บริหารพอร์ตเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพด้วย RMF
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน เปิดปีเสือมาอย่างดุดันพอสมควรสำหรับตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนื้ ทั้งนี้ด้วยความกังวลกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่าธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่มากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ส่งผลทำให้หุ้นหลายกลุ่มปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้นจากหลายปัจจัย วันนี้เราลองมาดูว่าเราจะบริหารพอร์ต RMF ของเราให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนของตลาดทุน
เป็นที่ทราบกันดีว่าการลงทุนที่ดีนั้นเราควรทำการจัดพอร์ตการลงทุนให้หลักทรัพย์ในพอร์ตของเรามีการกระจายการลงทุนไปยังหลายกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ สินทรัพย์ทางเลือกเป็นต้น และจัดพอร์ตให้มีระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ การลงทุนใน RMF ให้มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการบริหารพอร์ตเกษียณของเราก็เช่นเดียวกัน
แต่จากการพูดคุยกับเพื่อนๆหลายคนมักจะไม่ได้ลงทุนแบบนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบางคนมอง RMF เป็นเพียงแค่กองทุนสำหรับลดหย่อนภาษีเป็นหลัก และอีกเหตุผลอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีกองทุนให้เราเลือกได้หลากหลายเหมือนในปัจจุบัน
ข้อที่สองในการบริหารพอร์ตการลงทุนก็คือควรมีการปรับพอร์ตอยู่เป็นระยะทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปรับสัดส่วนการลงทุนหรือการรีบาลานซ์พอร์ตนั่นเองหรืออีกเหตุผลคือเพื่อปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของภาวะตลาด
เช่นในอดีตอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ในระดับที่สูงและธนาคารกลางใช้นโยบายแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย(แม้ไม่สูงเท่ากับการลงทุนในหุ้น)
แต่เมื่อนโยบายดังกล่าวเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม การลงทุนในตราสารหนี้อาจให้ผลตอบแทนที่ติดลบได้ ทำให้แม้กระทั่งการจัดพอร์ตแบบที่เสี่ยงน้อยที่สุดก็อาจมีผลตอบแทนติดลบได้ ดังนั้นการลดการลงทุนในตราสารหนี้และเปลี่ยนเป็นลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินหรือตราสารหนี้ระยะสั้นอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่รักษาเงินต้นของเราเอาไว้และไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน หรือเมื่อภาวะเศรษฐกิจและนโยบายการเงินไม่เอื้อต่อราคาหุ้นการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงบ้างก็อาจเป็นการลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนของเราได้เช่นกัน
ดังนั้นวันนี้ผมอยากฝากข้อคิดในการลงทุนในกองทุน RMF เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดีและเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างพอร์ตเกษียณไว้ให้กับท่านผู้อ่านคืออันดับแรกคือการเลือกบลจที่จะลงทุน ควรเลือก บลจ ที่มีกองทุน RMF ที่หลากหลายทั้ง ตราสารหนี้ระยะสั้น ระยะยาว หุ้นในประเทศและต่างประเทศ และควรมีทั้งหุ้นแบบเติบโตหรือแบบปันผล รวมถึงกองทุนสินทรัพย์ทางเลือก เพราะเราต้องลงทุนใน RMF เป็นเวลานานและในปัจจุบันแล้ว บลจ จะให้เราสับเปลี่ยนได้ภายในบลจ เดียวกันไม่สามารถสับเปลี่ยนข้ามบลจได้ การมีกองทุนที่ลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์จึงเป็นปัจจัยสำคัญ
นอกจากนั้นปัจจัยที่สองคือผลการดำเนินงานของกองทุน RMF ของบลจนั้นๆต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะเป็นการยากที่จะมีบลจใดที่จะมีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดในทุกประเภทของกองทุน และรักษาผลการดำเนินงานของตัวเองเอาไว้ให้เป็นที่หนึ่ง ดังนั้นเราควรพิจารณาจากภาพรวมของผลการดำเนินงานเป็นหลักโดยเฉพาะผลการดำเนินงานในระยะยาว โดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของพอร์ตของเรา เช่นถ้าเราเป็นผู้รับความเสี่ยงได้น้อยก็ควรเน้นผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารหนี้ แต่ถ้าเรารับความเสี่ยงได้ปานกลางก็ควรพิจารณาจากผลการดำเนินงานของทั้งกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้
ประเด็นที่สามคือเลือก บลจที่ให้คำแนะนำในการบริหารพอร์ตมากกว่าเน้นการขาย เพราะจะช่วยทำให้เรามองเห็นถึงภาพรวมตลอดจนผลลัพธ์ของการลงทุนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยงบางปีผลตอบแทนดีกว่าที่วางไว้แต่บางปีอาจต่ำกว่าก็ได้ นอกจากนั้นเราควรพิจารณาถึงความยากง่ายและต้นทุนในการสับเปลี่ยนก็เป็นสิ่งที่เราควรนำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกบริษัทที่ให้บริการ
ท้ายสุดเมื่อเลือกแผนและบริษัทที่ให้บริการได้แล้ว การลงทุนแบบเฉลี่ยทุกเดือนจะช่วยทำให้เรามีวินัยในการลงทุนมากขึ้น หรือบางท่านอาจชอบดูจังหวะตลาดและมีเวลาก็อาจพิจารณาจัดสัดส่วนบางส่วนเช่นร้อยละ 60 ลงทุนแบบอัตโนมัติทุกเดือนและที่เหลือเลือกจังหวะลงทุนเองก็มีส่วนที่ทำให้ได้ประโยชน์ทั้ง2แบบ
ครับหวังว่าข้อมูลที่นำมาเสนอในวันนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้างนะครับ และท้ายสุดนี้ผมก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านโชคดีและประสบผลสำเร็จจากการลงทุนนะครับ