สานพลัง รัฐ-เอกชน สร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ พยุงเกษตรกร
ผู้ส่งออกไข่ไก่ของไทยต้องยอม “ส่งออกไข่ในราคาขาดทุน” เพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนและสหรัฐ เป็นการเสียสละเพื่อเกษตรกรและคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ที่กำลังสร้างผลกระทบอย่างหนักหนาให้กับเกษตรกรคนเลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศไม่ว่าจะรายย่อย รายกลาง รายใหญ่ จากราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรที่ 2.50 บาทต่อฟอง ขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ ในไตรมาสที่ 1/2564 (มกราคม-มีนาคม) เฉลี่ยสูงขึ้นมาฟองละ 2.66 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมมากว่า 3 เดือน นับจากธันวาคม 2563 ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลโดยตรงต่อภาวะการบริโภคที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น กำลังซื้อต่ำลง ขณะเดียวกันห้างร้านต่างๆ ร้านอาหาร และตลาดบางแห่งต้องปิดทำการ การท่องเที่ยวหยุดชะงัก หลายพื้นที่ต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของโควิด จนต้องประกาศหยุดการเรียนการสอน รวมทั้งผู้ประกอบการและบริษัทบางส่วนให้พนักงานทำงาน Work From Home เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เกิดในวงกว้าง ส่งผลให้การบริโภคไข่ไก่ซึ่งเป็นส่วนประกอบในอาหารสำหรับนักเรียนและคนทำงานลดลง ปริมาณไข่ไก่สะสมจึงเพิ่มขึ้น
ขณะที่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น มีปัจจัยหลักมาจากการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ทั้งโรคในสัตว์ปีกสำคัญอย่างไข้หวัดนกที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศรอบบ้านเรา รวมถึงการป้องกันโควิดในบุคลากรอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวโพดอาหารสัตว์ กากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และปลายข้าว ที่ต่างพากันขึ้นราคาทั้งกระดาน กลายเป็นปัจจัยเติมทุกข์ให้กับเกษตรกร
คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) มองเห็นปัญหานี้ จึงเร่งประชุมหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระทั่งได้ข้อสรุปของแนวทางแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยการผลักดันการส่งออก ตามข้อเสนอของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ และมอบหมายให้กรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการเอ้กบอร์ด แจ้งมติต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการเสนอขอใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามระเบียบกองทุนรวมฯโดยด่วน เพื่อช่วยเหลือพยุงเกษตรกรไม่ให้ได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้
ประเด็นราคาไข่ตกต่ำ สุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ บอกว่า ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรในปัจจุบันอยู่ที่ฟองละ 2.50-2.60 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึง 2.69 บาทต่อฟองแล้ว ที่ผ่านมาเกษตรกรทั่วประเทศต่างพยายามแก้ปัญหาร่วมกัน ด้วยการวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบ มีการปลดแม่ไก่ยืนกรงเพื่อรักษาสมดุลปริมาณกับการบริโภค อย่างไรก็ตาม ระดับราคาไข่ไก่จะเป็นไปตามกลไกตลาดเสมอ โดยการผลิตไข่ไก่ของไทย เป็นการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคในประเทศ มีผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย หรือรวมตัวกันในรูปแบบชมรมและสหกรณ์ ส่วนการส่งออกไข่ไก่จะเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นต้องระบายผลผลิตส่วนเกินให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ โดยผู้ส่งออกไข่ไก่ของไทยต้องยอม “ส่งออกไข่ในราคาขาดทุน” เพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนและสหรัฐฯ จึงไม่มีใครอยากทำการส่งออกไข่ เพราะไม่ใช่การสร้างกำไร แต่เป็นการเสียสละเพื่อเกษตรกรและคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน
สำหรับภาคเอกชน ที่ออกมาขานรับมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ด้วยการสนับสนุนมติเอกบอร์ดในการมาตราการเร่งผลักดันไข่ส่วนเกินภายในประเทศ จำนวน 100 ล้านฟอง โดยส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นภาคสมัครใจ ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2564 โดยใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มาสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวน 50 ล้านบาท และให้เกษตรกรสมทบอีก 100 ล้านฟอง รวมเป็น 200 ล้านฟอง
เรื่องนี้ สมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ บอกว่า ซีพีเอฟในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไข่ไก่ ยินดีให้ความร่วมมือและพร้อมสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยในการผลักดันการส่งออกในเฟสแรกรวม 60 ล้านฟอง (จำนวน 185 ตู้) ซีพีเอฟจะดำเนินการส่งออก 16 ล้านฟอง (จำนวน 50 ตู้) แม้ว่าในการส่งออกจะต้องขาดทุนถึงฟองละ 40-50 สตางค์ ก็ตาม แต่บริษัทก็ยินดี เพื่อสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิต ให้สอดคล้องกับการบริโภคของประชาชน ช่วยให้เกิดเสถียรภาพราคาไข่ไก่ทั้งอุตสาหกรรม
นับเป็นอีกครั้งที่ ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน ผนึกกำลังในการสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ช่วยเกษตรกรทั่วประเทศที่กำลังประสบปัญหาขาดทุน อย่างน้อยเพื่อให้พวกเขามีรายได้ที่ดีขึ้น สามารถต่อยอดอาชีพเดียวที่มี ไม่ให้ล้มหายตายจาก ให้พวกเขาได้ก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน./