2565 ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน กางโรดแมพแก้หนี้ครูนำร่อง

2565 ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน  กางโรดแมพแก้หนี้ครูนำร่อง

ฉบับที่ ๒ ของปี 2563 ช่วงเดียวกันนี้ผมเขียนถึงเรื่อง “หนี้ครัวเรือนที่กำลังจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ปีนี้ 2565 คงต้องเขียนถึง หนี้ครัวเรือนอีกครั้ง! เมื่อมีประกาศจากรัฐบาลตั้งเป้าให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” อย่างจริงจัง

นับได้ว่า เป็นการมองเห็นโครงสร้างของปัญหาใหญ่ที่เป็นความทุกข์ยากของประชาชนคนไทยที่ตรงเป้าอย่างแท้จริง กางโรดแมพแก้หนี้ข้าราชการ นำร่องครูและตำรวจ ที่มีปัญหาหนี้สินที่หมักหมมมาช้านาน

ครัวเรือนไทยมีหนี้สินพอกพูนมาได้อย่างไร

ข้อมูลล่าสุดจากของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ ไตรมาส 3/2564 ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ต่อจีดีพี เทียบกับสิ้นไตรมาส 4/2563 ครัวเรือนไทยมีหนี้สิน 14.03 ล้านล้านบาท หรือ 89.4% ต่อจีดีพี ธปท. ยังพบอีกว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย กลุ่มที่เป็นหนี้มากที่สุด คือวัยเริ่มทำงานอายุ 25-35 ปี กว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและหนี้บัตรเครดิต และ ยิ่งแก่ตัวไปหนี้ยังท่วมหัวเอาตัวแทบไม่รอด คนอายุ 60-69 ปี มีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาท/คน ส่วนคนอายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาท/คน

โดยหนี้ครัวเรือนเป็นการกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ 16% รองจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สะท้อนถึงความสำคัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ในการเป็นแหล่งเงินให้กู้ยืมที่สำคัญของภาคครัวเรือน

เมื่อพิจารณารายละเอียดของวัตถุประสงค์การกู้ยืมของสมาชิกสหกรณ์พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ กู้ยืมเพื่อนำไปชำระหนี้สินเดิม (26%) ใช้สอยส่วนตัว (24%) ใช้จ่ายด้านอื่นๆ (13%) แตกต่างจากการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านและรถยนต์ โดยหนี้หรือสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 34% หนี้รถมีสัดส่วน 25% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย มีสัดส่วน 40% หนี้อื่นๆ อีก 1% สูงมากเมื่อเทียบกับ สิงคโปร์ และอังกฤษ ที่ผู้คนมีหนี้จากการบริโภคไม่ถึง 5%

 

ปัจจัยที่ทำให้ครัวเรือนมีรายรับไม่พอรายจ่าย ส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายไม่จำเป็น และส่วนใหญ่มาจากภาระหนี้ที่สูง ซึ่งหากครัวเรือนปรับลดรายจ่าย ที่ไม่จำเป็นและนำเงินที่เหลือไปชาระหนี้ (ลดภาระหนี้) เพื่อลดเงินต้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ก็จะสร้างฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นได้ กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาและความอดทนอดกลั้นแต่สามารถทำได้

กู้ได้ง่าย กู้ได้เยอะ ครูถึงเป็นหนี้เยอะกว่าอาชีพอื่นๆ

ปัจจุบันพบว่า "หนี้ครู" กลายเป็นดินพอกหางหมู ครูและบุคลากรทางการศึกษา 900,000 คน คิดเป็น  80%  มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของครู คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25%

จากข้อมูลสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งนี้ ระบุว่า มีการให้กู้เงินกับสมาชิกของสหกรณ์ 5 ประเภทด้วยกัน วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 300 งวด/เดือน (25 ปี) โดยมีรายละเอียด แยกออกเป็นประเภท ดังนี้

1. เงินกู้สามัญ วงเงิน 3.5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่านชำระ 240 งวด/เดือน (สามารถกู้ใหม่ได้ทุก 6 เดือน)

2. เงินกู้สามัญ เพื่อสวัสดิการของสมาชิก วงเงิน 500,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 240 งวด/เดือน

3. เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน วงเงิน 60,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 12 งวด/เดือน

ข้อ 1 ข้อ 2 กับ ข้อ 3 สามารถกู้พร้อมกันได้

4. เงินกู้สามัญ เอทีเอ็ม วงเงิน 200,000 บาท ระยะเวลาผ่านชำระ 24 งวด/เดือนข้อ 3 กับ ข้อ 4 เลือกกู้ได้เพียงข้อเดียว

5. เงินกู้พิเศษ (ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน) วงเงิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 300 งวด/เดือน หากสมาชิกที่กู้ตาม ข้อ 5 จะไม่สามารถกู้ประเภทอื่นได้ ยกเว้น เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน (ข้อ 2 )

เมื่อข้อมูลเป็นแบบนี้ จะแก้ปัญหากันอย่างไร

โดยจากสาเหตุ และสภาพหนี้ปัจจุบันของการเป็นหนี้ดังกล่าว จะเห็นว่า เริ่มจากการอำนวยความสะดวกให้ครูกู้เงินได้อย่างน่าเหลือเชื่อ มีรูปแบบการกู้ให้เลือกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกู้แบบฉุกเฉิน มีหลักทรัพย์หรือไม่มีหลักทรัพย์ ใช้เพียงการค้ำประกันของสมาชิกกันไปมา กู้จากสถาบันการเงินอื่นๆ กู้นอกระบบ หรือกู้แทนคนอื่น โดยใช้อาชีพครูเป็นหลักฐานในการค้ำประกัน 

หน่วยงานอย่าง สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. ก็ส่งเสริมให้กู้สารพัดวิธี ที่สำคัญ คือ สามารถหักเงินผ่อนชำระหนี้เงินกู้ก่อนได้รับเงินเดือน ให้โดยเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้จัดระบบเชื่อมโยงกับธนาคาร และหากเปรียบเทียบกับข้าราชการอื่นแล้ว พบว่าได้รับการอำนวยความสะดวกในการกู้ยืมน้อยกว่ามากมาย

แผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบจัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้แบ่งการดำเนินงานในระยะแรก 3 แผนงาน ดังนี้

แผนงานที่ 1 โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเสนอให้ 

- ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3% 

- ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์และสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5-5% 

- ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยกเลิกการฟ้องคดี รวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในอัตรา 2.5 % 

- การปรับโครงสร้างหนี้ครูก่อนเกษียณ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ครูที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 0.25-0.50.% 

- ปรับลดการส่งค่าหุ้นรายเดือน 

- จัดทำฐานข้อมูลสมาชิกและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงินและต้นสังกัด ร่วมกันส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ จะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%

แผนงานที่ 2 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาครูรายที่ถูกฟ้อง พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่จังหวัดในการปรับโครงสร้างหนี้ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการระดับจังหวัด

แผนงานที่ 3 การจัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มอายุราชการ 1-5 ปี ให้มีความรู้ทางด้านการวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินและการออม โดยมีเป้าหมายอบรม 1 แสนคนต่อปี เริ่มอบรมรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ศูนย์ Deep กระทรวงศึกษาธิการ

หนี้ครัวเรือนยังคงแก้ที่ "ปลายเหตุ"

เรื่อง "หนี้" เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการบั่นทอนการทำงานของคนไทยจำนวนมาก และเป็นปัญหาที่เกิดจากนโยบายหลักของรัฐบาล ตลอดไปถึงเศรษฐกิจระดับปากท้องของประชาชนทุกระดับ จะตั้งคณะกรรมการกี่ชุดกี่รัฐบาลก็แก้ไม่ได้ หากยังแก้ที่ "ปลายเหตุ" อย่างแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบจัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการข้างต้น การแก้ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องพิจารณาทั้งโครงสร้าง ผู้กู้ ผู้ให้กู้ และ กระทรวงศึกษาธิการ และมองภาพรวมสาเหตุของปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน 

การแก้ไขปัญหาหนี้ครู อาจจะไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขปัญหารายบุคคล เช่น การสร้างวินัยทางด้านการเงินของตัวครูเองเท่านั้น แต่อาจจะรวมถึงการแก้ไขระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กัน