นักศึกษาและนักท่องเที่ยวในยุคจักรวาลนฤมิต (Metaverse)
ขณะนี้คำว่าจักรวาลนฤมิต ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ Metaverse เป็นที่ฮือฮากันในสังคมของคนรุ่นใหม่ เพราะฟังดูอลังการ แต่ก็ให้ภาพที่ค่อนข้างชัดเจน
ราชบัณฑิตระบุให้ใช้ได้ทั้งสองคำคือ จักรวาลนฤมิตหรือจะใช้ทับศัพท์ว่า เมตาเวิร์ส (Metaverse) ก็ได้ ที่จริงคำนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทตัวเองไปใช้ชื่อ Meta เพื่อรองรับโลกใหม่ที่กำลังจะมาถึง
เมตาเวิร์สเป็นโลกเสมือนคือโลกสามมิติที่สร้างด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้พร้อมกับผู้ใช้คนอื่นๆ
ในปัจจุบันผู้ใช้เทคโนโลยีสามารถมีส่วนร่วมในโลกดิจิทัลในรูปแบบสองมิติเท่านั้น เช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ แต่ในจักรวาลนฤมิตผู้เล่นเกมส์จะสามารถโรมรันศัตรูในเกมส์อย่างเมามันด้วยร่างทิพย์หรืออวตารของตัวเอง
ในกิจกรรมท่องเที่ยวผู้ใช้จะรู้สึกเหมือนว่าได้เข้าไปอยู่ในบรรยากาศในโลกเสมือนซึ่งอาจจะเป็นชายหาด ยอดเขาสูง หรือในโลกอะไรก็ได้ที่เทคโนโลยีนั้นสร้างขึ้น
จักรวาลนฤมิตนี้คาดว่าจะเป็นรุ่นต่อไปของระบบอินเทอร์เน็ตแบบสามมิติที่มนุษย์ติดต่อกันได้แบบซึ่งหน้าผ่านอวตาร หรืออาจเรียกว่าร่างเสมือนของผู้ใช้เทคโนโลยีโดยตัวเป็นๆ โดยไม่ต้องพบกันซึ่งหน้า
จักรวาลนฤมิตนี้จะเป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยีดิจิทัลประเภทเทคโนโลยีเสมือน (Virtual technology) แต่ในปัจจุบันผู้ใช้ยังต้องใส่แว่นหรือเครื่องสวมศีรษะ (Headset) ที่ทำให้มองเห็นภาพโลกเสมือนทั้งๆ ที่ยังอยู่ในโลกจริง
ผู้เขียนเคยได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีนี้เมื่อไปเยี่ยมบริษัทท่องเที่ยวของจีนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว โดย บริษัทท่องเที่ยวเอกชนได้นำเสนอโลกใต้สมุทรเป็นเวลา 5 นาที
ผู้เขียนได้รับเชิญเข้าไปในห้องที่มืดสนิทและเมื่อใส่เครื่องสวมศีรษะก็จะรู้สึกเหมือนว่ายืนอยู่ใต้ท้องสมุทรที่ลึกมาก และมีฝูงปลาเวียนว่ายอยู่ข้างบนมีทั้งปลาขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก แมงกะพรุนที่มีแสงสวยงามว่ายเข้ามาใกล้และดูเหมือนจริงจนแทบอยากจะจับให้ได้
ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่งได้รับเชิญเข้าไปเยี่ยมชมการโฆษณาบ้านจัดสรร เมื่อสวมแว่นแล้วก็รู้สึกเหมือนว่าได้เดินเข้าไปในบ้านและสามารถเข้าไปดูห้องต่างๆ ได้แบบเสมือนจริง
เทคโนโลยีเสมือนเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดให้เป็นเทคโนโลยีสามมิติและอาจมีโอกาสที่โลกเสมือนนี้จะมีความเสมือนจริงมากจนคล้ายเป็นโลกคู่ขนานที่มีผู้คน บ้านเมือง มีการค้า การลงทุน และจะมีการบูรณาการเทคโนโลยีบล็อกเชน สร้างเงินเสมือนโดยไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารกลางใดๆ
เพราะไม่ว่า ณ ที่ใด อะไรที่มีดีมานด์ก็ย่อมมีซัพพลายเสมอ ผู้คนสามารถไปใช้เงินตราเหล่านี้ซื้อสินค้า รวมทั้งบ้านและที่ดินในโลกเสมือนได้ แม้จะเป็นที่ตื่นเต้นกันมากในขณะนี้ แต่ก็คาดว่าเมตาเวิร์สยังต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าพัฒนาจนสามารถเชิงพาณิชย์ได้
จักวาลนฤมิตซึ่งบางคนก็เรียกว่าโลกทิพย์จะเปิดโลกใหม่เป็นโลกที่สามารถสร้างอุตสาหกรรมและความมั่งคั่ง “ชุดใหม่” และ “ยุคใหม่” นอกจากในโลกของเกมส์แล้วอุตสาหกรรมบันเทิงที่น่าจะเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่จะนำมาเข้ามาใช้
ในโลกของการศึกษาอาจจะพบกับการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย ในอนาคต นักศึกษาอาจจะเลือกที่จะไปเรียนมหาวิทยาลัยระดับโลกกระทบไหล่และหารือกับอาจารย์ที่ได้รับโนเบลที่ไหนในโลกก็ได้ในจักรวาลนฤมิต โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเรียนที่เมืองไทย
ที่ดีไปกว่าก็ต่อเมื่อต้องการนั้นก็คืออาจจะได้เรียนฟรีหรือเกือบ (ฟรี) หากมีการศึกษาในโลกเสมือนมีการแข่งขันสูง เพราะนักศึกษาจะไปเสียค่าธรรมเนียมสูงสำหรับสอบเพื่อขอรับปริญญา แต่ในยุคนั้นปริญญาก็อาจจะไม่สำคัญเลยก็ได้
ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากเท่าใด โลกเสมือนก็ยิ่งคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงโลกจริงมากเท่านั้น จักรวาลนฤมิตในอนาคตที่สมบูรณ์แบบนักท่องเที่ยวไม่ต้องเดินทาง แต่จะมีรู้สึกว่าได้เข้าไปอยู่ในสถานที่จริง ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนหรือได้ซื้อและใช้บริการและสินค้าต่างๆ เช่น ชมทิวทัศน์ที่เป็นจริง และสามารถซื้อที่พักและบริการในโลกเสมือนได้ด้วย
โอกาสที่จะเกิดขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคือ ในปัจจุบันเราสามารถใช้เทคโนโลยีเสมือน (VT) นี้ในการทำการตลาดและนำเสนอสินค้าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เช่น นำเสนอตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวในจักรวาลนฤมิตเพียง 2-3 นาที เพื่อกระตุ้นความต้องการให้นักท่องเที่ยวให้มาดูของจริง
อย่างไรก็ดี อาจจะมีผลกระทบทางลบได้หากโลกทิพย์นั้นดูดีกว่าโลกจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกทิพย์ไม่มีมลพิษ ขยะ และความแออัด และหากนักท่องเที่ยวตัดสินใจมาเที่ยวในโลกจริงแล้วก็อาจจะเกิดความไม่พอใจจนอาจจะตัดสินใจไม่มาเที่ยวอีกเลยก็ได้
ดังนั้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่นี้และเตรียมตัวที่จะรองรับเทคโนโลยี และความต้องการของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีนี้
อีกปัญหาหนึ่งก็คือว่า ผู้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้มักเป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศอาจจะถือโอกาสสร้างโลกเสมือนซึ่งใช้แรงดึงดูดใจด้านการท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยวประเภทมรดกโลกของประเทศอื่นๆ หรือเป็นแหล่งดึงดูดใจสำคัญของประเทศอื่นๆ เช่น เกาะภูเก็ตของไทย ทำให้ประเทศเจ้าของมรดกด้านการท่องเที่ยวแต่ดั้งเดิมสูญเสียโอกาสที่จะได้รายได้จากการท่องเที่ยว
ณ ปัจจุบันนี้อาจพูดได้ว่าว่าท่องเที่ยวไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ที่มีอิทธิพลดึงดูดคนทั้งโลกให้มารู้จักและชื่นชมประเทศไทย ผ่านอัธยาศัยไมตรีของคนไทย วัฒนธรรมอันดีงามและทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามของไทย
แต่เรายังขายซอฟต์พาวเวอร์นี้อย่างดิบๆ อยู่ ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยควรจะมีโอกาสได้รับการสร้างสรรค์ แต่งเติม และสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเชิดชูตำแหน่งแห่งที่ (Positioning) ของไทยในเวทีสังคมวัฒนธรรมโลกให้ชัดเจน
ไม่ใช่แค่เป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวน่าเที่ยวในโลกจริง แต่ยังสามารถไปชิงตำแหน่งประเทศที่น่าท่องเที่ยวในโลกเสมือนได้อีกด้วย แน่นอนในโลกนฤมิต เราจะต้องผสมผสานเทคโนโลยีเสมือนกับซอฟต์พาวเวอร์ที่เรามีอย่างแยบยล และเราจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้ ความเข้าใจอัตลักษณ์ไทยพร้อมๆ กับการมีทักษะด้านดิจิทัล
ยิ่งเรารู้ว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคจักรวาลนฤมิต ก็ยิ่งต้องเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเสมือนเพื่อจะสามารถนำมาใช้เป็นการเตรียมพร้อม เพราะการรู้เท่าทันอนาคตและการเตรียมตัวมีความสำคัญต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต.