ปีใหม่ 2565 กับวิถีชีวิตใหม่ที่ชาญฉลาด | สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 คงทำให้หลายคนรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับช่วงเวลาที่ไม่สามารถใช้ชีวิตเรียบง่ายได้ตามปกติเหมือนที่ผ่านมา
บางคนใช้ช่วงเวลาช่วงนี้คิดทบทวนและเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง และตระหนักในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนมากขึ้น แน่นอนว่า เราทุกคนต่างปรับตัวสู่วิถีใหม่ (New Normal) ไม่ว่าการรักษาระยะห่าง การสั่งสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์ การทำงานแบบ work from home การประชุมออนไลน์ หรือแม้แต่เด็ก ๆ ก็ต้องเข้าห้องเรียนออนไลน์
ทำให้เกิดคำถามและข้อถกเถียงว่าวิถีใหม่เช่นนี้ ช่วยลดภาระหรือสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมกันแน่ แม้เห็นได้ชัดว่าบางกรณีได้ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น การเดินทางลดลง การท่องเที่ยวลดลง การใช้พลังงานลดลง ขณะที่บางกรณีก่อให้ปัญหาขยะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะขยะบรรจุภัณฑ์จากการสั่งสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์ ขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นต้น
• จาก New Normal ไปสู่ Next Normal
มีประเด็นที่ต้องตระหนักต่อไป คือ การก้าวผ่านจากวิถีใหม่ “New Normal” ที่อยู่ร่วมกับโควิด19 ไปสู่วิถี “Next Normal” หลังโควิด19 ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ หลังการปรับตัวกับสถานการณ์โควิด 19 มาระยะหนึ่ง จนน่าจะคุ้นชิน มีการเปิดรับและปรับตัวกับเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ๆ มีการใส่ใจข้อมูลสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมก่อนตัดสินใจมากขึ้น
หากเป็นการก้าวสู่วิถี Next Normal ไปพร้อมๆ กับการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาดและคืนสมดุลสู่ธรรมชาติ ก็นับว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ให้ยาวนาน และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด ซึ่งต้องกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึงด้วย ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับผู้คนให้เข้าใจในถึงหลักการและทางเลือกที่จะทำให้ทุกคนจะได้อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ด้วยความรับผิดชอบ และตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
• ใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด
มุมมองของแต่ละคนต่อ “เทคโนโลยี” ที่เข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้นในปัจจุบัน น่าจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ ความคุ้นเคย และน่าจะขึ้นอยู่กับช่วงวัยด้วย อันที่จริงแล้ว "เทคโนโลยี" เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์หรือเครื่องจักรเท่านั้น
ประโยชน์ของเทคโนโลยี ก็คือ การช่วยให้คนเรามีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ทำงานได้ปริมาณมากขึ้น เดินทางได้รวดเร็วขึ้น มองได้ชัดและไกลขึ้น สื่อสารได้กว้างขึ้น ผลิตอาหารได้มากขึ้น เก็บรักษาอาหารได้นานขึ้น เหล่านี้เป็นต้น
เทคโนโลยีมีผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ เช่น เมื่อมีเรานิยมใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนกันแพร่หลาย แต่เมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องใหม่ ทำให้เกิดซากอุปกรณ์มือถือและแบตเตอรี่จำนวนมากที่ไม่ได้ถูกรับการจัดการอย่างถูกต้อง
เราพัฒนาเทคโนโลยีในการเดินทาง แต่กลับทำให้สภาพอากาศเสื่อมโทรมลง เมื่อมีการค้นพบพลาสติกเพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์ให้อาหารสดได้นานขึ้น แต่ต้องกลายเป็นขยะที่สร้างภาระเมื่อสิ้นสุดการใช้งาน จึงควรคิดทั้งวงจร ควรเลือกเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดของเสียและขยะน้อย หรือมีระบบการจัดการให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
นอกจากนี้ ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างสังคมใหม่ให้เป็นสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน สร้างพื้นที่ทางสังคมให้ผู้คนต่างพื้นที่ต่างวัฒนธรรมได้มีความใกล้ชิดและเข้าอกเข้าใจกันให้มากขึ้น
• ช่วยธรรมชาติกลับคืนสู่สมดุล
มีผลการสำรวจว่า สังคมที่ถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูลข่าวสาร จะทำให้เกิดการไตร่ตรองมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่นิยมการท่องโลกออนไลน์ มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสื่อสารกันกว้างขวาง คนกลุ่มนี้จะไม่ยอมรับสินค้าที่ไม่มีมาตรการจัดการสิ่งแวดล้อม และทำให้แบรนด์สินค้ารักษ์โลก สินค้าท้องถิ่น หรือสินค้าที่ใช้การผลิตแบบเรียบง่ายไม่สิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่ง ได้รับความนิยมมากขึ้น
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาพอนาคตที่ต้องการให้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ จึงขึ้นอยู่กับการมีข้อมูลชัดเจน การสื่อสารที่เข้าใจได้ง่าย และทางเลือกที่ต้องตัดสินใจอย่างชาญฉลาด เลือกสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งมีฉลากสิ่งแวดล้อมรับรอง
หรือคิดวิเคราะห์จากข้อมูลเท่าที่มี ว่ามีความปลอดภัย มีผลดีต่อสุขภาพ ไม่ทำลายแหล่งทรัพยากร โดยต้องคิดอย่างรอบคอบถึงผลได้ผลเสียการทดแทนขึ้นใหม่ จึงต้องมีการคุ้มครองทรัพยากรที่หายากโดยใช้ประโยชน์เท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเกิดขยะและของเสียให้มากที่สุด
หากเป็นสินค้าเกษตรก็ต้องไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ดัดแปลง มาจากกระบวนการผลิตที่ดูแลคุณภาพดินและน้ำ การคุ้มครองสัตว์และคุณภาพชีวิตเกษตรกร ซึ่งเป็นอีกวิธีที่เราทำได้ในทุกวัน เพื่อช่วยให้ธรรมชาติคืนสู่สมดุลแบบง่ายๆ
เรียบเรียงโดย สุนทรี วัฒนเวส เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย