สิ่งที่น่ากลัวกว่า ประชากรล้นโลก คือ ประชากรลดลง | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

สิ่งที่น่ากลัวกว่า ประชากรล้นโลก คือ ประชากรลดลง | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ในช่วงรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ได้มีมาตรการล็อคดาวน์ออกมาเพื่อให้ทุกคนอยู่บ้านมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตกตะลึงคือ อัตราการเกิดของเด็กทารกลดลงอย่างน่าตกใจ

ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ฮังการี อิตาลี สเปน และ โปรตุเกส มีการลดลงของเด็กแรกเกิดสูงถึงร้อยละ 7 อันที่จริงสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้บนโลกนี้มีประชากรน้อยลง แต่เมื่อผมได้ศึกษาแล้วการที่โลกนี้มีประชากรน้อยลงกลับไม่ใช่สิ่งที่ดีสักเท่าไหร่ และมีเหตุผลดังนี้ครับ
    ตอนนี้มีประชากรโลกนี้ 7.9 พันล้านคน อัตราการเกิดตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 17.74 คนต่อประชากร 1,000 คน และอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 7.64 คนต่อประชากร 1,000 คน สิ่งนี้ยังทำให้ทุกวันนี้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกวัน 

มีตัวเลขรายงานว่าประชากรของโลกจะไปแตะระดับสูงสุดที่ประมาณ 9.7 พันล้านคน ถึงประมาณ 10.9 พันล้านคน แต่ในรายงานก็บอกอีกว่าจะมีมากถึง 23 ประเทศที่จะมีประชากรน้อยลงเกินร้อยละ 50 ซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย 
    สาเหตุเกิดจากอัตราการเกิดที่น้อยลง และ ประชาชนในประเทศอายุเยอะขึ้นเรื่อยๆ คราวนี้สิ่งที่เราน่าจะกังวลใจถัดมาคือ แล้วปัจจัยสี่ เช่น พื้นที่อยู่อาศัย อาหาร และ น้ำจะเพียงพอต่อเด็กในอนาคตหรือไม่
    ปัจจัยแรกคือ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่บนโลกนี้ถ้าเราตัดน้ำบนโลกนี้ออกไปจะอยู่ที่ประมาณ 92.2 ล้านกิโลเมตร และเราก็ต้องตัดพื้นที่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เช่นทะเลทราย ประมาณร้อยละ 33 ของแผ่นดินโลก และอีกร้อยละ 24 สำหรับภูเขาทั่วโลก นั่นก็จะเหลือพื้นที่ประมาณ 39.6 ล้านกิโลเมตรที่สามารถพักอาศัยได้
     เมื่อเราหารตัวเลขนี้ออกมากับจำนวนประชากรที่คาดว่าน่าจะเป็นจุดสูงสุดที่ 1 หมื่นล้านคน ก็จะเหลือพื้นที่คนละประมาณ 6,000 ตารางเมตรต่อ 1 คนหรือประมาณ 3.8 ไร่ต่อ 1 คน แต่ตัวเลขนี้ก็ยังไม่ได้ตัดพื้นที่สำหรับถนนสาธารณะ และอาคารพาณิชย์ต่างๆเช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์การค้า หรือแม้แต่พื้นที่สำหรับทำนา ทำฟาร์ม แต่ถึงอย่างไรก็ตามปัญหาด้านพื้นที่อยู่อาศัยไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับประชากรในอนาคต 
    ปัจจัยที่สองคือ อาหาร จากตัวเลขของโปรแกรมอาหารโลกของสหประชาชาติจะพบว่า ตอนนี้เราผลิตอาหารเกินกว่าจำนวนประชากรทั่วโลกที่ประมาณ 1.5 เท่า นั่นแปลว่าเรามีอาหารเพียงพอสำหรับคน 1 หมื่นล้าคนแน่นอน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาเรื่องความอดอยากบนโลกนี้จะหมดไป ปัญหาเรื่องความอดอยากเกิดขึ้นจากความไม่เท่าเที่ยมกันและความยากจน

ปัจจัยที่สามคือ น้ำ ถึงแม้ว่าโลกนี้จะมีน้ำมากถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่บนโลก เพียงแค่ร้อยละ 2.5 เท่านั้นที่เป็นน้ำสะอาด ที่เหลือคือน้ำทะเล แต่จากร้อยละ 2.5 มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ นอกนั้นจะยังอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง นั่นจะเหลือเพียงร้อยละ 0.007 เท่านั้นที่จะให้ประชากรในอนาคตสามารถบริโภค 
    ถึงแม้ว่าจำนวนของปริมาณน้ำทั่วโลกจะค่อนข้างคงที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาแต่ด้วยจำนวนประชากรที่ยังเพิ่มขึ้นสูงอยู่มาก ความต้องการน้ำที่สะอาดในการบริโภคจะมีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นปัญหาเรื่องปัจจัยสี่จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตครับ 
    แต่พอตัวเลขของประชากรมันถึงจุดพีคที่ 1 หมื่นล้านคนทั่วโลก มันจะไม่อยู่ที่ 1 หมื่นล้านคนตลอดเวลา มันจะลดลง และคนอาจจะมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ความจริงคือนี่อาจจะเป็นปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลย

สิ่งที่น่ากลัวกว่า ประชากรล้นโลก คือ ประชากรลดลง | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
    ตอนนี้ประชากรโลกเพื่อรักษาระดับไม่ให้ต่ำกว่าปัจจุบันคือเด็กประมาณ 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน แต่ตอนนี้ในบางประเทศอย่างเกาหลีใต้อยู่ต่ำมากถึงขนาด 0.97 คน ต่อผู้หญิง 1 คน ในสหรัฐอเมริกาก็ได้ถึงจุดต่ำสุดตั้งแต่เคยมีสถิติมาที่ 1.73 คนต่อผู้หญิง 1 คน
     ปัญหาของประชากรน้อยลงที่เห็นได้ชัดที่สุดน่าจะเป็นเศรษฐกิจ ประชากรน้อยลง หมายถึง จำนวนผู้บริโภคน้อยลง ผู้บริโภคน้อยลงก็หมายถึงรายได้ของบริษัทน้อยลง เมื่อรายได้ของทุกบริษัทน้อยลง ก็จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย พอเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นตกลง การลงทุนจากนักลงทุนก็ลดน้อยลงไปด้วย 
    สิ่งที่ตามมาก็คือจะเกิดการจ้างงานที่ต่ำลง และ มีคนตกงานมากขึ้น มีงานวิจัยที่มีชื่อว่า “The End of Economic Growth : Unintended Consequences of A Declining Population” ของศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ โจนส์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 
    ท่านลองวาดโมเดลออกมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขามองว่าคนทั่วโลกจะอยู่อาศัยแบบภาวะซบเซา ท่านบอกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากไอเดียใหม่ๆ ซึ่งไอเดียใหม่ๆก็เกิดขึ้นจากจำนวนคนที่ค้นคว้าวิจัยมัน ซึ่งพอประชากรบนโลกนี้มันน้อยลงขึ้นมา จำนวนคนค้นคว้าและวิจัยก็น้อยลงตามไปด้วย ซึ่งทุกวันนี้การเติบโตทางเทคโนโลยีก็น้อยลงเรื่อยเมื่อเทียบกับสมัย 20 ปีที่แล้ว 
    มีอีกงานวิจัยหนึ่งของศาสตราจารย์วูลฟ์แกง ลัทซ์ (Wolfgang Lutz) ของมหาวิทยาลัยเวียนนา ชี้ว่าเมื่อคู่รักมีคู่และมีลูกกันน้อยลง มันจะเกิดเป็นวงจรขึ้นมา รุ่นถัดไปและถัดไป ก็จะพบรักและมีลูกกันน้อยลงต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในประเทศในแถบยุโรปทั้งอิตาลี และ เนเธอร์แลนด์ 
    ปัญหานี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการที่ประชากรในประเทศมีอายุสูงขึ้น จนทำให้คนทำงานต้องเสียภาษีมากขึ้นเพื่อเลี้ยงดูประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศอย่าง ญี่ปุ่น ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นถดถอยที่ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ

สิ่งที่น่ากลัวกว่า ประชากรล้นโลก คือ ประชากรลดลง | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ไม่เพียงแค่นั้นประชากรของประเทศญี่ปุ่นเขาคาดการณ์ว่าได้ผ่านจุดพีคไปแล้วที่ 128 ล้านคนในปีพ.ศ. 2560 เขาคาดการณ์ไว้ว่าประชากรของญี่ปุ่นจะเหลือเพียง 53 ล้านคนในปี 2643 
    สุดท้ายนี้ผมมองว่าปัญหาเรื่องประชากรถดถอย ไม่ใช่แค่เพียงบางประเทศจะแก้ไขได้ แต่ทั้งโลกต้องเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงมันขึ้นมา เพราะว่าปัญหาที่คนมีลูกน้อยลงกันทั่วโลกเป็นเพราะว่าค่าใช้จ่าย ความเครียดในหน้าที่การงาน และ ปัญหาทางสังคม
     สิ่งเหล่านี้เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้คนมีลูก แต่ถ้าจะแก้ไขมันอาจจะต้องเปลี่ยนระบบทางเศรษฐกิจใหม่ให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ให้มีความเสรีภาพมากขึ้น แต่ผมมองว่า ณ ตอนนี้เองอาจจะยังยากอยู่กับการแก้ไขสิ่งเหล่านั้นในเมื่อตอนนี้โลกก็เผชิญปัญหากับทั้งโลกร้อน เงินเฟ้อ และ โรคโควิด-19 อยู่ครับ.
คอลัมน์ : คุยให้... “คิด”
ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ CSI Society
https://www.csisociety.com