ช่วยเลือกกองทุนประหยัดภาษีแบบ Rule of Thumb | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ในบทความของวันแรกของปี 201 ผมเขียนถึงอีทีเอฟ ARK ว่าเป็นอีทีเอฟแห่งปี 2020 ของโลก มาถึงบทความสุดท้ายในปี 2021 ผมขอกลับมาวิเคราะห์กองทุนที่ใกล้ตัวกันบ้าง
หลายท่านน่าจะต้องทำกันทุกปี นั่นคือการตัดสินใจจะเลือกกองทุนประหยัดภาษีกองไหนดี โดยในปีนี้ ผมขอแชร์การวิเคราะห์ของผมเอง ซึ่งทำไว้แบบที่ถือว่าละเอียดพอสมควร โดยที่ต้องขอบอกว่าความเห็นของผมอาจจะแตกต่างจากท่านผู้อ่าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับมุมมองในเรื่องนี้
ขอเริ่มจากเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินกองทุนแบบ Rule of Thumb ของผมกันก่อนว่าเป็นอย่างไร ดังนี้
1.ผมมักจะถือกองทุนรวมยาวกว่า 1 ปี โดยทั่วไป มักจะถือไว้ประมาณ 3 ปีหรือนานกว่านั้น
ถ้าคุณลงทุนแบบแรกนี้ควรดูตัวเลือกการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงเป็นอันดับต้นๆ ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหรือนานกว่านั้น เพราะมักจะมีโอกาสทำกำไรใน 3 ปีถัดไป ซึ่งดีกว่ากองทุนรวมที่มีผลตอบแทนต่ำกว่า ดังนั้นทางออกของปัญหาว่าจะเลือกลงทุนกองทุนไหนดีนั้นแทบจะหมดไปหากลงทุนยาวหน่อย โดยเลือกลงทุนกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนดีๆ ในช่วงระยะเวลาเท่ากับหรือนานกว่าช่วงเวลาที่คุณวางแผนจะถือ
2.นอกจากนี้ แนะนำให้พิจารณากองทุนรวมที่มีคุณลักษณะ 4 ประการ คือ
ประการหนึ่ง อย่าเลือกกองทุนตัวที่มีผลประกอบการในปีใดปีหนึ่งหรือมากกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกองทุนรวมในกลุ่มเดียวกันมากจนเกินไป เนื่องจากจากอดีตที่ผ่านมา แทบจะไม่มีกองทุนใดที่สามารถชนะตลาดแบบทิ้งขาดมากๆ มากกว่า 1 ปี หากประเมินในช่วงระยะเวลาทั้งหมด 5 ปี
ประการที่สอง อย่าเลือกกองทุนรวมที่อยู่ในโซนที่โหล่รั้งท้ายคือในช่วงอันดับร้อยละ 10 จากข้างล่าง เช่นหากมีกองทุน 50 กอง อย่าเลือกกองที่เคยได้อันดับ 46-50
ประการที่สาม อย่าเลือกกองทุนที่ครองแชมป์ติดต่อกัน 2-3 ปี เพราะเสี่ยงว่าจะซื้อของแพง
ประการที่สี่ ให้เลือกกองทุนรวมที่ติดอันดับครึ่งแรกของตารางตลอด 5 ปี หรือถ้าดีกว่านั้น ได้ติดอันดับหนึ่งในสี่ของตารางตลอด 5 ปี
ผมใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว ประเมินกองทุนรวมประหยัดภาษีของ 7 บลจ. ที่ผมมองว่ามีการออกกองทุนประหยัดภาษีค่อนข้างมาก โดย 4 บลจ. มาจากธนาคารขนาดใหญ่ และ 3 บลจ. มาจากที่ไม่ใช่แบงก์ใหญ่ ปรากฏว่า ได้กองทุน อันดับแรกใน 3 หมวด ของ SSF และ RMF ดังนี้
หมวดแรกเป็นหมวดของกองทุนที่เน้นการจ่ายปันผลและดอกเบี้ย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นกองทุนที่มีตราสารหนี้และหุ้นแนวเน้นผลตอบแทนระยะยาวผสมอยู่ค่อนข้างมาก เริ่มจาก SSF ขอเลือก กองทุนเปิดเค โกลบอล อินคัม ชนิดเพื่อการออมซึ่งมีกองทุนแม่เป็น JPMorgan Investment Funds – Global Income Fund
เนื่องจากมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอในแต่ละปี ส่วนของกองทุน RMF ในหมวดนี้ ผมเลือกกองทุนบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น Wellington Global Health Care Equity Fund ด้วยเหตุผลเดียวกัน
สำหรับในหมวดที่สอง เป็นหมวดของกองทุนที่เน้นกองทุนหุ้นต่างประเทศ เริ่มจาก SSF ที่ถือครองขั้นต่ำ 10 ปี เลือกกองทุน One-UGG-ASSF ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น Baillie Gifford Long Term Global Growth Fund
เน้นหุ้นเติบโตสูงแบบระยะยาวทั่วโลก โดยให้น้ำหนักไปที่ตลาดหุ้นสหรัฐมากที่สุด ส่วนของกองทุน RMF ในหมวดนี้ ผมเลือกกองทุน K-Europe RMF ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น Allianz Europe Equity Growth โดยมองว่าคนซื้อ RMF ส่วนใหญ่ น่าจะมีระยะเวลาถือครองน้อยกว่า 10 ปี ซึ่งตลาดหุ้นยุโรปน่าจะมีมูลค่า ณ ตรงนี้ ยังไม่แพงมากจนเกินไป
สำหรับในหมวดที่สาม เป็นหมวดของกองทุนที่เน้นแบบการลงทุนทางเลือก เริ่มจาก SSF ขอเลือก กองทุน MRenew SSF ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น BGF Sustainable Energy Fund เนื่องจากมีผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับกองทุนอื่นๆ ในลักษณะใกล้เคียงกันแต่มีระดับความเสี่ยงที่ดูต่ำกว่า
ส่วนของกองทุน RMF ในหมวดนี้ ผมเลือกกองทุน KF Infra RMF ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น Credit Suisse (Lux) Infrastructure Equity Fund เนื่องจากมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอในแต่ละปี
หากใครที่สนใจRMF จะพบว่ากองทุนเกือบทั้งหมดเป็นกองทุนที่ถือว่าคุ้นหูกันในระดับหนึ่ง อาจจะมี MRenew SSF ที่ยังถือว่าค่อนข้างใหม่ ผมจึงนำมาทดสอบกับกองทุนชั้นนำในลักษณะที่มีความใกล้เคียงกัน ปรากฏว่าก็ยังมองว่า MRenew SSF ดูน่าสนใจมากอยู่ดี
และทั้งหมดคือกองทุนประหยัดภาษีในปีนี้ที่ผมมองว่าน่าสนใจ แต่ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจในการลงทุน.
คอลัมน์ : มุมคิดมหภาค.. สร้างการลงทุน
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (WeAsset)