3 ความท้าทายที่กลยุทธ์ 2022 ต้องตอบ | พสุ เดชะรินทร์

3 ความท้าทายที่กลยุทธ์ 2022 ต้องตอบ | พสุ เดชะรินทร์

เมื่อพิจารณาปัจจัยความท้าทายต่างๆ ที่ธุรกิจไทยจะต้องเผชิญในปี 2022 นั้น ก็จะมีความท้าทายอยู่ 3 ประการที่เกือบทุกบริษัทจะต้องเผชิญเหมือนๆ กัน

กลยุทธ์ที่ดีควรจะต้องสามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น รวมทั้งยังนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ทั้งในเรื่องของการเติบโตและการสร้างความแตกต่างได้ด้วย

กลยุทธ์ของบริษัทต่างๆ ในปี 2022 ควรจะมีประเด็นหรือสิ่งที่จะทำ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทั้ง 3 ประการอยู่ด้วย

ประการแรกคือ เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในกรณีที่สถานการณ์โควิดดีขึ้น หรือ ถ้าเกิดมีการกลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่ง หรือ การพลิกฟื้นกิจการจากวิกฤตที่เกิดขึ้นเนื่องจากโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือ กลยุทธ์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเนื่องจากโควิด หรือ แม้กระทั่งรูปแบบและวิธีการทำงานที่จะเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากโควิด เป็นต้น
    ประการที่สองคือ เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลเทคโนโลยี ทั้งการตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้าและพนักงานที่จะเปลี่ยนไปเนื่องจากดิจิทัลเทคโนโลยี หรือ การตอบสนองต่อผลกระทบที่ดิจิทัลเทคโนโลยีจะมีต่ออุตสาหกรรมหรือบริษัท

หรือ การเกาะกุมโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากดิจิทัลเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลหรือจักรวาลนฤมิต (Metaverse) หรือ การเกาะกุมโอกาสเนื่องจากช่องทางดิจิทัลและออนไลน์ต่างๆ หรือ การมุ่งเน้นในเรื่องของข้อมูล (Data) ทั้งการเก็บและการใช้ประโยชน์ เป็นต้น
    นอกจากกลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อดิจิทัลเทคโนโลยีในเชิงรุกแล้ว บริษัทควรจะมีกลยุทธ์หรือนโยบายที่เกี่ยวเนื่องจากกับเรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์ในปี 2022 ด้วย ทั้งในด้านของการดูแลความปลอดภัยของระบบ และการให้ความรู้กับทั้งพนักงานและลูกค้าเพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงและเป็นโอกาสที่คนอื่นจะโจมตีเข้ามาได้ เป็นต้น
    เชื่อว่าสำหรับหลายๆ บริษัทแล้ว คงจะมีกลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อความท้าทายสองประการแรกอยู่แล้ว สำหรับความท้าทายประการที่สาม นั้นมักจะพบในกลยุทธ์ของบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า คือเรื่อง ESG (Environment, Governance, Social) ซึ่งปัจจุบัน ESG ได้ทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

จากในอดีตที่หลายคนอาจจะมองว่า ESG เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) แต่ปัจจุบัน ESG ได้กลายเป็นแกนสำคัญในการบริหารสำหรับบริษัทจำนวนมาก
    ที่สำคัญคือหลายบริษัทได้มอง ESG เป็นความท้าทายที่สำคัญและได้มีการกำหนดกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อ ESG โดยส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ตัว E (Environment) เป็นส่วนใหญ่เนื่องจากเป็นสิ่งที่จับต้องและเห็นผลได้ง่าย

3 ความท้าทายที่กลยุทธ์ 2022 ต้องตอบ | พสุ เดชะรินทร์

ไม่ว่าจะเป็น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้พลังงานทดแทน การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การตอบสนองต่อเป้าหมาย Net Zero ที่ได้ประกาศไว้ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจและอุตสาหกรรม
    กลยุทธ์ที่สามารถตอบสนองต่อเรื่อง ESG ได้นั้นจะสามารถช่วยบริษัทได้อย่างน้องใน 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
1.    ตอบสนองต่อหน่วยกำกับและนักลงทุนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับคะแนน ESG มากขึ้น
2.    เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ทั้งต้นทุนในด้านพลังงานและการประหยัดต้นทุนจากการนำกลับมาใช้ใหม่
3.    แสวงหาโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ ทั้งการออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของความยั่งยืน
4.    เสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ ทั้งกับสังคม ลูกค้า ชุมชน นักลงทุน หรือ พนักงานภายใน
5.    ทำให้ทั้งบริษัทมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจนและไม่ใช่เป้าหมายที่มุ่งเน้นการทำกำไรสูงสุดหรือให้กับผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเป้าหมายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น บางบริษัทถึงขั้นที่นำเป้าในเรื่องของ ESG ไปผูกกับการประเมินผลผู้บริหารระดับสูงแล้ว
    ดังนั้น อย่าลืมไปทบทวนดูว่ากลยุทธ์ในปี 2022 ของบริษัทได้ตอบสนองต่อความท้าทายที่สำคัญทั้ง 3 ประการหรือยัง?

คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]