จุดเน้นนโยบายภูมิอากาศของสหภาพยุโรปหลัง COP26 | EU watch
แม้ในการประชุม COP26 สหภาพยุโรป (อียู) จะไม่สามารถโน้มน้าวประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกอย่างจีนและอินเดีย ให้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับการเลิกใช้ถ่านหิน แต่ก็มีความคืบหน้าในหลายเรื่อง
ในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้กลับมาร่วมมือกับสหภาพยุโรปเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอีกครั้ง
จนสามารถผลักดันให้หลายประเทศเพิ่มเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ เช่น อินเดียประกาศลดการปลดปล่อยเหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2070 และภายในปี ค.ศ. 2050 สำหรับบราซิลและเวียดนาม
ในส่วนประเทศไทยก็ได้มีการประกาศเป้าหมายใหม่ว่าจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2565 นอกจากนี้ ยังมีการประกาศข้อริเริ่มความร่วมมือใหม่ ๆ เช่น ลดการใช้ถ่านหิน ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และการอนุรักษ์ป่าไม้
หลังจากการประชุม COP26 อียูในฐานะผู้นำด้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ย้ำความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจของตนเองตามแผนนโยบาย European Green Deal และการดำเนินนโยบายต่างประเทศผ่านมาตรการการค้าและการทูตด้านภูมิอากาศเพื่อเร่งให้ทั่วโลกร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 45 ภายในปี ค.ศ. 2030
อียูมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ภายในปี ค.ศ. 2030
อียูได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 ขึ้นเป็นกฎหมาย และตั้งเป้าหมายระยะกลางในการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีชุดกฎหมาย “fit for 55 package” เป็นตัวขับเคลื่อน
ตัวอย่างมาตรการของอียู เช่น การปรับปรุงระบบตลาดคาร์บอนเครดิตในสหภาพยุโรป หรือ EU-ETS เพื่อลดการปล่อยก๊าซสำหรับการบินและการเดินเรือ และเพิ่มอัตราส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 ภายใต้กฎหมาย Renewable Energy
นอกจากนั้น ยังเน้นพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจนและแบตเตอรี่ ไปพร้อมกับการปฏิรูปภาคการเงินเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในกิจการที่เป็นคุณต่อสภาพอากาศ และลดการลงทุนในพลังงานฟอสซิล
มาตรการทางการค้าเพื่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
อียูมีแนวโน้มจะใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ เพื่อให้คู่ค้าต้องปรับปรุงมาตรฐานสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มิฉะนั้น ก็อาจถูกเรียกเก็บค่าภาษีคาร์บอน หรือไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในอียูได้
ตัวอย่างเช่น การใช้มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism -CBAM) สำหรับการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ซีเมนต์ หรือเหล็ก ล่าสุดสหรัฐก็เริ่มหันมาพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ อียูกำลังจัดทำกฎหมายเพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าฉบับใหม่ โดยมุ่งควบคุมสินค้า 6 ประเภทซึ่งอียูมองว่าส่งผลทำลายป่าสูง ได้แก่ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว โกโก้ กาแฟ และไม้
อีกทั้งกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องพิสูจน์ว่าเป็นสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (deforestation-free products) เช่น การแสดงพิกัดภูมิศาสตร์ของแหล่งเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นพื้นที่ป่ามาก่อนหรือไม่
ต้นปี ค.ศ. 2565 อียูน่าจะเริ่มการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญอีกฉบับคือ กฎหมาย Due Diligence เพื่อให้บริษัทและธุรกิจต่างๆ มีความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลตลอดห่วงโซ่การผลิต
พร้อมไปกับมาตรการ Digital product passport เพื่อให้ผู้บริโภคเรียกตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการผ่านระบบดิจิทัล
ขณะที่ฝรั่งเศสในฐานะประธานหมุนเวียนของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในช่วงครึ่งปีหน้าหนุนให้มีการยกระดับความตกลงของข้อบทต่างๆ ใน FTA เพื่อป้องกันสินค้าและบริการที่ไม่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ทัดเทียมกับอียูไม่ให้เข้ามาตีตลาดในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
การทูตด้านภูมิอากาศของอียู
อียูส่งสัญญาณถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเวลาสำหรับการเจรจาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศนั้นเริ่มจะสั้นลง โดยจากนี้จะเน้นทำงานเชิงรุกเพื่อประสานท่าทีกับทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ในกรอบต่างๆ ทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคีเช่นในกรอบ G7 กรอบ G20 และกรอบสหประชาชาติ เพื่อเร่งให้ทุกฝ่ายยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่จริงจังมากขึ้น นอกจากนั้นยังจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านเทคนิคแก่ประเทศกำลังพัฒนา
ล่าสุด อียูได้ประกาศเงินทุนโครงการ Green Team Europe Initiative จำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว และการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
โดยสรุป อียูผลักดันการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ไม่เพียงผ่านความร่วมมือในกรอบระหว่างประเทศ แต่ยังใช้การค้าเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม จึงจะมีกฎระเบียบและมาตรฐานใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมออกมาจำนวนมาก ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเข้ามาในอียูได้ที่เว็บไซต์ Access2Markets ของอียู.
คอลัมน์ : EU watch
ทีมงาน ThaiEurope.net
facebook @thaieurope.net
www.thaieurope.net