ่งการเข้าถึงนวัตกรรมเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพหรือการเข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพในสายนี้
ความร่วมมือระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับสตาร์ทอัพ เกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น Telstra ยักษ์โทรคมนาคมของออสเตรเลียจับมือกับ Quantium สตาร์ทอัพด้าน AI และ Data ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อนำเอาข้อมูลที่มีมาใช้เพื่อสร้างตลาดใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่
Northwell Health เครือข่ายผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในนิวยอร์คจับมือกับ Aegis Ventures ร่วมสร้างธุรกิจ JV ใหม่ที่นำเอาเอไอโซลูชั่นมาพัฒนาบริการทางสุขภาพรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า
เส้นทางการเข้าสู่วิถี “เอไอ” สำหรับองค์กรขนาดกลาง จำเป็นต้องแสวงหาเพื่อนร่วมทางเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นการจับมือกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือกับพันธมิตรที่อยู่ใน Value Chain ตั้งธุรกิจร่วมทุนและดึงเอาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาร่วม เพื่อให้มีทรัพยากรข้อมูลมากเพียงพอในการนำไปใช้งานและต่อยอดในเชิงพาณิชย์
AI Joint Venture อาจจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดในการแข่งขันยุคที่ เอไอ จะเป็นคำตอบของการแข่งขันทางธุรกิจ
คอลัมน์ : Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม