โอกาสของประเทศไทยกับรถไฟลาว-จีน (ตอน 2) | วิกรม กรมดิษฐ์

โอกาสของประเทศไทยกับรถไฟลาว-จีน (ตอน 2) | วิกรม กรมดิษฐ์

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน เริ่มจากการซื้อเทคโนโลยีของบริษัท Siemens จากประเทศเยอรมนี เป็นการนำต้นฉบับเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ มาเรียนรู้และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมก่อนนำมาปรับใช้เป็นของตัวเอง

ปัจจุบันประเทศจีนสามารถผลิตรถไฟความเร็วสูงใช้เองได้ และมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงยาวมากกว่า 36,600 กิโลเมตร ความยาวนับเป็น 2 ใน 3 ของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของโลก และประเทศจีนสามารถก่อสร้างทางรถไฟนี้ได้ในราคาต้นทุนที่ถูกที่สุดในโลก ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามาด้วยตนเองจากการเรียนรู้ ศึกษา วิจัยเทคโนโลยีต้นแบบจากเยอรมัน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

ส่วนของประเทศไทยประโยชน์ที่เราจะได้รับจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้คือจะก่อให้เกิดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในภาคอีสานหลายๆ จังหวัด อาทิ อุดรธานี หนองคาย นครพนม ทางภาคอุตสาหกรรมมีการตื่นตัวเตรียมแผนการลงทุนทำธุรกิจรองรับการเติบโตดังกล่าว มีภาคเอกชนหลายแห่งเริ่มสร้างโกดังสินค้า สร้างระบบโลจิสติกส์ หรือธุรกิจด้านโลจิสติกส์เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าปัจจุบันการเชื่อมต่อในระบบต่างๆ จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นก็ตาม

ถึงแม้ว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะยังไม่ได้เชื่อมต่อกับนครหลวงเวียงจันทร์โดยตรง แต่ก็ยังส่งผลให้เกิดความสะดวกในเรื่องของการเดินทาง การขนส่ง มากขึ้น โอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีน โอกาสที่จะสามารถส่งสินค้าเข้าไปในประเทศจีนผ่าน สปป.ลาว จะมีความใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมมองว่า ประชาชนในภาคอีสานจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีรถบรรทุกคอนเทนเนอร์จากประเทศจีนมาส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง และขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังเข้าสู่ประเทศจีนเป็นจำนวนมากถึงวันละประมาณ 700 - 800 คัน แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่ที่ประมาณ 100 คัน 

เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงตรงนี้เข้ามาทำหน้าที่ ช่วยในการขนส่งอีกทางหนึ่งก็จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกลง มีความรวดเร็วมายิ่งขึ้น ประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์ตรงนี้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและการท่องเที่ยว

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเที่ยวประเทศไทยปีละประมาณ 10 ล้านคน แต่เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาเชื่อว่าน่าจะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงในส่วนของคนไทยก็สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศจีนได้สะดวกเพิ่มมากขึ้น 


นอกจากนี้ก็ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยสูงถึง 40 ล้านคนที่อาจมีความสนใจใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้ท่องเที่ยวต่อยังประเทศจีนด้วยเช่นกัน

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์คือเรื่องของการลงทุน ที่มีการขยายตัวออกจากประเทศจีนที่ออกสู่ภูมิภาคอื่นเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาประเทศจีนนำความเจริญไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ด้วยการเข้าไปลงทุน เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

โอกาสของประเทศไทยกับรถไฟลาว-จีน (ตอน 2) | วิกรม กรมดิษฐ์

ส่วนที่หลายๆ คนกังวลว่าประเทศไทยจะเกิดความเสียหายประสบปัญหาในการค้าขายสินค้าของไทยภายในประเทศ เพราะมีสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามา ผมยังเชื่อว่าทั้งเกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า และนักธุรกิจ ของประเทศไทยจะสามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์นี้ได้ หากเราสามารถปรับตัวได้เราจะมองเห็นโอกาสที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล 

การที่สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาสู่ประเทศไทย ก็จะช่วยทำให้ประชาชนคนไทยสามารถลดค่าครองชีพลงได้ ส่วนสินค้าไทยที่สามารถผลิตได้ในพื้นที่เขตร้อนก็ยังคงได้รับความสนใจและความต้องการ จากประเทศจีนเช่นเดิมหรืออาจเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการขนส่งที่สะดวกขึ้น หากเรามองเห็นจุดนี้รถไฟความเร็วสูงเส้นทางลาว - จีนนี้ ก็จะช่วยสร้างโอกาส สร้างสิ่งที่เรียกว่าอนาคต ให้กับตลาดไทยได้นั่นเอง

ที่ผ่านมาเคยได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของอมตะที่เข้าไปคลุคลี่อยู่ที่ สปป.ลาว ทราบว่าประชาชนในสปป.ก็มีข้อวิตกกังวลบ้างแต่อาจไม่มากเท่าไหร่ เนื่องจากหลักๆ แล้วสปป.ลาวไม่ได้มีอุตสาหกรรมสายการผลิตตั้งอยู่ในประเทศโดยตรง สินค้าส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาจาก 3 ประเทศหลักที่มีชายแดนดินกับ สปป.ลาว อาทิ เวียดนาม จีน และไทย  

ประชาชนส่วนใหญ่จะบริโภคสินค้าตามภูมิภาคที่อยู่อาศัย เช่น ประชาชนที่อยู่ทางตอนเหนือของสปป.ลาว ก็จะใช้สินค้าจากประเทศจีน ส่วนประชาชนทางตะวันออกก็จะใช้สินค้าจากประเทศเวียดนาม ส่วนสินค้าจากประเทศไทยถูกใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มของผู้มีรายได้สูงเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

เมื่อมีรถไฟเส้นทางสายนี้ที่เปิดใช้งานส่งผลให้ค่าขนส่งถูกลงก็จะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะนำสินค้าเข้าไปขายในสปป.ลาวได้เพิ่มมากขึ้น หากในอนาคตระยะยาวมีอุตสาหกรรมการผลิตเกิดขึ้นได้ในสปป.ลาว และราคาต้นทุนสามารถแข่งขันได้ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่ขึ้นอีกครั้งหนึ่งได้ 

แต่อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่ารถไฟความเร็วสูงเส้นทางลาว-จีนนี้ ก็จะสร้างโอกาสที่ดีให้กับทั้งสปป.ลาวและประเทศไทยได้ เพียงทุกฝ่ายต้องปรับตัวพร้อมรับกับการเติบโตในครั้งนี้โดยเฉพาะ สปป.ลาวที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน.