บิตคอยน์ไม่ใช่สินทรัพย์ โปรดสังวร | โสภณ พรโชคชัย
การโหมโฆษณาให้ลงทุนในบิตคอยน์หรือ Cryptocurrency อื่นๆ ทำกันอย่างขนานใหญ่ กวาดไปจนถึงคนหนุ่มสาวเบี้ยน้อยหอยน้อย กะว่าจะได้คนไปลงทุน และลงเหวกันมากมาย
การลงทุนในบิตคอยน์หรือ Cryptocurrency อื่นมีความเสี่ยงสูงมาก และควรใช้วิจารณญาณเป็นพิเศษในการลงทุน
เพราะขาดปัจจัยพื้นฐานของการเป็นสินทรัพย์ที่แท้ ดร.โสภณในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินฟันธงว่าบิตคอยน์ไม่ใช่สินทรัพย์ที่พึงลงทุน
การลงทุนในบิตคอยน์หรือ Cryptocurrency อื่นมีความเสี่ยงสูงมาก และควรใช้วิจารณญาณเป็นพิเศษในการลงทุน
เพราะขาดปัจจัยพื้นฐานของการเป็นสินทรัพย์ที่แท้ แต่ก็มีบางคนอ้างอิงไปถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน แต่บล็อกเชนก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การสร้าง Cryptocurrency ขึ้นจากบล็อกเชนที่ไม่มีทรัพย์หรือพื้นฐานใดๆ รองรับ เป็นการเสกค่ากันขึ้นมาเองหรือไม่
จากแหล่งข้อมูลที่เข้าใจได้ง่ายๆ เช่น Finnomena ได้จัดแบ่งกลุ่มสินทรัพย์ (Asset class) ที่มีลักษณะและพื้นฐานคล้ายคลึงกันมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่อง ความเสี่ยง และผลตอบแทน โดยแยกออกเป็น
1. เงินสด (Cash) คือ เงินที่อยู่ในรูปแบบของสกุลเงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เหรียญกษาปณ์ ธนบัตร เงินฝากธนาคารประเภทต่าง ๆ โดยในที่นี่จะรวมไปถึงรายการเทียบเท่าเงินสด (Cash equivalents) ด้วย
2. ตราสารหนี้ (Fixed income) ตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่แสดงถึงการกู้ยืม โดยผู้ถือตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” หรือ “ผู้ให้กู้” ส่วนผู้ออกตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” หรือ “ผู้กู้” เมื่อครบกำหนด
3. อสังหาริมทรัพย์ (Real estate) คือ ที่ดินและทรัพย์สินที่ติดกับที่ดินซึ่งรวมถึงส่วนต่อเติมถาวรที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น เช่น บ้าน อาคารชุด อาคารสำนักงาน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิทธิเก็บกิน ค่าเซ้งอีกด้วย
4. หุ้น (Stocks) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า ตราสารทุน (Equity) เป็นตราสารที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของบริษัทซึ่งออกโดยบริษัทต่าง ๆ เพื่อเป็นการระดมเงินทุนไปใช้ในการดำเนินกิจการ ผู้ที่ถือตราสารทุนจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจาก “ส่วนต่างของราคา (Capital gain)” รวมไปถึงผลตอนแทนจาก “เงินปันผล (Dividend yield)”
5. สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ไม่ว่าจะผลิตที่ใดและใครเป็นผู้ผลิตก็ตาม สินค้าโภคภัณฑ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
ซึ่งได้แก่ Hard Commodity คือสินค้าที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น ถ่านหิน ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น และ Soft Commodity คือสินค้าที่เกิดจากการผลิตของมนุษย์ เช่น สินค้าทางการเกษตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ข้าวโพด ข้าวสาลี เป็นต้น
ในการประเมินค่าทรัพย์สิน เรายังสามารถแบ่งสินทรัพย์ออกเป็น
1. สินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible assets) ซึ่งประกอบด้วย สินทรัพย์หมุนเวียน และสินทรัพย์ถาวร หรืออาจแบ่งออกเป็นสังหาริมทรัพย์ (moveable properties) และอสังหาริมทรัพย์ (immovable properties)
2. สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible assets) เช่น ค่าความนิยม ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น บัญชีลูกหนี้ ตราสารหนี้ และหุ้น
ทรัพย์ทั้งหลายมีสิ่งค้ำยันที่แน่ชัดอยู่เบื้องหลัง เช่น ธนบัตรได้รับการรับรองทั่วโลก อสังหาริมทรัพย์ก็ใช้สอยได้ หุ้นก็มีปัจจัยพื้นฐาน ขึ้นลงตามภาวะตลาดของกิจการนั้นๆ สินค้าโภคภัณฑ์ ก็มีอรรถประโยชน์แน่ชัด เป็นต้น
แต่บิตคอยน์ไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้อยู่เบื้องหลัง อยู่ดีๆ ก็ได้จากการขุด การทำเหมือง ซึ่งถือได้ว่าได้มาโดยมิชอบแบบฉวยเอา ไม่ได้เกิดจากการทำมาหากินใดๆ แถมยังมีที่มาที่ไปที่ลึกลับอย่างกับในภาพยนตร์ฮอลลี่วูดเรื่อง Matrix หรือ Terminator อะไรทำนองนั้น
บางคนอ้างว่าทองคำก็คล้ายบิตคอยน์คือไม่ได้มีประโยชน์อันใด อันนี้เป็นความเข้าใจผิดที่พวกปั่นบิตคอยน์พยายามเล่ากรอกหูกันมา
อันที่จริงทองคำมีประวัติความเป็นมา ในฐานะเป็นสื่อแลกเปลี่ยนหรือของมีค่ามาประมาณ 40,000 ปีมาแล้ว ยิ่งกว่านั้นทองคำยังมีประโยชน์ใช้สอยในเชิงอุตสาหกรรม และเป็นเครื่องประดับต่างๆ อีกด้วย ทองคำจึงมีสถานะเป็นโลหะมีค่าที่เป็นแหล่งสะสมมูลค่า (Store of Value) ที่เป็นที่นิยมกันมาช้านานแล้ว
บางคนพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้บิตคอยน์และ Cryptocurrency ต่างๆ โดยบอกว่าบิตคอยน์เป็น Digital Currency ซึ่งไม่เป็นความจริง เช่น “เงินหยวนดิจิทัล” (Digital Yuan) ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Digital Currency Electronic Payment (DCEP)
สกุลเงินดิจิทัลของจีนซึ่งแตกต่างจาก Bitcoin โดยอัตราเงินหยวนดิจิทัล จะอ้างอิงกับค่าเงินหยวนแบบ 1:1 นั่นหมายความว่าถ้าเงินหยวนมีค่าเท่าไร หยวนดิจิทัลก็จะมีค่าเท่านั้น ในขณะที่ Bitcoin ไม่ต้องระบุตัวตนก็สามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระ และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมใด ๆ
แต่เงินหยวนดิจิทัลนั้น ธนาคารกลางจีนมีสิทธิ์ควบคุมโดยตรง เพราะเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาทำให้สามารถติดตามได้ว่าเงินไปอยู่ที่ไหนและถูกใช้จ่ายอย่างไรบ้าง นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังสามารถตรวจสอบการทุจริตด้านการเงินซึ่งสร้างความน่าเชื่อให้กับผู้ใช้งานมากขึ้นและ ถือเป็นการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว
ยิ่งกว่านั้นบางคนยังไปพัวพันบิตคอยน์กับเทคโนโลยีบล็อกเชน แต่อันที่จริงคงเป็นความพยายามสร้างเครดิตของพวก Cryptocurrency มากกว่า อาจกล่าวได้ว่าบล็อกเชนและบิตคอยน์เป็นสองสิ่งที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง:
1. บิตคอยน์เป็น สกุลเงินดิจิตัล ในขณะที่บล็อกเชนเป็นฐานข้อมูลแบบกระจาย
2. บิตคอยน์ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีบล็อคเชน แต่บล็อคเชนใช้ประโยชน์นอกเหนือไปอีกมากมายหลายอย่าง
3. บิตคอยน์ส่งเสริมการไม่เปิดเผยตัวตน (พวกโจรเรียกค่าไถ่ มิจฉาชีพชอบ) ในขณะที่บล็อกเชนนั้นเกี่ยวกับความโปร่งใส เพื่อนำไปใช้ในบางภาคส่วน (โดยเฉพาะการธนาคาร) บล็อกเชนต้องปฏิบัติตามกฎการรู้จักลูกค้าของคุณที่เข้มงวด
4. บิตคอยน์โอน “สกุลเงิน” ระหว่างผู้ใช้ ในขณะที่บล็อกเชนสามารถใช้ในการถ่ายโอน สิ่งต่างๆ ได้ ทุกประเภทรวมถึงข้อมูลหรือสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
ยังมีบางคนบอกว่า มีบางประเทศที่ยอมรับบิตคอยน์ ดังข่าวว่า “(เอลซัลวาดอร์เป็น) ประเทศแรกในโลกดัน Bitcoin เป็นการชำระเงินถูกกฎหมาย” (6 มิถุนายน 2564) แต่ประเทศนี้เป็นประเทศจนๆ มีประชากรพอๆ กับกรุงเทพมหานคร น่าเชื่อถือเสียที่ไหน
หลายคนก็ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่าตั้งอยู่ในทวีปอเมริกากลาง ที่สำคัญในไม่กี่วันต่อมา (17 มิถุนายน 2564) “เวิลด์แบงก์ ยืนกรานไม่รับรอง เอลซัลวาดอร์ ใช้เงินบิตคอยน์ตามกฎหมายประเทศ” อาจเป็นที่สงสัยว่า “แก๊งบิตคอยน์” คงซื้อผู้นำประเทศเอลซัลวาดอร์ไปแล้ว (ฮา)
อาจกล่าวได้ว่าการซื้อขายบิตคอยน์ก็มีตลาดมาระยะหนึ่ง แต่ตลาดนี้ก็ไม่ได้มีการควบคุมใดๆ ทำให้ขาดความมั่นคง โปร่งใสเท่าที่ควร คล้ายกับตลาดพระเครื่อง ตลาดจตุคามรามเทพ ซึ่งก็มีผู้ซื้ออยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ยกเว้นราคาที่ผิดเพี้ยน (Outliers) ซึ่งเกิดจากการปั่นราคาและการฟอกเงิน
บิตคอยน์มีจำนวนที่จำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เข้าข่ายของความหายาก (Rare) และขาดแคลน (Scarcity) แต่โดยที่ไม่มีอุปทานใหม่ แต่มูลค่าที่แท้จริงก็อาจไม่มียกเว้นการซื้อขายเก็งกำไรกันไป ยิ่งกว่านั้นบิตคอยน์ยังนำมาสร้างรายได้ไม่ได้ซึ่งต่างจากแบรนด์สินค้า
อย่าตามก้นกันเล่นการพนัน อย่าตามก้นคนดังที่อาจพาเราลงเหว
คอลัมน์ : อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน
ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย