แง่คิดเรื่องการสูงวัย จากนักปรัชญายุคโบราณ | วิทยากร เชียงกูล
ซิเซโร่ (106-43 ก่อน ค.ศ.) นักพูด นักเขียน นักปรัชญา และนักการเมืองชาวโรมัน เขียนเรื่องนี้ตอนเขาอายุ 62 ปี ในยุคที่คนโรมันยุค 2 พันกว่าปีที่แล้ว มองว่าคนอายุ 45 ปีขึ้นไปคือคนสูงวัย
งานเขียนของ ซิเซโร่ (106-43 ก่อน ค.ศ.) ได้รับอิทธิพลจากสำนักปรัชญาสโตอิกด้วย ในที่นี้ผู้เขียนเลือกคัดมาเฉพาะบางตอน
“สำหรับคนที่ไม่มีวิธีการจากภายในของตัวเขาเองในการที่จะก้าวไปถึงชีวิตที่มีคุณธรรมและมีความสุข ไม่ว่าเขาจะอยู่ในวัยไหนก็เป็นภาระทั้งนั้น แต่สำหรับคนที่รู้จักแสวงหาความดีจากภายในของตัวเขาเอง เขาจะมองว่ากฎที่ธรรมชาติกำหนดให้ชีวิตของเขาต้องถึงวันเวลาที่จะต้องหยุดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ไม่ถือว่าจะเป็นความเลวร้ายที่ตรงไหน”
“แต่ข้าพเจ้ารู้จักคนหลายคนที่มีธรรมชาติในการที่ยอมรับการสูงวัยของพวกเขาโดยไม่บ่น ไม่ได้มีความทุกข์จากการที่พวกเขาได้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนของตัณหา และคนที่ไม่ได้ถูกเพื่อนฝูงเย้ยหยัน สำหรับเรื่องที่ชอบกล่าวกันว่า คนสูงวัยมีปัญหาเรื่องชอบบ่นว่านั้น ปัญหาจริงๆ ขึ้นอยู่กับบุคลิกนิสัยใจคอของคนๆ หนึ่งมากกว่าเรื่องการสูงวัยของเขา
คนสูงวัยที่รู้จักควบคุมตนเองได้ดี ไม่มีอารมณ์ร้าย ไม่เห็นแก่ตัว จะยอมรับการสูงวัยว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ในขณะที่คนที่มีพื้นฐานอารมณ์ที่ผิดปกติและไร้เมตตา จะเป็นคนที่น่ารำคาญ น่าเบื่อ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม”
“คนที่กล่าวหาว่า คนสูงวัยไม่อาจทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ได้อีกแล้ว – ก็เหมือนคนที่กล่าวว่าผู้นำร่องเรือไม่ได้ทำอะไร ในขณะที่ลูกเรือคนอื่นๆ ปีนเสากระโดง วิ่งทำงานต่างๆ ตามทางเดินในเรือ หรือทำหน้าที่สูบน้ำออกจากเรือ ผู้นำได้แต่นั่งเงียบๆ อยู่ที่หางเสือเรือ เขาอาจจะไม่ได้ทำงานแบบที่ลูกเรือผู้อ่อนวัยกว่าทำ แต่งานที่เขาทำนั้นดีกว่าและสำคัญกว่า
สิ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้สำเร็จได้ด้วยพละกำลัง ความเร็ว หรือความคล่องแคล่วทางกายภาพ แต่ด้วยการรู้จักการพิจารณาใคร่ครวญ ด้วยพลังของบุคลิกนิสัยใจคอ และการตัดสินใจที่ดี คุณสมบัติเหล่านี้คนสูงวัยไม่ได้มีลดลง แต่กลับมีมากขึ้นจากประสบการณ์ของเขา”
“การเตรียมการเรื่องการเจริญวัยที่เหมาะสมที่สุด การยึดหลักการและการปฏิบัติในเรื่องคุณธรรม (ปัญญา ความกล้าหาญ ความยุติธรรม ความอดกลั้น) ซึ่งคนเราควรพัฒนาในทุกวัยของชีวิต และจะให้ผลที่วิเศษที่สุดในตอนบั้นปลายของชีวิต การงานที่ยาวนานและเต็มกำลังของคนๆ หนึ่ง การดำรงชีวิตอย่างมีคุณธรรม นอกจากจะไม่ทำให้ท่านล้มเหลวแม้ในตอนบั้นปลายของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงที่สูงสุดแล้ว มันยังจะเป็นสิ่งที่น่าปิติยินดีเป็นที่สุดที่ท่านจะได้รู้สึกว่าท่านได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามาแล้ว และการมีความทรงจำถึงสิ่งดีๆ หลายอย่างที่ท่านได้ทำมา”
“แม้ว่าเขาจะแก่แล้ว แต่เขาปราศัยต่อสาธารณชนได้อย่างกระตือรือร้นอะไรเช่นนั้น ดังนั้นเราจะไปเทียบความพอใจของคนที่ชอบไปงานเลี้ยง ไปดูละคร และไปซ่องนางงามเมือง กับความพอใจที่คนสูงวัยมีต่อการแสดงออกทางปัญญาของพวกเขาได้อย่างไร?
ความพอใจของพวกเขาคือ ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และความกระตือรือร้นชนิดนี้ อย่างน้อยในกรณีของคนที่ฉลาดและได้รับการฝึกฝนที่ดี จะยังคงก้าวหน้าไปพร้อมกับอายุของพวกเขา เหมือนอย่างที่โซลอนได้เคยเขียนไว้ว่า ขณะที่เขาแก่ เขาเรียนรู้อะไรหลายอย่างอยู่ทุกวัน และแน่ละ ไม่มีอะไรที่จะให้ความเพลิดเพลินที่ยิ่งใหญ่ได้มากไปกว่าความเพลิดเพลินทางด้านความคิดจิตใจ”
“เมื่อคนหนุ่มสาวตาย ข้านึกถึงเปลวไฟแสงจ้าที่ถูกดับไปโดยลมพายุ แต่เมื่อคนสูงวัยตาย มันเหมือนกับเปลวไฟที่ค่อยๆ มอดไปเองโดยไม่มีลมมาทำให้ดับ, เหมือนกับผลแอปเปิ้ลที่เวลายังเขียวอยู่ เราจะขึ้นไปเก็บได้ยาก แต่เมื่อมันสุกงอม มันพร้อมที่จะหล่นลงมาด้วยตัวของมันเอง สำหรับคนหนุ่มสาว ความตายเกิดจากพลังภายนอก แต่สำหรับคนสูงวัย ความตายคือผลของการสุกงอม ความตายเป็นเรื่องที่น่าปิติยินดียิ่ง เมื่อคนสูงวัยเข้าไปใกล้เปลวไฟแห่งความตายมากเท่าไหร่ เขาจะรู้สึกเหมือนนักเดินทางไกลที่กำลังเดินเรือไปใกล้แผ่นดินและเตรียมจะทอดสมอที่ท่าเรือบ้านเกิด”
“จากงานของเซเนโฟน ไซรัสผู้เป็นพ่อกล่าวถ้อยคำนี้ขณะที่เขากำลังใกล้ตาย ลูกๆ ที่รักที่สุดของข้า เมื่อพ่อจากไป อย่าคิดว่าพ่อหยุดการดำรงอยู่แล้ว ในตอนที่พ่อยังอยู่กับพวกเจ้า พวกเจ้าก็ไม่ได้มองเห็นจิตวิญญาณของพ่อ แต่เจ้ารู้ว่ามันอยู่ในร่างกายนี้ของพ่อ จากการที่พ่อได้ทำสิ่งต่างๆ จงเชื่อต่อไปเถิดว่า จิตวิญญาณของพ่อก็ยังคงดำรงอยู่เหมือนเมื่อก่อน แม้ว่าพวกเจ้าจะมองไม่เห็นมันก็ตาม”
“ข้าฯ ไม่ได้คิดจะบ่นว่าเรื่องชีวิตเหมือนที่คนหลายคน, รวมทั้งคนมีความรู้ทำอยู่บ่อยๆ และข้าฯ ก็ไม่ได้เสียใจต่อชีวิตที่ข้าฯ ได้ใช้มาแล้ว เพราะว่าข้าฯ ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ข้าฯ คิดว่าข้าไม่ได้เกิดมาโดยเปล่าประโยชน์ และข้าฯ พร้อมที่จะเลิกจากการใช้ชีวิต ด้วยความเข้าใจว่าชีวิตก็เหมือนกับการที่เราได้มาพักอยู่ที่โรงแรม ไม่ใช่ที่บ้าน เพราะธรรมชาติได้ให้ชีวิตเรา ให้มาพักอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อที่จะอยู่ตลอดไป”
“การสูงวัยช่วยให้แสงสว่างแก่ข้า นอกจากจะไม่ได้เป็นภาระแล้ว ยังให้ความสุขด้วย และถ้าหากว่าความเชื่อของข้าฯ ว่าจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นสิ่งที่จะอยู่ตลอดไป เป็นความเชื่อที่ผิดพลาด ข้าก็ยินดีที่จะเชื่อผิดแบบนั้น และข้าไม่ต้องการเลิกเชื่อในสิ่งที่ให้ความพอใจแก่ตัวข้าฯ ตราบเท่าที่ข้าฯ ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเมื่อข้าฯ ตายไป และไม่มีการรับรู้ใดเลย (อย่างที่นักปรัชญาเล็กๆ บางคนคิด) ข้าฯ ก็ไม่กลัวว่าเมื่อพวกนักปรัชญาพวกนี้ตายไปแล้ว จะมาหัวเราะเยาะข้า!
และถ้าหากเราจะต้องตายไปโดยไม่มีจิตวิญญาณเหลืออยู่ มันก็เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาที่ชีวิตคนๆ หนึ่งจะเลือนหายไปเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ธรรมชาติได้กำหนดเส้นเขตแดนสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นเดียวกับเส้นเขตแดนชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น การสูงวัยคือฉากสุดท้ายในละครแห่งชีวิต ซึ่งเราควรจากโรงละครนี้ไปหลังความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และแน่นอนที่สุด หลังจากที่เราได้ใช้ชีวิตของเรามาเสร็จสิ้นแล้ว”