บทเรียนเศรษฐกิจปีนี้จาก “กล่องดำ” | บัณฑิต นิจถาวร
เราคงเคยได้ยินคำว่า “กล่องดำ” หมายถึงเครื่องมือที่สายการบินใช้บันทึกข้อมูลเครื่องบินระหว่างบิน รวมถึงบทสนทนาและการสื่อสารในห้องนักบิน เพื่อเป็นข้อมูลใช้ในกรณีที่เครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ
ข้อมูลจากกล่องดำจะทำให้ทราบว่า อะไรเกิดขึ้นในช่วงที่เครื่องบินบินอยู่ ทั้งเรื่องการทำงานของตัวเครื่องบินและการทำหน้าที่ของนักบิน กล่องดำถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อเกือบเจ็ดสิบปีก่อนหลังมีเหตุการณ์เครื่องบิน Comet 1 ที่ผลิตในอังกฤษตกติดต่อกันหลายครั้งและหาสาเหตุไม่ได้
จนแนวคิดเรื่องกล่องดำอุบัติขึ้น และถูกนำมาใช้เป็นการทั่วไปจนถึงทุกวันนี้เพื่อบันทึกข้อมูลระหว่างบิน ซึ่งได้ทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินปลอดภัยมากขึ้น เพราะทุกครั้งที่เครื่องบินตก ข้อมูลจากกล่องดำก็จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาและข้อผิดพลาด ทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินยิ่งปลอดภัยมากขึ้น
แนวคิดเรื่องกล่องดำหรือ Black Box Thinking ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐ คือ เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหา เพื่อนำมาสู่การแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ ให้ผลที่ออกมาในอนาคตดีกว่าเดิม
วันนี้จึงอยากจะเปิดกล่องดำของการทำนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศและสากลว่า เราเรียนรู้อะไรบ้างจากปีที่ผ่านมา เพื่อการทำนโยบายที่ดีขึ้นในปีหน้า นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ข้อมูลจากกล่องดำที่จะเขียนถึงวันนี้มีสองเรื่อง เรื่องแรก คือ ความเหลื่อมล้ำในการกระจายวัคซีน ที่การระบาดของโควิด-19 จะไม่จบตราบใดที่การระบาดยังมีอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในโลก และการระบาดจะจบก็ต้องมาจากความร่วมมือของคนทั่วโลกที่จะร่วมกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ของโลก
ปีนี้เป็นปีที่สองของการระบาดของโควิด-19 และบทเรียนสำคัญปีนี้คือ การระบาดกลับมาได้เป็นรอบๆ ตราบใดที่การระบาดยังมีอยู่ในโลกแม้จะมีการฉีดวัคซีน ตัวอย่างล่าสุดคือ ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์จากแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อัตราส่วนระหว่างการระบาดกับผู้ได้รับวัคซีนต่ำมาก คือ ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มของคนทั่วโลกจะอยู่ที่ร้อยละ 57 ของประชากร ประเทศรายได้ต่ำจะมีอัตราการฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มเพียงร้อยละ 8
ความแตกต่างนี้ ทำให้การระบาดยังมีอยู่ในประเทศรายได้ต่ำ ทำให้เชื้อไวรัสฝังตัวอยู่ได้นานและมีการกลายพันธุ์ เป็นเชื้อใหม่ที่สามารถกลับมาระบาดในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนแล้วจากการเปิดประเทศและเดินทางระหว่างกัน เช่น กรณีการระบาดของโอมิครอนในยุโรปและสหรัฐอเมริกาขณะนี้
ดังนั้น การหยุดการระบาดต้องมุ่งไปที่การกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ของโลก พร้อมกับมาตรการควบคุมการระบาดที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ คือ ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือ ต้องทำให้เป็นวินัยเพื่อให้การระบาดลดลงอย่างจริงจังและสิ้นเชิง
การระบาดคราวนี้ ถ้าเทียบกับกรณีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน (1918-1920) การระบาดคราวนี้การแก้ไขปัญหาน่าจะได้เปรียบ เพราะความก้าวหน้าด้านการแพทย์และการคิดค้นวัคซีนที่ร้อยกว่าปีก่อนไม่มี ทำให้เราน่าจะหยุดการระบาดได้เร็ว แต่การระบาดคราวนี้ยังไม่จบและกำลังขึ้นปีที่สามแม้มีวัคซีน
สาเหตุหลักถ้าเทียบกับกรณีไข้หวัดใหญ่สเปนและไม่นับเรื่องกระจายวัคซีนก็คือ การขาดวินัยของคนในสังคมที่ไม่พร้อมจะช่วยกันลดการระบาดโดยการใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง อย่างเคร่งครัด ขณะที่ภาครัฐเองก็อยากเร่งเปิดประเทศโดยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ทำให้การเดินทางติดต่อระหว่างกันมีอยู่ตลอดเวลา เป็นพาหนะให้เชื้อไวรัสแพร่ไปทั่วโลกได้ง่ายและเร็ว
การขาดวินัยนี้เทียบกับเมื่อร้อยปีก่อนทำให้การระบาดของโควิด-19 แก้ไขยาก สำหรับประเทศเรา ถ้าต้องการลดหรือชะลอการระบาดก็ต้องแก้จุดอ่อนเรื่องวินัยนี้ เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้การระบาดใหญ่เกิดขึ้น เรียนรู้จากบทเรียนปีนี้คือ
1) เฝ้าระวังและเข้มงวดการแพร่เชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผ่านช่องทางที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดการแพร่เชื้อในประเทศ
2) เร่งฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศทั้งคนไทยและต่างชาติ
3) เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขที่จะรับมือ นี่คือสามเรื่องที่ต้องทำ แต่สำคัญสุด คือ ความร่วมมือของประชาชนในการลดการระบาดอย่างมีวินัย
ข้อมูลจากกล่องดำเรื่องที่สอง คือ การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐอย่างเกินตัว สามารถทำให้ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ ทั้งในแง่ปัญหาหนี้ภาครัฐและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง การอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากจนประชาชนเดือดร้อน ซึ่งตุรกีกำลังเป็นตัวอย่างให้เห็นในเรื่องนี้
ตุรกีมีรัฐบาลอำนาจนิยมที่ใช้การกู้เงินจากต่างประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตมาก แต่ประเทศขาดเสถียรภาพจากฐานะการคลังที่อ่อนแอ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นเลขสองหลัก กระทบอำนาจซื้อและความเป็นอยู่ของประชาชน
ที่สำคัญเมื่อเกิดปัญหา รัฐบาลไม่ยอมแก้ปัญหาอย่างที่ควรทำ แต่กลับทำในสิ่งที่ตรงข้าม คือลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แทนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการใช้จ่ายและดูแลเรื่องเงินเฟ้อ ผลคือนักลงทุนต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เกิดเงินทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนลงเกือบ 5 เท่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา จาก 3.76 ลีรา (Lira) ต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ สิ้นปี 2017 เป็น 14.80 Lira ต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 15 ธันวาคมปีนี้
การอ่อนลงของค่าเงินทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อประเทศตุรกีอยู่ที่ร้อยละ 21.3 เดือนพฤศจิกายน แต่รัฐบาลก็ยังไม่พร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหา เพราะห่วงผลที่จะมีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ปัญหาของตุรกีสะท้อนให้เห็นถึง Dilemma หรือข้อขัดแย้งในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่จะมีมากขึ้นในปีหน้าในหลายประเทศ ที่รัฐบาลห่วงเรื่องเศรษฐกิจฟื้นตัวมากกว่าเรื่องเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพของประชาชนและไม่ยอมแก้ปัญหาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ปัญหาไม่มีการแก้ไขและบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ยาก
สำหรับประเทศเราปีหน้า รัฐบาลก็จะเจอ Dilemma แบบนี้เช่นกัน ทำให้การทำนโยบายต้องมองรอบด้าน ทั้งผลระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศเกิดสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติ
นี่คือสองข้อคิดใหญ่ที่ได้จากการทำนโยบายปีนี้ มองจากประสบการณ์ความสำเร็จและความไม่สำเร็จทั่วโลก.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]