เมื่อตลาดโลกเตรียมรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น | บัณฑิต นิจถาวร
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือนธันวาคมปีที่แล้ววัดจากดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 สูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ตัวเลขจากดัชนีผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7
ชี้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐกำลังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐก็กังวลและแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหา
คำถามคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐจะมีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก และเราควรเตรียมรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้นอย่างไร
ตัวเลขเงินเฟ้อที่ร้อยละ 7 และร้อยละ 9.7 เดือนธันวาคม ตอกย้ำว่า เงินเฟ้อในสหรัฐกำลังเป็นขาขึ้นและจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลายจนควบคุมไม่ได้
ล่าสุดทั้งธนาคารกลางสหรัฐและตลาดการเงินก็ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้ และส่งสัญญาณความพร้อมที่จะรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้น
1.สัญญาณจากประธานธนาคารกลางสหรัฐ ที่ล่าสุดแสดงความเห็นว่า เงินเฟ้อเป็นปัญหาสำคัญและอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องปรับสูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหา
2. รายงานจากการประชุมภายในของนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารกลางสหรัฐ ที่แสดงความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อ และพร้อมเสนอให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด ถ้าสถานการณ์เงินเฟ้อรุนแรงกว่าคาด
ซึ่งความพร้อมนี้มาจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุดที่ชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง ภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงานอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้นโยบายการเงินสามารถให้ความสำคัญกับการดูแลเงินเฟ้อได้
3.ตลาดการเงินตอบรับความจำเป็นของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้ เริ่มครั้งแรกในเดือนมีนาคม ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัว โดยตลาดส่วนใหญ่ปรับลดลง ซึ่งการประเมินดังกล่าวทำก่อนตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคมจะมีการประกาศออกมา
สำหรับนักลงทุน สิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นจะเป็นครั้งแรกในรอบสี่ปีจากที่มีการปรับขึ้นครั้งล่าสุดปี 2018 การปรับขึ้นจะไม่ใช่ครั้งเดียว แต่จะเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องจนกว่าแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลง ซึ่งอาจใช้เวลาตลอดทั้งปี 2022
ดังนั้น การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะเป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในเศรษฐกิจโลก ทำให้พฤติกรรมการลงทุนและการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจต้องปรับตัว นำมาสู่การปรับพอร์ตการลงทุนและราคาสินทรัพย์ที่จะปรับตามความเสี่ยงที่ได้เปลี่ยนไป
ซึ่งทั้งหมดจะเป็นไปในทิศทางที่สวนทางกับสิ่งที่เราคุ้นเคยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นยุคสมัยของการมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง (Search for Yield) ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก เปลี่ยนเป็นยุคสมัยของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ต้นทุนการเงินจะแพงขึ้นและความเสี่ยงในการลงทุนจะมีมากขึ้น
อีกประเด็นคือ ความไม่แน่นอนของจังหวะเวลาที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะครั้งแรก ซึ่งในแง่การดำเนินการของเฟด กระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีขั้นตอนพอควร คือ
1) หยุดการอัดฉีดเงินด้วยมาตรการคิวอี 2) ดูดซับสภาพคล่องที่ปล่อยออกไปกลับ ซึ่งก็คือ ลดขนาดสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางถืออยู่ เพื่อให้สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อนที่เฟดจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3) คือ การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นี่คือขั้นตอนที่ควรเกิดขึ้น แต่ที่ห่วงกันคือ ตัวเลขเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นเร็วจนเฟดต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด คือก่อนที่กระบวนการเตรียมการดังกล่าวจะเสร็จสิ้น ทำให้ความสับสนและความไม่แน่นอนในตลาดการเงินจะมีมาก เพราะชี้ให้เห็นว่าเฟดกำลังเดินตามหลังปัญหา
คำถาม คือ เราควรเตรียมพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้นอย่างไร
การรับมือที่ดีที่สุด คือ มีความเข้าใจที่ดีว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลอย่างไรต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อเข้าใจแล้ว ก็เป็นหน้าที่เราในฐานะนักธุรกิจและนักลงทุนที่ต้องปรับตัว เพื่อปกป้องตนเอง หรือหาประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ
1. อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นแนวโน้มทั่วโลก เพราะต้นทุนเงินดอลลาร์สหรัฐที่แพงขึ้นจะทำให้ต้นทุนการเงินในสินทรัพย์อื่นๆ ทั่วโลกต้องปรับสูงขึ้นตาม
ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อก็จะเป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐแต่เป็นปัญหาของเศรษฐกิจทั่วโลกจากการเชื่อมต่อของเศรษฐกิจผ่านการค้าและการลงทุน
ผลคือปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวในทุกประเทศ สร้างแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในแต่ละประเทศต้องปรับขึ้น ประเทศเราก็หลีกเลี่ยงปัญหานี้ไม่ได้ อัตราดอกเบี้ยของสินทรัพย์เงินบาทก็จะปรับสูงขึ้นเช่นกัน
2. การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เศรษฐกิจสหรัฐชะลอ ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทยจะถูกกระทบมาก
ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนในทรัพย์สินสกุลเงินดอลลาร์สูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ กดดันให้เงินทุนต่างประเทศที่เคยลงทุนในตลาดเกิดใหม่ไหลกลับสหรัฐ
เกิดเงินทุนไหลออกจากเศรษฐกิจอย่างไทย กระทบค่าเงินบาท ฐานะทุนสำรองทางการ สภาพคล่องในประเทศ กดดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศต้องปรับสูงขึ้น กระทบโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
3. สำหรับนักลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้นจะกดดันให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้น กลับไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรจะปรับสูงขึ้น กดดันราคาพันธบัตรให้ปรับลดลง ภาคธุรกิจที่เป็นหนี้ก็จะมีภาระชำระหนี้สูงขึ้นกว่าเดิม
ขณะที่การลงทุนที่ได้ทำไปภายใต้ต้นทุนดอกเบี้ยที่เคยต่ำ ก็อาจจะไม่ทำกำไรในภาวะที่ต้นทุนการเงินแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว ลดทอนการลงทุนและการกู้ยืมที่ไม่จำเป็น สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ประจำ อัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น หมายถึง ภาระการชำระหนี้ที่จะสูงขึ้น
ขณะเดียวกันค่าครองชีพก็จะแพงขึ้นตามการเร่งตัวของเงินเฟ้อ ทำให้ความเป็นอยู่จะลำบากขึ้นพอควร เพราะรายได้เท่าเดิมแต่ภาระที่ต้องใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะต้องปรับตัวมากในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเตรียมตัว ปรับพอร์ตการลงทุน พฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อเตรียมรับมือกับวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่กำลังจะมา และสำหรับนักลงทุน ข้อมูลสำคัญที่ต้องติดตามประกอบการตัดสินใจ คือ ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตัวเลขเศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินเฟ้อ และ ข้อมูลผลประกอบการของบริษัท.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]