การฟื้นตัวที่ไม่ง่ายของไทยในปี 2565 | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวเพียง 1% หลังจากที่ติดลบ 6.1% ในปีก่อนหน้า หากประเมินว่าควรจะขยายตัวปีละ 4% ในภาวะปกติก็จะประเมินได้ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีช่องว่างระหว่าง จีดีพีที่ควรจะเป็น กับ จีดีพีที่เป็นอยู่ขณะนี้ (output gap) ประมาณ 10% หรือมากกว่า
กล่าวคือหากเราตั้งต้นว่าจีดีพีของไทยในปี 2562 (ก่อนโควิดระบาด) อยู่ที่ 100 แล้วเราคาดหวังว่าจีดีพีในปี 2563 ควรจะขยายตัวไปที่ 104 (จีดีพีโต 4%)
แต่ในความเป็นจริงนั้นจีดีพีไทยในปี 2563 ลดลงไป 6.1=93.9 ก็จะเห็นว่ามีส่วนต่างถึง 10% และขยายตัวเพียง 1% ในปี 2564 ในขณะเดียวกันจีดีพีของประเทศหลัก เช่น สหรัฐและจีนนั้นเพิ่มขึ้น 6-8% ในปีเดียวกัน
ข้อดีคือเศรษฐกิจไทยนั้นควรจะมีทรัพยากรเหลือใช้มากมาย หากเรารู้ว่าควรจะหากินหรือทำกิจการอะไรที่จะทำให้ผลตอบแทนหรือผลกำสูง ก็ควรจะสามารถดำเนินไปได้โดยยมีความพร้อมด้านอุปทานทั้งปวง
แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการด้านบริการและด้านอุตสาหกรรมกลับบอกว่ามีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในส่วนหนึ่งจากแรงงานหลายแสนคนที่ไหลออกจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ไม่ยอมกลับมาเพราะคงจะเห็นความเสี่ยงที่สูงและความไม่แน่นอนของการทำงานในภาคเศรษฐกิจดังกล่าว
แต่การขาดแคลนแรงงานของไทยนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและกระทบกับทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลรีบอนุมัติแรงงานต่างด้าว 5 แสนคนให้เข้ามาทำงานเพื่อรองรับความต้องการ
นอกจากนั้นประเทศไทยก็ยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะมานานแล้ว ซึ่งนักธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้สะท้อนปัญหาดังกล่าวมาให้รับฟังโดยกตลอด แต่กลับไม่เห็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ในขณะเดียวกันข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ ที่อ้างอิงตัวเลขประชากรจากกระทรวงมหาดไทยพบว่า จำนวนประชากรในประเทศไทยนั้นมีเพียง 66.18 ล้านคนในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ที่ 66.56 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นการลงข้อมูลไม่ครบก็ได้ แต่สามารถสรุปได้ว่าจำนวนประชากรที่เป็นคนไทยนั้นน่าจะไม่สูงกว่านี้ไปมาก
ตัวเลขที่น่าตกใจอีกตัวเลขหนึ่งคือการเพิ่มขึ้นสุทธิของประชากรไทยนั้นมีเพียง 35,930 คนเท่านั้นในปี 2563 เปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยสุทธิประมาณ 200,000 คนใน 3-4 ปีก่อนหน้า
ตรงนี้สะท้อนว่าการใช้จ่ายในอนาคตอันใกล้จะลดลงเพราะการใช้จ่ายต่อบุตร 1 คนน่าจะสูงมาก ในขณะที่ในระยะยาวประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานอย่างมาก
ที่สำคัญคือในปี 2564 ที่ประชากรไทยเสียชีวิตเพราะโควิดเป็นจำนวนมากนั้น ประชากรอาจลดลงไปอีกและผมเชื่อว่าหลายครอบครัวก็คงจะไม่วางแผนที่จะมีบุตรเพิ่มในปี 2564 เพราะความไม่พร้อมของระบบสาธารณสุขและความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด 19
ผมจึงได้กลับไปหาข้อมูลการคาดการณ์โครงสร้างประชากรของไทยตามกลุ่มอายุของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งมีตัวเลขสรุปดังนี้
จะเห็นได้ว่าตัวเลขคาดการณ์ประชากรโดยรวมของสภาพัฒน์ฯ ในปี 2563 นั้นสูงกว่าตัวเลขของกระทรวงมหาดไทยเล็กน้อย (66.53 ล้านคนกับ 66.18 ล้านคน)
แต่ที่จะเห็นได้ว่าการขาดแคลนประชากรในวัยแรงงาน (15-59 ปี) จะรุนแรงขึ้นอย่างมากในอนาคตเมื่อเทียบกับในอดีตที่ประชากรในกลุ่มนี้ปรับลดลงประมาณ 0.53 ล้านคนในช่วง 2553-2563 แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น แรงงานไทยจะลดลงมากถึง 3.16 ล้านคนและในปี 10 ปีหลังจากนั้น (2573-2583) คาดว่าจะลดลงไปอีก 3.61 ล้านคน
ในขณะเดียวกันประชากรในวัยเด็กก็จะยังลดลงไปอีกเช่นกัน กล่าวคือประชากรในวัย 0-14 ปีจะลดลงไปเกือบ 3 ล้านคนในปี 20 ปีข้างหน้า (เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรกลุ่มนี้ลดลง 1.42 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา)
ซึ่งจะทำให้ความต้องการด้านการศึกษาลดลงในเชิงปริมาณ แต่น่าจะมีความต้องการในเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสมัยใหม่
ผมคงไม่ต้องกล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุมากนัก เพราะน่าจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วซึ่งจะทำให้ภาระของคนในวัยทำงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในเชิงของการดูแลผู้สูงอายุโดยตรงและในทางอ้อม คือการต้องเป็นฐานภาษีให้กับรัฐบาลในการนำเอาเงินไปช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งมีเงินออมน้อยมาก
จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการพึ่งพาจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือในปี 2563 จะมีประชากรในวัยทำงานประมาณ 3.6 คนต่อประชากรผู้สูงอายุ 1 คน
แต่สัดส่วนนี้จะลดลงเหลือเพียง 1.8 คนต่อ 1 คนในปี 2583 แปลว่าคนในวัยทำงานในปี 2583 จะต้องมีผลิตภาพ (เงินเดือน) สูงมากจึงจะรองรับภาระที่จะต้องตามมาได้
ดังนั้นการสร้างงานและสร้างโอกาสให้กับคนไทยจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรีบเร่งตั้งแต่วันนี้ การแจกเงินเช่น “คนละครึ่ง” ย่อมจะไม่ใช่แนวทางในการฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน.