ตลาดหุ้นไม่กลัวโควิด
ไวรัสโควิด-19 นั้นเกิดการระบาดใหญ่ในปี 2020 จนถึงวันนี้ก็ประมาณ 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่จบ คนจำนวนมากยังคิดว่าการเกิดสายพันธุ์ใหม่คือโอไมครอนที่มีการติดเชื้อง่ายขึ้นหลายเท่าเทียบกับพันธุ์เดลต้าอาจจะทำให้โลกต้องวุ่นวายต่อไปอีกนานหลังจากที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าเรื่องโควิด-19 น่าจะใกล้จบลง
เรื่องโควิดนั้นเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก ภาพคนที่เสียชีวิตและการปิดเมืองนั้นส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำลงโดยเฉพาะในปี 2020 และได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกต่ำลงอย่างแรงในช่วงเวลาหนึ่งประมาณ 2-3 เดือน ก่อนที่จะมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ข่าวเกี่ยวกับโควิดก็เกิดขึ้นเกือบทุกวัน
“กระทบกับดัชนีหุ้น” เป็นระยะตลอดมา จนถึงวันนี้ที่ดูเหมือนว่าโควิดจะกลับมาเป็นประเด็นที่ “ชี้เป็นชี้ตาย” ตลาดหุ้นทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง เป็น“ปัจจัยเสี่ยง” ที่สำคัญที่สุดในอีกหลายปัจจัยเช่นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ สภาพคล่องทางการเงินและ “สงครามเย็น” ระหว่างสหรัฐกับจีน เป็นต้น
ข่าวทั้งหมดเกี่ยวกับโควิดนั้น เราได้รับฟังและรับทราบมาจนชินและเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกนั้นขึ้นอยู่กับการระบาดของโควิดมาก ภาวะโควิดดีขึ้น หุ้นขึ้น โควิดแย่ลง หุ้นตก ถ้าคุมโควิดไม่ได้ หุ้นเป็นหายนะ ทั้งหมดนี้ผมในฐานะที่เป็นคน “ขี้สงสัย” ในทุกเรื่องแม้แต่เรื่องที่คนร้อยละ 99.99%
เชื่อแบบเดียวกันผมก็ยังมีข้อสงสัยว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า? มีอะไรเป็นข้อพิสูจน์ว่า “ตลาดหุ้นกลัวโควิด” เพราะจากการสังเกตอย่างง่าย ๆ ผมยังไม่เห็นนักลงทุนคนไหนหนีจากตลาดหุ้นจริง ๆ เลยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีแต่นักลงทุนหน้าใหม่ ๆ เป็นล้าน ๆ คนแห่กันเข้ามาลงทุนหรือเล่นหุ้นในตลาดหุ้นไทย ในเวียดนามและในตลาดหุ้นอเมริกาอย่างที่ “ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
นอกจากนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยซึ่งรวมถึงนักลงทุนรายย่อย สถาบันและนักลงทุนต่างประเทศด้วยนั้น ไม่ได้กลัวหรือสนใจภาวะการระบาดของโควิดเลย ผมจึงต้องอาศัยตัวเลขดัชนีหุ้นของสามประเทศดังกล่าวมาเป็นเครื่องพิสูจน์
เริ่มจากตลาดหุ้นอเมริกาที่ผมอยากจะแยกว่าเป็นตลาดของหุ้นขนาดใหญ่อย่างดัชนีดาวโจนส์ หุ้นทั้งประเทศอย่าง S&P และหุ้นไฮเท็คและหุ้นเล็กอย่างดัชนีแนสแด็ก ว่ามีผลงานเป็นอย่างไรในช่วงเวลาที่เกิดโควิดและช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง
ในปีที่เกิดโควิดคือปี 2020 หรือปีที่แล้วทั้งปีนั้น ดัชนีดาวโจนส์ให้ผลตอบแทนเป็นบวกประมาณ 7% ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างจะปกติมากสำหรับหุ้นขนาดใหญ่ ในขณะที่ S&P 500 ให้ผลตอบแทน ถึง 16% ซึ่งเป็นผลตอบแทนระดับดีเยี่ยมเหนือกว่าผลตอบแทนปกติในระยะยาว เช่นเดียวกับดัชนีแนสแด็กที่ให้ผลตอบแทน 14%
ซึ่งก็เป็นผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติแม้ว่าจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับ S&P และนี่ก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเล็กน้อย เพราะมีความเชื่อกันมากในช่วงเกิดโควิดว่า หุ้นไฮเท็คที่เป็นดิจิทัลจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากโควิด ไม่ใช่หุ้นทั้งประเทศในอเมริกาที่น่าจะถูกกระทบในทางลบมากกว่า
ปีนี้ที่เกือบจะหมดปีอยู่แล้วนั้น ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งมากคือเพิ่มขึ้นถึง 19% อานิสงส์ จากการ “ฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” ซึ่งเกิดจากการระบาดของโควิดที่น้อยลงและการฟื้นตัวของการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นอะไร นี่คือผลงานที่ยอดเยี่ยมของตลาดหุ้นขนาดใหญ่ นาน ๆ ถึงจะเห็นซักที ดัชนีS&P เองนั้นยิ่งดีกว่าที่ให้ผลตอบแทนถึง 28% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหุ้นโดยรวมของประเทศในปี 2020 นั้นอาจจะไม่ได้สนใจโควิดเลย พวกเขาน่าจะ “ใช้ชีวิตปกติ” และอาจจะเนื่องจากรัฐบาลมีการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบมากก็เลยทำให้เศรษฐกิจดี ผู้คนจับจ่ายและทำงานกันมากกว่าปกติด้วยซ้ำ
ส่วนหนึ่งอาจจะชดเชยช่วงที่ต้อง “อยู่กับบ้าน” ในปีที่แล้ว ในส่วนของดัชนีแนสแด็กนั้น ก็เติบโตดีให้ผลตอบแทนถึง 23% แต่ก็ยังต่ำกว่า S&P ทั้ง ๆ ที่คนส่วนใหญ่น่าจะหันไปใช้บริการของหุ้นดิจิทัลมากขึ้นในช่วงโควิด และนี่ก็ทำให้ผมสงสัยว่าตกลงโควิดมีผลอะไรกับหุ้นอเมริกาในช่วง 2 ปีนี้มากมายจริงหรือเปล่า? หรือจริง ๆ แล้วหุ้นอเมริกานั้นก็โตขึ้นไปเรื่อย ๆ “ตามปกติ” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เป็น “ยุคทอง” ของหุ้นอยู่แล้ว
เพราะถ้าเรามองย้อนหลังไป 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นมาตลอดเพิ่มขึ้นถึง 82% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นต่อปีที่ 12.7% ซึ่งถือว่าดีเยี่ยม ดัชนี S&P ปรับเพิ่มขึ้น 111% หรือเท่ากับผลตอบแทนทบต้นต่อปีที่ 16.1% ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นยุคทองของหุ้นของประเทศสหรัฐได้เลย ในขณะที่ดัชนีแนสแด็กนั้นยิ่งไปกันใหญ่ เวลา 5 ปี ดัชนีปรับขึ้นไปถึง 190% หรือเท่ากับผลตอบแทนทบต้นต่อปีที่ 23.7%
และก็ต้องถือว่าเป็นยุคทองของหุ้นไฮเท็คและดิจิทัลที่ดำเนินมาตลอดและก็น่าจะเกิดขึ้นเป็น 10 ปีมาแล้ว พูดง่าย ๆ ผมคิดว่าเรื่องโควิดที่ทำให้คนหันมาใช้บริการของหุ้นดิจิทัลมากขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ที่จริงอาจจะ “คิดกันไปเอง” ความจริงอาจจะเป็นว่า หุ้นไฮเท็คก็โตเร็วแบบนี้มานานก่อนเกิดโควิดแล้ว โควิดไม่ได้ไปเร่งอะไรมัน ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านั้น หุ้นไฮเท็คที่โตเร็วมากก็อาจจะเป็นเฟซบุคหรือแม้แต่เน็ตฟลิกที่โตเร็วมานานแล้ว ถึงช่วงโควิดก็โตต่อแต่ไม่มาก ช่วงโควิดที่โตเร็วจริง ๆ ก็อาจจะเป็นหุ้นซูมและอะมาซอนแค่นั้นเอง เป็นต้น
หันมาดูตลาดหุ้นไทย ปี 2020 หรือปีเริ่มโควิดนั้น ดัชนีตกลงไป -8% ทุกคนมั่นใจว่าเป็นเรื่องของโควิดที่กระทบกับเศรษฐกิจไทยมากกว่าเศรษฐกิจโลกเพราะเราพึ่งพิงการท่องเที่ยวมากซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบไปประมาณ 6% พอถึงปีนี้ที่เศรษฐกิจไทย “ยังไม่ฟื้นตัว” และอาจจะบวกได้แค่ 1% แต่ดัชนีกลับปรับตัวขึ้นไปถึงประมาณ 13% แล้ว ก็ต้องถือว่าดัชนีตลาดหุ้นทำผลงานได้ดีทีเดียวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
คำอธิบายก็คือ ไทยกำลังฟื้นตัวเพราะสามารถเปิดประเทศได้ เศรษฐกิจเองในปีหน้าก็คาดว่าจะฟื้นตัวแบบที่เกิดในประเทศอื่นในปีนี้ ดังนั้น หุ้นก็ขึ้น แต่ตกลงหุ้นขึ้นหรือลงเกี่ยวกับโควิดมากน้อยแค่ไหนผมก็ยังสงสัย หรือหุ้นที่ขึ้นลงในช่วงโควิด 2 ปีนี้แค่เป็นไปตาม “เทรนด์” ของประเทศไทยที่กำลัง “ตกต่ำลง” และอาจจะเป็น “Lost Decade” ที่หุ้นแทบไม่ได้ปรับตัวขึ้นเลยเกือบ 1 ทศวรรษแล้ว?
มองย้อนหลังไป 5 ปี ดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนแค่ 6% หรือได้ผลตอบแทนทบต้นเพียงปีละ 1% เศษ ๆ และนี่ก็รวมผลตอบแทนในปีนี้ที่ค่อนข้างจะดีมากแล้วด้วย ในความรู้สึกของผมก็คือ การปรับตัวขึ้นของหุ้นในปีนี้น่าจะเกิดจาก “แรงเก็งกำไร” ที่มาจากนักลงทุนรายย่อยนับเป็นแสนหรือล้านคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งพวกเขาก็น่าจะซื้อหรือเล่นหุ้นขนาดเล็กมากกว่าขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถปรับตัวขึ้นแรงได้ เห็นได้จากการที่ดัชนีหุ้นขนาดใหญ่คือ SET50 นั้นให้ผลตอบแทนน้อยมากที่ 3% ในปีนี้ และติดลบถึง -14.8% ในปีที่แล้ว ในขณะที่หุ้นขนาดเล็กคือดัชนี MAI ให้ผลตอบแทนปีนี้ถึง 63.8% และบวก 8.6% ในปีที่แล้ว
สภาพและสถานะของไทยกับอเมริกาอาจจะแตกต่างกันมาก ลองมาเวียตนามที่คล้ายคลึงกับเราดูบ้าง ในปี 2020 ซึ่งเพิ่งเกิดโควิด ดัชนีเวียตนามให้ผลตอบแทนถึง 15% ดีมากพอ ๆ กับอเมริกา โควิดไม่ได้มีผลอะไรรวมถึงเศรษฐกิจที่ยังบวก 3-4% ในปี 2021 ถึงวันนี้ ดัชนีพุ่งขึ้นไปถึง 36% “ดีที่สุดในโลก” ทั้ง ๆ ที่โควิดยังระบาดค่อนข้างมากในช่วงปลายปีนี้
แต่โควิดก็ดูเหมือนจะ “ทำอะไรไม่ได้” นักลงทุนเวียตนามไม่กลัวโควิดและแห่กันเข้ามาลงทุน ที่จริงตลาดหุ้นดีมาตลอดอยู่แล้ว ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาดัชนีปรับขึ้นไป 123% หรือให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 17.4% เป็นช่วงปีทองของการลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนาม และ 2 ปีที่ผ่านมาก็อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเทรนด์นี้
ถ้าจะมองถึงสถานะของดัชนีตลาดหุ้นในวันนี้ก็พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐทั้งหมดอยู่ในช่วง All Time High และสูงกว่าจุดสูงสุดเดิมก่อนโควิดนั่นก็คือ ดาวโจนส์สูงกว่าเดิม 22% S&P สูงกว่าเดิม 40% และ แนสแด็ก 61% ในกรณีของไทยนั้น ดัชนีตลาดยังต่ำกว่า All Time High ที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน ประมาณ 11% ในตลาดเวียตนามนั้น ดัชนีอยู่ในช่วงสูงสุดและสูงกว่าจุดสูงสุดเดิมเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาประมาณ 23%
ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นอเมริกาและเวียตนามนั้นอยู่ในช่วงบูมระยะยาวและโควิดอาจจะไม่ได้มีผลอะไรเลย ส่วนตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงตกต่ำหรือนิ่งไซด์เวย์และโควิดก็อาจจะไม่ได้มีผลอะไรมาก นักลงทุนและตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่มีใครกลัวโควิดเลยแม้ว่านักวิเคราะห์จะหวาดผวาโดยเฉพาะกับโควิดสายพันธุ์ใหม่