จับตาทิศทางการเงินยั่งยืน (Sustainable Finance)
สวัสดีครับ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การที่นักลงทุนต่างตระหนักถึงผลกระทบในเชิงความยั่งยืน (ESG) มากขึ้น และกฎเกณฑ์ทางการที่เข้มงวดกว่าเดิม ล้วนส่งผลให้ธนาคารต่างๆ มองแนวทางการดำเนินธุรกิจผ่านมุมมอง ESG ว่ามิใช่เป็นเพียงโอกาสทางธุรกิจตามกระแส
แต่เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองอุปสงค์การเงินเพื่อความยั่งยืนให้ดียิ่งขึ้นสำหรับทั้งลูกค้ารายย่อย ลูกค้าองค์กร และนักลงทุนสถาบัน
จากการสำรวจโดย Morgan Stanley พบว่าภาพรวมภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนระดับโลกได้ขยายตัวเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 2559 และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับมิติด้าน ESG
จากการสำรวจวิเคราะห์ประชากรกลุ่ม Millennials พบว่าร้อยละ 86 ของผู้ตอบในกลุ่มช่วงอายุนี้มีแนวคิดการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้าน ESG ของธุรกิจควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวพร้อมทั้งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อกลุ่ม Millennials มีรายได้เพิ่มขึ้นและลงทุนเพิ่มขึ้นตามกำลังทรัพย์ ปริมาณการลงทุนอย่างยั่งยืนก็จะเพิ่มตามเช่นกัน
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสนใจว่า Sustainable Bonds Insight 2021 ได้รายงานถึงผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียว (Green Finance) ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond)
โดยในปี 2563 มูลค่าของผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวออกใหม่ทั่วโลกสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2 เท่าของปี 2562 และหนึ่งในตราสารหนี้ประเภทใหม่ที่น่าสนใจคือตราสารหนี้ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งออกครั้งแรกในปี 2562 โดย Enel บริษัทพลังงานทางเลือกชั้นนำในอิตาลี
สำหรับการดำเนินงานด้าน ESG ในตลาดอาเซียนนั้น WWF Sustainable Banking Assessment 2020 รายงานว่าสิงคโปร์คือประเทศที่มีพัฒนาการภาพรวมการดำเนินงานด้าน ESG มากที่สุด ตามด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งการลงทุนสีเขียวในไทยยังคงมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีก โดยเมื่อปลายปี 2564 Ernst & Young (EY) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในไทยภายใต้หัวข้อ ESG Finance & Business Opportunities และได้วิเคราะห์แนวโน้มที่น่าจับตาด้านการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Macro Trends) ที่คาดว่าจะส่งผลต่อบริการทางการเงินต่างๆ ในอนาคตอันใกล้ โดยแบ่งได้เป็น 4 หมวด ได้แก่ กลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง ข้อมูลและตัวชี้วัด และการกำกับดูแลกิจการและอื่นๆ โดยสรุปได้เป็น 13 แนวโน้มดังต่อไปนี้
- การให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และการปรับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
- การลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) ด้วยยุทธศาสตร์ด้านภูมิอากาศและการปรับเปลี่ยนสู่แนวทางการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ
- การเงินสีเขียว ตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้านผลิตภัณฑ์เงินทุนเพื่อขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน
- เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การดูแลติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด (Active Stewardship) จนถึงการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบในเชิงบวก (Impact Investing)
- การจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Taxonomies) เพื่อป้องกันการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่าช่วยส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น (Greenwashing)
- ความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้านการวิเคราะห์แบบจำลองและเหตุการณ์ความเสี่ยงซึ่งละเอียดซับซ้อนกว่าเดิม
- การกำหนดให้รวมความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไว้ในกรอบการบริหารความเสี่ยง
- ความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้านคุณภาพของข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิธีการประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG หรือความยั่งยืนที่เป็นแบบแผนเดียวกัน
- การเพิ่มข้อบังคับในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน และการร่วมกันปรับกรอบการรายงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
- ความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความรับผิดชอบและการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการบริษัทในแง่การมุ่งสู่ความยั่งยืน
- ความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการทำความเข้าใจผลกระทบของซัพพลายเชนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
- การปรับขยายตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจและตลาดใหม่อื่นๆ ด้านเครดิตเพื่อสิ่งแวดล้อม
- แนวโน้มเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทคสีเขียว และเครือข่ายฟินเทคต่างๆ
จากแนวโน้มข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่าสถาบันการเงินหลายแห่งได้เริ่มนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเป็นพื้นฐานในการต่อยอดการออกแบบนโยบายหรือกรอบการทำงานด้าน ESG พร้อมทั้งปรับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อให้แนวทางการดำเนินกิจการเป็นไปในลักษณะที่ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของภาคธุรกิจและประชาชนครับ