ผสานพลัง สร้างการเปลี่ยนแปลง | ประกาย ธีระวัฒนากุล
วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวตอกย้ำที่ชัดเจนว่า การทำงานแบบเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน บางครั้งก็ไม่สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลง ที่มีความซับซ้อน เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบรุนแรง
การทำงานในยุคหลังโควิด-19 จะต้องเปลี่ยนแปลงไป เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงนี้มีความท้าทายมากต่อการทำงานภาครัฐ
ดังจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ในขณะนี้ว่าการทำงานในลักษณะเป็นไซโล แบ่งแยกตามฟังก์ชั่นของแต่ละกระทรวงนั้นไม่อาจตอบโจทย์วาระสำคัญๆ ที่มีความซับซ้อนได้ ดังนั้นการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ไม่อาจทำสำเร็จได้ด้วยเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการนโยบายและการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน
หลักสูตรผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือหลักสูตร ป.ย.ป. ที่ทาง ThailandFuture ได้ร่วมกับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ได้นำเอากระบวนการ Policy Lab เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคิดเชิงออกแบบและมีการพัฒนาต้นแบบนโยบายในเชิงบูรณาการ การเปิดพื้นที่ร่วมคิดร่วมสร้างสรรค์ทำให้ได้โมเดลการบูรณาการวาระที่สำคัญของประเทศไทย 3 เรื่อง ได้แก่
1) การเตรียมการรองรับการเปิดประเทศเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวมีผลสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
เราเห็นผลกันอย่างชัดเจนว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในวงกว้าง
ดังนั้นหากไม่สามารถพื้นฟูสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศได้ เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง
ข้อเสนอการเตรียมการรองรับการเปิดประเทศที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงการปรับปรุงการท่องเที่ยวให้ดีกว่าเดิม
เช่น การจัดทำแพลตฟอร์มร่วมกับสำนักงานรัฐบาลดิจิทัลเพื่อทำให้การเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น การแก้ปัญหากฎระเบียบต่าง ๆ และการบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน
โดยแพลตฟอร์มควรช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวตลอดกระบวนการเดินทางมายังประเทศไทย เช่น การลงทะเบียนแรกเข้า (Check-in) ที่โรงแรม การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund)
และอาจบูรณาการกับหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงวัฒนธรรม ในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ท่องเที่ยว วัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยวตั้งแต่เดินทางเข้าประเทศจนถึงการเดินทางออกจากประเทศ
ทั้งนี้ ในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจะต้องคำนึงถึงนักท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย
2) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจแล้วอยากชวนให้หันกลับมามอง คือ การพึ่งพาการส่งออกหรือการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงนั้นมีความเสี่ยงอย่างมากกับประเทศไทย เราควรกลับมาสร้างความเข้มแข็งจากภายใน
ประเทศไทยต้องเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจัง การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่เริ่มจากชาวบ้านและชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี พัฒนาท้องที่ตามแนวคิด “ตลาดนำการผลิต” ที่มีเป้าหมายหลัก คือ
การสร้างรายได้ที่แท้จริงอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานภาครัฐสามารถช่วยพัฒนาเครือข่ายของรัฐบาลและเชิญชวนภาคีเครือข่ายจากภาคเอกชนมารับซื้อสินค้าจากพื้นที่ให้ไปจำหน่ายในธุรกิจของตัวเองได้ ซึ่งการพัฒนาต่อยอดในลักษณะนี้จะทำให้โครงการฯ เกิดความยั่งยืน
นอกจากนี้ การใช้ข้อมูลต้องมีการต่อยอดโดยการบูรณาการการเก็บข้อมูล เช่น การออกแบบเพื่อให้แต่ละหน่วยงานสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา และการออกแบบกระบวนการเก็บข้อมูลใหม่ในอนาคต เพื่อให้เกิดการพัฒนาต้นแบบข้อมูลระดับตำบลอย่างแท้จริง
3) การพัฒนาคน เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้สองเรื่องแรก เนื่องจากการพัฒนาคนนั้นมีหลายมิติ สามารถเชื่อมโยงการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างความรู้ และการพัฒนาตลาดเข้ากับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้ เพื่อช่วยยกระดับรายได้ของชาวบ้าน
นอกจากนี้ ควรสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจากภาคเอกชน รวมทั้งเร่งรัดการจัดหาตลาดและแหล่งรับซื้อผลิตภัณฑ์ให้กับชาวบ้าน ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 2 โครงการ ควบคู่กันจะทำให้เกิดการบูรณาการที่แก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมทุกมิติอย่างแท้จริง
ทุกปัญหามีทางออก และทุกทางออกต้องเริ่มจากการมองอนาคต อนาคตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกอย่างที่เคยทำมาแบบเดิมนั้นอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป
การทำงานแบบใหม่จากนี้ไปจึงต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการปลดล็อค ทลายข้อต่อข้อติดขัด การปฎิรูปกลไกการทำงาน การเปิดเวทีการทำงานร่วมกัน เสริมด้วยนวัตกรรมและวิธีการแบบสร้างสรรค์
นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ไม่อาจทำสำเร็จได้ด้วยเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้นแล้วดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องอาศัยระยะเวลา
แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่เริ่มต้นที่จะเปลี่ยน ความตั้งใจในการแก้ปัญหานั้นสำคัญ และที่สำคัญ การบูรณาการงานผสานพลัง ร่วมคิดร่วมทำ เป็นหัวใจสำคัญแห่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง.
คอลัมน์ : คิดอนาคต
ประกาย ธีระวัฒนากุล
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation