จัดสรรเวลาหาความสุข
เมื่อจัดสรรเวลาและแบ่งความรับผิดชอบได้ดีแล้ว การทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มจะราบรื่นและง่ายมากขึ้น
ภาวะการเป็นตัวกลางในครอบครัวหรือเป็นแซนด์วิชแฟมิลี่ ถือเป็นปัญหาที่ครอบครัวสมัยใหม่หนีไม่พ้น เพราะต้องรับภาระทั้งครอบครัวเดิมคือพ่อแม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา กับครอบครัวของตัวเองคือสามีหรือภรรยาและลูก ๆ
ทั้งนี้ ผมไม่อยากให้มองเป็นภาระหรือความรับผิดชอบแต่เพียงแง่เดียว เพราะในแง่หนึ่งมันก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ทำในหลายสิ่งหลายอย่างที่ควรทำประการแรกคือได้ดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด และประการที่สองในเรื่องเศรษฐกิจก็ทำให้เราต้องวางแผนการลงทุนและการออมอย่างเป็นระบบ
ต่อกันในประการที่สามคือภาระงานบ้าน ซึ่งครอบครัวสมัยใหม่แม้จะมีฐานะดีกว่าเดิมโดยเฉลี่ยแต่การหาคนทำงานบ้านกลับไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะแรงงานสมัยใหม่ไม่สนใจทำงานบ้านแต่เน้นไปที่อุตสาหกรรมอื่นเป็นหลัก
ในขณะที่ครอบครัวในปัจจุบันก็มักจะทำงานกันทั้งสามีภรรยา รวมไปถึงปู่ย่าตายายที่หากอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยายก็อาจยังคงทำงานอยู่เช่นกัน การทำงานบ้านหลังจากเหน็ดเหนื่อยกลับมาจากการทำงานประจำจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนา
การทำงานบ้านจึงอาจเป็นโอกาสที่ให้สมาชิกในครอบครัวแบ่งเบาภาระรับผิดชอบร่วมกัน โดยให้แต่ละคนรับผิดชอบงานกันคนละเล็กคนละน้อย โดยฉพาะลูกหลานที่ควรต้องรับผิดชอบงานบ้านเพื่อเสริมสร้างนิสัยและวินัยที่ดีในการอยู่ร่วมกับคนอื่น
การทำงานบ้านร่วมกันอาจทำให้สมาชิกครอบครัวต้องเหน็ดเหนื่อยเพิ่มขึ้นจากภาระที่เพิ่มขึ้นแต่ก็อาจเป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้เวลาร่วมกัน และทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นพลังจากการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ร่วมกันแต่ทำให้บ้านน่าอยู่ขึ้นมาก
ประการที่สี่ มีเวลาเท่าไรก็ไม่พอ เพราะลำพังแค่ทำงานประจำกับดูแลครอบครัวของตัวเองก็แทบจะกินเวลาแต่ละวันไปหมดแล้ว ยิ่งมีภาระต้องดูแลพ่อแม่ แถมด้วยงานบ้าน ตามด้วยสังคมเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ฯลฯ ไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนมาเพิ่มเพื่อให้เพียงพอกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่งอกเงยขึ้นมา
สิ่งที่น่าคิดก็คือทุกคนบนโลกไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือยาจกก็ล้วนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน เช่นเดียวกับนักธุรกิจหมื่นล้านที่มีธุรกิจให้ดูแลมากมายทั่วโลก กับคนว่างงานที่ไม่มีงานอะไรให้ทำก็มีเวลาเท่ากันคือ 24 ชั่วโมงไม่มีใครสามารถเพิ่มหรือลดจำนวนชั่วโมงหรือนาทีได้ตามที่ตัวเองต้องการ
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การจัดสรรเวลาให้กับกิจกรรมที่ต้องทำให้เหมาะสม และเรียงลำดับความสำคัญกับงานที่ต้องทำในแต่ละวันให้พอดี ไม่ว่าจะมีงานหรือกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวันมากแค่ไหน ก็ต้องจัดลำดับออกมาให้ชัดเจน 10 เรื่องหรือ 20 เรื่อง ก็ต้องเขียนออกมาให้ครบไม่ตกหล่น
เมื่อจัดลำดับความสำคัญได้แล้ว เราก็เน้นกับงานหรือกิจกรรมที่สำคัญที่สุดก่อน ซึ่งงานที่สำคัญที่สุดนั้นอาจทำให้งานลำดับรอง ๆ ลงมาง่ายและเร็วขึ้น งานที่เหลือจึงทำให้เสร็จและครบถ้วนได้ไม่ยากเลย และยิ่งทำบ่อย ๆ เราก็อาจเห็นว่าการเน้นทำงานสำคัญให้เสร็จก่อนสัก 5-6 เรื่องก็อาจเพียงพอกับงานในวันนั้นแล้ว เพราะงานสำคัญบางเรื่องอาจมีผลถึง 80% ของงานทั้งหมด
เมื่อจัดสรรเวลาและแบ่งความรับผิดชอบได้ดีแล้ว การทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มจะราบรื่นและง่ายมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือโอกาสที่เราจะใช้เวลาในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขมากขึ้นเช่นกัน..ติดตามข้อต่อๆไปในอาทิตย์หน้าครับ