เปลี่ยนโบสถ์ เป็นบ้าน 

เปลี่ยนโบสถ์ เป็นบ้าน 

การมาเยือนของโควิด ได้สั่นสะเทือนชีวิตของมนุษยชาติอย่างมากมาย ไม่มีวงการใดหลุดพ้นไปได้ แม้กระทั่งวงการศาสนา ก็ได้รับผลกระทบอย่างคาดไม่ถึง

เมื่อมนุษย์จำเป็นต้องรักษาระยะห่างทางสังคม การไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนา จึงเกิดขึ้นไม่ได้ และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ผู้คนตกงานมากมาย เงินบริจาคก็ลดลง โบสถ์และวัดเริ่มร้างราผู้คน เงินที่จำเป็นต้องใช้ก็เริ่มร่อยหรอลงไป

นอกจากนั้น นับตั้งแต่ก่อนโควิดจะมาเยือน คนไปโบสถ์ ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมานานนับสิบๆปี แล้วอีกด้วย

ผลที่ตามมาคือ “ความท้าทาย” ของศาสนสถานก็ไม่ต่างไปจากการบริหารธุรกิจเลยครับ เพราะเมื่อลูกค้ามีน้อยลง และลูกค้าที่มีอยู่ก็กระเป๋าแฟบลง ซื้อสินค้าน้อยลง กระแสเงินสดของศาสนสถานต่างๆจึงสะดุดลงไปด้วย และต้องหาวิธีว่า ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด

สูตรสำเร็จ อย่างหนึ่งของธุรกิจที่อยู่ในยามยากลำบาก ก็คือ การตัดขายทรัพย์สิน และการลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อช่วยให้ประคองตัวอยู่ได้

นิตยสาร The Economist รายงานว่า ศาสนาบางนิกายเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น Church of Scientology มีอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ Hollywood มูลค่ากว่า US$400 ล้าน และมีปราสาทที่อาฟริกาใต้ รวมทั้งคฤหาสน์ในเมือง Sussex ประเทศอังกฤษอีกด้วย

 

ส่วนนิกายมอร์มอน ก็มีเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ฟาร์มวัว สวนสนุกในฮาวาย และศูนย์การค้าในยูท่าห์ ฯลฯ มูลค่ามหาศาลเช่นกัน

The Economist ยังรายงานด้วยว่า วัดธรรมกาย เป็นวัดที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย และเคยประกาศว่า “เรามีศูนย์ปฏิบัติธรรมอยู่ทั่วโลก” แต่รายงานฉบับนี้ก็หยุดไว้เพียงนั้น ซึ่งถ้าตีความในบริบทของบทความนี้ อาจจะอยากตั้งประเด็นให้คิดกันเองว่า “วัดนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด ไปด้วยหรือไม่หนอ” คงอะไรทำนองนั้น

ผู้บริหารศาสนสถานนิกายต่างๆ เมื่อมีรายได้เข้ามาน้อย แต่รายจ่ายยังต้องมี เพื่อใช้ในการซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารต่างๆ จึงจำต้องทำแบบเดียวกันครับ นั่นคือการประกาศขายโบสถ์และอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ออกไป เพื่อเอากระแสเงินสดกลับเข้ามา

บางแห่งก็ประกาศลดจำนวนสาขา เช่น มีโบสถ์ 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันนัก ก็ปิดเสียแห่งหนึ่ง ให้เหลือเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทำเหมือนการปิดสาขาแบงก์เลยครับ

The Economist รายงานด้วยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ โบสถ์ในประเทศอังกฤษ ได้ถูกปิดตัวลงปีละประมาณ 200 แห่ง และหลายแห่งก็ถูกประกาศขาย ซึ่งทำให้ผมสงสัยว่า ใครจะซื้อโบสถ์ และจะซื้อไปทำไม 

ผมเลยลองเปิดเข้าไปดูในเว็บ ก็พบว่าเขามีลีลาการตลาดที่น่าสนใจทีเดียว คือประกาศเชิญชวนให้ “เปลี่ยนโบสถ์ เป็นบ้าน” ครับ ลองอ่านประกาศโฆษณาชุดนี้สิครับ….

“คุณกำลังมองหาที่อยู่แห่งใหม่ใช่ไหม..  เราเชิญคุณมาสร้างฝันให้เป็นจริงด้วยการนำโบสถ์สง่างามแห่งนี้ พร้อมสวนหน้าโบสถ์ที่สดใสงดงาม ไปปรับเปลี่ยน ให้เป็นบ้านในจินตนาการของคุณ…”

 สนใจไหมครับ อยากซื้อไหมครับ ผมว่าน่าสนใจนะ ถ้าหากคุณคิดจะย้ายประเทศอยู่แล้ว ก็ลองเอาประกาศขายโบสถ์ไปพิจารณาดูนะครับ

เรื่องของโควิดกับโบสถ์ ทำให้ผมหวนคิดว่า โควิดกับวัด ก็ไม่แตกต่างกันนะ สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วก็คือ คนตักบาตรน้อยลง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และบริจาคลดลง วัดและพระก็เดือดร้อนไม่น้อย และช่วงล็อกดาวน์ วัดก็ต้องปิดเหมือนกัน

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า โควิดส่งผลไปทั่วหน้า ไม่เว้นแม้วัดวาอาราม แต่วัดก็ยังต้องให้บริการสังคม และต้องประคับประคองให้ผ่านพ้นภาวะนี้ไปให้ได้ เช่นกัน

หลายๆวัด ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการสังคม เป็นแบบออนไลน์ มีการสวดมนต์ออนไลน์ สนทนาธรรมออนไลน์ ฯลฯ บางแห่งก็ทำได้ดีมาก เพราะสั่งสอนหลักศาสนาได้อย่างลึกซึ้งและมีคุณค่า เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) และพระสงฆ์จากวัดญาณเวศกวัน เป็นต้น

แต่ละวัดต่างก็มีวิธีการนำเสนอศาสนบริการให้แก่สังคม ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปครับ บางวัด จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่ทราบได้ ใช้เทคโนโลยีออนไลน์เหมือนกัน โดยมีพระสงฆ์ที่ออกมาสอนธรรมะ ในลักษณะที่คล้ายกับว่าจะ “เปลี่ยนวัด เป็นวิก”

คือเสนอธรรมะ แล้วเติมเต็มด้วยความสนุกสนานอีกมากมาย จนมีแฟนติดตามนับแสน แถมรีวิวสินค้าไปด้วย ทันสมัยจริงๆ จนกลายเป็น พระดารา

เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น เมื่อประเมินผลรวม ทั้งในทางการเงินและมิใช่การเงินแล้ว ผมไม่ทราบเหมือนกัน ว่าวัดได้รับผลเป็นบวกหรือลบ

ผมทราบแต่เพียงว่า “พระตลก” ได้ออกไปเป็น “ดาราตลก” เต็มตัวแล้วครับ