ส่อง 10 ปรากฏการณ์ค้าปลีกไทยปี 2565-2566

ส่อง 10 ปรากฏการณ์ค้าปลีกไทยปี 2565-2566

โควิด-19 ระบาดมานานกว่า 2 ปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในการใช้ชีวิต และพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้คน คนทั้งโลกรวมถึงประเทศไทย ต้องสูญเสียและเจ็บป่วยจากไวรัสเป็นจำนวนหลายร้อยล้านคน เศรษฐกิจก็พังพินาศ ต้องหามาตรการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างมากมายและหลากหลาย

ไม่เว้นแม้แต่ “อุตสาหกรรมค้าปลีกและบริการ” ที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานแก่ประชาชน

โลกการค้าปลีกซึ่งเป็นช่องทางหลักในการกระจายสินค้า มีการแข่งขันอย่างดุเดือด ไม่เว้นทั้งออฟไลน์/ออนไลน์ ผู้ประกอบการ ต้องตามให้ทันปรากฏการณ์ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ผู้เขียนจะนำเสนอ 10 ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงโลกการค้าปลีก ที่น่าจะได้เห็นได้รู้ในช่วงปี รับปี 2565 ต่อ 2566 มีดังนี้

ความสะดวกต้องมา ร้านค้ามีค่าเท่ากันหมด

"Omni Channel" จะเป็นช่องทางหลักของการจับจ่าย สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ประชาชนเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลออนไลน์มากยิ่งขึ้น ธุรกิจต่างๆ หันมาชำระเงินที่เป็น E-commerce มากยิ่งขึ้น ค้าปลีกออนไลน์เติบโตขึ้นมาก ทั้งออนไลน์ของร้านค้าและบนแพลตฟอร์ม Market Place Commerce และ Social Commerce จนทำให้ช่องทางการขายหน้าร้านแทบไม่มีความแตกต่าง ความสะดวกสามารถหาได้จากร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตพอๆ กับร้านสะดวกซื้อ คงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อองุ่น Korean Shine Muscat ราคากิโลกรัมละ 2,199 บาท มีขายในร้านสะดวกซื้อ และร้านสะดวกซื้อติดป้ายขายสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตกันอย่างเอิกเกริก ผู้บริโภคหาซื้อสินค้าแบรนด์หรูราคาถูกผ่านร้านค้าทั่วไปและง่ายขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาดิวตี้ฟรี

หน้าร้านจะเป็นหน้าตา การส่งมอบจะเป็นหัวใจ

เคยมั้ย? ไปถึงหน้าร้านแล้วแต่ขอส่องราคาในเว็บหรือแอพพลิเคชั่นออนไลน์ชอปปิงเพื่อเช็คราคาก่อนซื้อ ผู้บริโภคกว่า 37% ใช้ SOCIAL MEDIA เพื่อเช็คข้อมูลสินค้าและแบรนด์ก่อนตัดสินใจซื้อเร็ว Retail physical spaces are shrinking หน้าร้านจะเป็นหน้าตาเพื่อสร้างแรงจูงใจและประสบการณ์แก่ลูกค้า การส่งมอบ Delivery จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความพึงพอใจของลูกค้า Delivery การส่งมอบ ไม่ได้หมายถึงเพียงการส่งสินค้าถึงบ้าน แต่การส่งมอบจะมีความหมายถึงการส่งมอบในทุกกระบวนการและในทุกช่องทาง

พอกันทีโซนนิ่งแยกหมวดหมู่สินค้าและบริการ

ในอดีตการเดินภายในห้างสรรพสินค้า แบ่งแยกโซนชัดเจน เช่น พื้นที่บริการ กับพื้นที่ขายสินค้า และในแต่ละชั้นได้แบ่งแผนกตามประเภทสินค้า แต่ละชั้น แต่ละพื้นที่แบ่งสินค้าและบริการออกจากกัน เช่น บริการด้านการเงิน สินค้าเทคโนโลยี สินค้าแฟชั่น ร้านหนังสือและอุปกรณ์เครื่องเขียน ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ฯลฯ แต่การดีไซน์ในอนาคต พื้นที่ในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ จะทลายกรอบด้านการจัดโซนนิ่งแบบเดิมๆ ที่เคยเป็นมา และกลายเป็นการดีไซน์ที่เรียกว่า Blurring the Line นั่นคือ ไม่มีเส้นแบ่งการจัดโซนนิ่ง สินค้า-บริการ-ประเภทร้านค้า อีกต่อไป สอดคล้องกับทิศทางกระแสการค้าโลกที่จะไม่มีเขตแบ่งกั้นพรมแดน

คู่แข่งมีมากมายข้ามสายพันธุ์จากทั่วทิศ

หากเราพูดถึงคู่แข่งตามนิยามของโลกธุรกิจยุคอนาล็อกเรามักจะนึกถึงบริษัทคู่แข่งที่ขายสินค้าคล้ายๆ กับเรา แต่การเข้ามาของ ดิจิทัลเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้พรมแดนการแข่งขันนั้นเบลอลงเรื่อยๆ คู่แข่งในปัจจุบันมีธรรมชาติที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องเป็นคู่แข่งทางตรงในธุรกิจเดียวกัน ขายสินค้าเหมือนกัน กลายเป็นเราต้องแข่งกับธุรกิจอื่นที่เราไม่คาดคิดอย่าง Shoppee Lazada หรืออย่าง Netflix แต่เดิม Netflix นั้นจะเป็น content ด้านบันเทิงที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับบริษัทร้านให้เช่าแผ่นหนังอย่าง Blockbuster แต่ต่อมา ธุรกิจคอนเทนท์ดิจิทัลของ Netflix ขยายตัวและหลากหลายมากขึ้น ทำให้ Netflix กลายเป็นคู่แข่งของสื่อบันเทิงอื่นๆทั้งทวี ช่องสารคดี โรงภาพยนตร์รวมไปถึงศูนย์การค้าที่ถูก Netflix แย่งเวลาไป ด้วย หรืออีกตัวอย่างที่ใกล้ตัวก็คือ บรรดาสถาบันการเงินแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยี Fin-Tech โดยไม่คาดคิดว่า Technology อย่าง Facebook Grab จะมาพัฒนา Tech-Fin แย่งลูกค้าสินเชื่ออย่างเหลือเชื่อ

ค้าปลีกยุคใหม่ต้องครบสูตร Omni+Platform

ค้าปลีกยุคใหม่ คือการเอาเทคโนโลยีมาเสริมพลังให้กับร้านค้าปลีกแบบออฟไลน์ เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า พูดง่ายๆ คือการเชื่อมต่อประสบการณ์ระหว่างการชอปปิงออนไลน์กับออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ เพียงแค่มี Omni Channel ยังไม่พอ ค้าปลีกยุคใหม่ต้องมีแพลทฟอร์มแอพพิเคชั่นที่เชื่อมต่อหลายๆ โมดูล นับตั้งแต่

1.โมดูลการค้าขาย Commerce

2.โมดูลการชำระเงินบนแอพทุกรูปแบบ

3.โมดูลการจัดส่งสินค้า Logistics

4.โมดูลช่องทางการรับสินค้าที่มีให้เลือกหลายช่องทาง จะไปรับสินค้าที่สาขาหน้าร้าน หรือส่งถึงหน้าบ้าน

5.รวมถึงโมดูลช่องทางการสื่อสารและบริการลูกค้าที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดเอาไว้ เพื่อทำให้การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว จากนั้นก็พัฒนาสู่การเป็น Super App Commerce แอปที่สามารถทำได้ทุกอย่าง มีทุกอย่างอยู่ในแอปเดียว เช่น ซื้อสินค้า การสั่งอาหาร จองเครื่องบิน ส่งสินค้า ฯลฯ ทำทุกอย่างได้ ขยายบริการครบจบที่เดียว

Digital Technology Retail ธุรกรรมทุกอย่างจะอัจฉริยะ

แนวโน้มการค้าต่อไปจะเริ่มเป็นอัตโนมัติมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ ตู้ขายของอัตโนมัติ เช่น เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้ซื้ออาหาร ตู้ขายอาหารสัตว์ สารพัดตู้อัตโนมัติ เป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ดีมาก ขายของได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้คนเลย

Smart Shopping Cart รถเข็นสินค้าอัจฉริยะ ประกอบด้วยเครื่องมือในการสแกนบาร์โค้ด หรือ คิวอาร์โค้ด ที่แคชเชียร์ใช้กัน ตรวจสอบราคา สแกนดูข้อมูลสินค้าจนถึงชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตหรือกระเป๋าสตางค์ Wallet ได้เลย

Automation Beacon checkout การชำระค่าสินค้าอัตโนมัติโดยไม่ต้องผ่านเคาน์เตอร์แคชเชียร์เลย

Real-Time customer tracking and analytics ระบบติดตามการเคลื่อนไหวลูกค้าเพื่อจะได้รู้ว่าทำเลในร้านค้าตรงไหนฮอตฮิตตรงไหนผีหลอก

Mobile engagement เชื่อมต่อทุกสิ่งบนมือถือ หาข้อมูล จนถึงชำระเงิน

กล้อง AI กับการตรวจเช็คสต็อกชั้นวางสินค้า ลดระยะเวลาและได้ประสิทธิภาพในการตรวจชั้นวางสินค้าได้ดีขึ้น

ป้ายราคา ESL เป็นการเปลี่ยนจากป้ายกระดาษสู่ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Shelf Label) หลากหลายขนาด รวมกว่า 8,000 ชิ้น ซึ่งควบคุมการสั่งงานผ่านส่วนกลาง เชื่อมโยงข้อมูลกับสินค้า รายละเอียด โปรโมชั่น ตำแหน่งจัดวาง ช่วยลดปัญหาราคาไม่ตรงป้ายและลดขยะจากป้ายกระดาษ ทั้งยังสามารถเปลี่ยนราคาสินค้าได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 40 วินาที

Face gesture recognition การรับรู้ตัวตนผ่านการสแกนใบหน้า

Smart mirror กระจกอัจฉริยะให้ภาพการลองเสื้อผ้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายเสมือนจริงราวกับได้ลองเอง

Retail ต้องคิดใหม่ทำใหม่ เรื่อง Sizing และ Location

"ขนาดร้านค้า" ที่เคยเล็กต้องขยายเพิ่ม ร้านค้าที่เคยใหญ่ก็หดลดลงร้านค้า ขนาด Hypermarket ก็อาจต้องลดพื้นที่จากเดิม 8,000-12,000 ตร.ม. ก็ต้องลดลงมาเหลือ 4,000-6,000 ตร.ม. ด้วยรัศมีการค้าหดเล็กลง และ เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยี เมตา VR และ AR ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เก็บสต็อกเยอะๆ ขณะที่ร้านค้าสะดวกซื้อ อาจต้องเพิ่มพื้นที่จากต้นแบบดั้งเดิม 80-100 ตร.ม. ก็ต้องเป็น 250-300 ตร.ม. มีที่จอดรถสะดวกสบาย ไม่ต้องอยู่บนถนนใหญ่ก็ได้

"โลเคชั่น" ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ อีกต่อไป เพราะการค้าจะอยู่บนมือถือ Mobile Commerce ทำเลจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ของค้าปลีกอีกแล้ว การพัฒนาเมือง การเพิ่มเส้นทางคมนาคม ส่งผลให้ธุรกิจต้องมาทบทวนการหาทำเลร้านค้ากันใหม่ อย่างร้านอาหาร ก็จะมี Cloud Kitchen ซึ่งจะเป็นแค่จุด pick up ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในศูนย์การค้าหรือติดถนนใหญ่อีกแล้ว

Private Labels มาแน่ แต่ต้องเป็นนวัตกรรมไม่ใช่ลอกเลียน

เมื่อการแข่งขันทางออนไลน์ ออฟไลน์ Platform Commerce เป็นอย่างดุเดือด การสร้างความแตกต่างเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน หนึ่งในปัจจัยที่ทำได้คือ มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ร้านค้า แต่ Private Brand ที่จะสร้างขึ้น ต้องไม่ใช่สินค้าพื้นๆแค่ไปก็อปปี้แบรนด์คนอื่น แต่ต้องเป็นสินค้านวัตกรรมในมิติ BCG

D2C ขายตรงจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค เริ่มเติบโต

D2C will Kill Middle Man การขายตรงของผู้บริโภค เมื่อก่อนเราจะขายของ สินค้าจากโรงงานผ่านตัวกลาง ค้าส่ง ตัวแทน ค้าปลีก จนถึงผู้บริโภค ในปัจจุบัน ออนไลน์สามารถขายตรงผู้บริโภคได้เลย โดยไม่ผ่านตัวกลาง ภาวะการแข่งขันของตลาดทำให้ต้องปรับตัว คนที่ได้รับผลกระทบคือพ่อค้าคนกลาง ต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นคุณจะหายไปจากท้องตลาด

B2B E-Commerce Marketplace ธุรกิจที่กำลังเริ่มตั้งไข่แต่ไม่ง่าย

แนวคิด B2B E-Commerce Marketplace ในไทยเริ่มก่อร่างขึ้นมา 1-2 ปีที่ผ่านมา จากตัวเลขร้านค้าปลีกขนาดย่อม ร้านโชห่วยกว่า 4 แสนราย ยั่วยวนให้บริษัทเทค สตาร์ทอัพ พุ่งความสนใจมายัง B2B E Commerce Marketplace กันอย่างมากมาย แต่ผู้ที่จะประสบความสำเร็จ B2B E-Commerce Marketplace ในโครงสร้างค้าส่งไทยจะต้องมีสินค้าจำหน่ายได้อย่างอิสระ ไม่ผูกพันข้อตกลงขอบเขตการขายกับซัพพลายเออร์ และต้องใหญ่พอที่ซัพพลายเออร์เกรงใจ

ต้นแบบอีคอมเมิร์ซมาร์เก็ตเพลสแบบ B2B อย่าง 1688.com ของ อาลีบาบา เป็นแพลต์ฟอร์มค้าส่งในประเทศจีน มี ซัพพลายเออร์มากกว่า 5 แสนซัพพลายเออร์ในระบบ มีสินค้ากว่า 150 ล้านชนิด หรืออย่าง IndiaMart แพลตฟอร์ม E-Commerce B2B อันดับต้นๆในอินเดียที่มีสมาชิกกว่า 14 ล้านร้านค้า ล่าสุด แม็คโคร ค้าส่งรายใหญ่ของประเทศก็ประกาศจะเสริมทัพด้วย B2B E-Commerce Marketplace

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด