ปี 2565 เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุค Digital Transformation 2.0
สถานการณ์ในปี 2565 คาดว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแม้จะไม่ดีเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ก็ตาม แต่สิ่งที่มั่นใจได้แน่นอนก็คือ โลกไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม
ปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่สร้างความท้าทายให้แก่ผู้คนทุกคน ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน และการทำธุรกิจ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิดที่ทุกคนต้องเผชิญอุปสรรคด้วยกันมาสองปีได้มาเปลี่ยนแปลงชีวิตเราอย่างมากมาย โควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้เรื่องของ Digital Disruption ให้เกิดเร็วขึ้น หลายคนต้องเร่งปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบไม่ทันตั้งตัว
เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เรายังทำงานได้จากที่บ้าน เรียนหนังสือออนไลน์ ทำให้ธุรกิจหลายอย่างต้องเปลี่ยนรูปแบบ หลายคนก็สามารถที่จะสร้างวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส สามารถหาช่องทางใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการทำธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันหลายคนก็ไม่สามารถปรับตัวได้ ธุรกิจแบบเดิม การทำงานแบบเดิม ไม่สามารถที่จะอยู่รอดได้
สถานการณ์ในปี 2565 คาดว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแม้จะไม่ดีเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ก็ตาม ทั้งนี้เพราะยังมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการระบาดของโควิดสายพันธ์ุใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรงอีกรอบหรือไม่ แต่สิ่งที่มั่นใจได้แน่นอนก็คือ โลกไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม
ผมยังจำได้ว่าช่วงแรกที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ได้เขียนบทความลงในคอลัมน์นี้ในปลายเดือนมีนาคม 2563 ชื่อเรื่อง “สุดท้ายเราจะเห็นคำว่าโลก “ยุคก่อนโควิด” และ “ยุคหลังโควิด” โดยได้บอกไว้ว่า
“วิกฤติครั้งนี้ไม่สามารถเทียบได้กับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ แต่มันอาจจะพอกับสงครามโลกครั้งที่สอง หรือสงครามเย็น ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ แต่มันจะมีผลพวงทำให้ประชากรของโลกเปลี่ยนพฤติกรรมมหาศาล หากเปรียบกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลก็เหมือนกับการที่มีไอโฟนเกิดขึ้น ทำให้คนสามารถใช้เทคโนโลยีไอทีได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้คนหันมาใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดโซเชียลมีเดีย อันมีผลพวงให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมเปลี่ยนไป มีผลให้เกิด Digital Disruption ในหลายอุตสาหกรรม”
ในปี 2565 ถือว่าเราอยู่ในยุคหลังโควิดแล้ว คาดว่ากระแส Digital Disruption จะรุนแรงขึ้น และการทำ Digital Transformation ของทุกองค์กรจะก้าวสู่ยุคที่ 2.0 เพราะเทคโนโลยีง่ายขึ้น เช่น การเข้ามาของระบบเอไอ และคลาวด์คอมพิวติ้ง จะทำให้การพัฒนาระบบไอทีซึ่งแต่ก่อนอาจมีความซับซ้อน ต้องใช้นักไอทีเก่งๆ มาพัฒนา กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น จนใครก็เริ่มทำได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นเมื่อการพัฒนาระบบไอทีเป็นเรื่องง่าย องค์กรต่างๆ เริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้น จนทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว
ในยุคของ Digital Transformation 2.0 เราจะเห็นองค์กรต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงหลัก 3 ด้านดังนี้ ด้านแรกคือ Distributed Enterprise ซึ่งองค์กรจากนี้ต่อไปจะทำงานและให้บริการลูกค้าจากที่ไหน เวลาไหนก็ได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้พนักงานสามารถทำงานแบบผสมผสาน และทำงานร่วมกันจากหลายแห่งได้ง่ายขึ้น
ด้านที่สองคือ Total Experience เทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้ประสบการณ์ของทั้งลูกค้า พนักงาน และผู้ใช้เปลี่ยนแปลงไป และมีประสบการณ์ที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม เหมือนที่ทุกวันนี้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปสาขาธนาคาร ขณะเดียวกันข้อมูลต่างๆ ที่มีมากขึ้นก็ทำให้พนักงานสามารถให้บริการลูกค้าได้ตรงความต้องการมากขึ้น
ด้านสุดท้ายคือ Digital Service Innovation จะเป็นการพัฒนานวัตกรรมด้านบริการดิจิทัลใหม่ๆ ที่องค์กรต่างๆ ส่งมอบให้กับลูกค้าได้มากขึ้น เช่นเดียวกับที่เราเห็นในเรื่องของการส่งอาหาร การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาได้ง่ายขึ้นก็อาจจะยิ่งทำให้เราเห็นนวัตกรรมเกิดมากขึ้นในยุคนี้
ทั้งนี้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเป็นตัวผลักดันทำให้การทำ Digital Transformation ในปี 2565 เป็นไปได้ง่ายขึ้นมีอยู่หลายเรื่อง ดังเช่น AI Everywhere เราจะพบว่าระบบเอไอจะถูกแทรกซึม เข้าไปในระบบต่างๆ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ทำให้การทำงานมีความชาญฉลาดขึ้น
Datafication เรากำลังเข้าสู่ยุคของการที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลและการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เริ่มทำได้ง่ายขึ้น Everything-as-a Service เรากำลังเข้าสู่ยุคของการใช้บริการบนคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้เราสามารถพัฒนาระบบไอทีต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น
No-code Revolution เราจะพบว่าการพัฒนาระบบไอทีหลายอย่างสามารถใช้เอไอเข้ามาช่วยพัฒนาได้ ทำให้การเขียนโค้ดมีความจำเป็นน้อยลง Web 3.0 เรากำลังเข้าสู่ยุคของการพัฒนาเว็บที่ไม่ใช่เป็นแค่แพลตฟอร์มแบบเดิมๆ แต่จะมีเรื่องของการใช้เอไอ เงินสกุลคริบโตฯ NFT และเรื่องของ AR และ VR เข้ามาผสมผสาน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า วันนี้เรากำลังเข้าสู่โลกยุคหลังโควิดโดยสมบูรณ์ เทคโนโลยีดิจิทัลมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาองค์กร และในปี 2565 นี้เรายิ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อให้องค์กรพร้อมที่จะแข่งขันได้ต่อไป และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งเราจะต้องพร้อมที่จะปรับองค์กรเราให้ทันยุค Digital Transformation 2.0