คำถามหลักจากเรื่องของ บิล เกตส์ | ไสว บุญมา

คำถามหลักจากเรื่องของ บิล เกตส์ | ไสว บุญมา

บิล เกตส์ เป็นมหาเศรษฐีที่ทำกิจกรรมหลายอย่างมาตั้งแต่ครั้งยังไม่เกษียณจากบริษัทไมโครซอฟท์ ตอนนี้เขามีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้นและมีงานอดิเรกที่น่าสนใจอีกอย่างน้อย 2 อย่าง

งานอดิเรกที่น่าสนใจอีกอย่างน้อย 2 อย่างของ บิล เกตส์ ได้แก่ นำเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือที่เขาชอบมาเผยแพร่ผ่านงานบันทึกชื่อ The Gates Notes และ นำเรื่องราวของบุคคลที่ทำกิจกรรมสำคัญแต่อาจไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากส่วนต่าง ๆ ของโลกมาเผยแพร่ผ่านงานเขียนชื่อ “วีรชนในสนาม” (Bill Gates’s Heroes in the Field)    
    เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บิล เกตส์นำเรื่องราวของวีรชนคนหนึ่งมาเผยแพร่ผ่านงานบันทึกของเขา เป็นเรื่องราวของสตรีชนบทในเคนยาชื่อ “คะเคนยา นไทยา” (Kakenya Ntaiya) 

“คะเคนยา นไทยา” ผู้เดินสวนกระแสสังคมอันเชี่ยวกรากเพื่อหวังจะช่วยเปลี่ยนชะตากรรม 3 อย่างของเด็กผู้หญิงที่ถูกสาปมาตั้งแต่กำเนิดเพียงเพราะเกิดเป็นหญิง นั่นคือ ขาดโอกาสทางการศึกษา ถูกกริบอวัยวะเพศและถูกจับแต่งงานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก  

ตามประเพณีที่เผ่ามาไซในเคนยากำหนด เมื่ออายุ 5 ขวบ คะเคนยามีคู่หมั้นที่ผู้ใหญ่เลือกให้และเมื่ออายุ 13 ปีจะต้องออกจากโรงเรียนเพื่อเข้าพิธีกริบอวัยวะเพศ  หลังจากนั้น เธอจะต้องแต่งงานและทำหน้าที่แม่บ้านไปตลอดชีวิต  แต่คะเคนยาไม่ประสงค์จะเดินตามทางที่ประเพณีกำหนดให้  

ก่อนวันสำคัญมาถึง เธอจึงต่อรองกับพ่อว่า ถ้าพ่อยอมให้เธอเรียนหนังสือต่อไปเพราะเธอตั้งใจจะเป็นครู เธอจะยอมเข้าพิธีกริบอวัยวะเพศ  พ่อของเธอตกลง  คะเคนยาจึงได้เรียนต่อและได้รับทุนการศึกษาจนกระทั่งจบปริญญาเอกด้านการศึกษาในสหรัฐ  

หลังจากนั้น เธอกลับบ้านเกิดเพื่อก่อตั้งทั้งโรงเรียนและองค์กรเอกชนขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิงในชนบทและรณรงค์ให้ยกเลิกประเพณีจำพวกที่บังคับให้เด็กหญิงเข้าพิธีกริบอวัยวะเพศและแต่งงานเมื่อแรกแตกวัยรุ่นแล้วเป็นแม่บ้านตลอดชีวิต  งานของเธอได้ผลดีและตอนนี้เธอขยายไปเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ชายด้วย

การอ่านเรื่องราวความกล้าและความแกร่งของคะเคนยาทำให้นึกถึงนักสู้สตรีชาวเคนยาชื่อ “วังการี มาไท” ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลด้านสันติภาพเมื่อปี 2547  นางวังการีเป็นนักบุกเบิกด้านการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมกับการปลูกป่าและพัฒนาชุมชน  

  คำถามหลักจากเรื่องของ บิล เกตส์ | ไสว บุญมา ภาพ fb:Bill Gates 

หลายครั้งเธอถูกปองร้ายจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดดังมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ Unbowed: A Memoir (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)  ชาวโลกได้รับมรดกตกทอดทางความคิดและกิจกรรมด้านการพัฒนาชุมชนชื่อ The Green Belt Movement จากนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่คนนี้

ดังเป็นที่ทราบกันดี ไม่เฉพาะในเคนยาเท่านั้นที่สตรีถูกกดขี่และมีโอกาสพัฒนาตนเองแบบจำกัด ในหลายสิบประเทศก็เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในเขตที่เกิดจากการลากเส้นขนานจากอัฟกานิสถานไปจนถึงสุดทวีปแอฟริกา  

ในปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า ประเพณีที่ปิดกั้นสตรีเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม  ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำถามจำนวนมากตามมา

 คำถามสำคัญยิ่งสำหรับคนไทยคงเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เมืองไทยพัฒนาได้ช้ากว่าหลายประเทศทั้งที่สตรีไทยได้รับสิทธิ์สารพัดทัดเทียมกับชายมานานแล้ว 

เช่น ได้รับสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารประเทศเป็นแนวประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 ส่งผลให้สตรีไทยได้สิทธิ์ก่อนสตรีสวิสซึ่งชายชาวสวิสเพิ่งยินยอมให้ได้สิทธิ์นั้นเมื่อปี 2514 นี่เอง  ส่วนสตรีผิวสีดำชาวอเมริกันยังถูกกิดกันมาจนกระทั่งวันนี้  

หลังการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารประเทศมาเป็นแนวประชาธิปไตยส่งผลให้สตรีไทยมีสิทธิ์ทางการเมืองเท่ากับชายและเคยมีนายกรัฐมนตรีสตรีแล้ว เพราะอะไรการเมืองไทยจึงยังไม่เป็นประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ดังที่วาดไว้ตั้งแต่ต้น?  

คำถามนี้คงนำไปสู่การถกเถียงกันแบบหัวชนฝา แต่ก็น่าจะหาคำตอบได้ในแนวนี้คือ กลุ่มผู้ยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจติดต่อกันมาไม่มีเจตนาที่จะให้ระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเกิดขึ้น  รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จึงดูเหมือนจะเขียนโดยคนไร้ปัญญา  สังคมที่มีกลุ่มผู้นำทำเสมือนคนไร้ปัญญาพร้อมกับมีเจตนาไม่ดี โอกาสที่จะพัฒนาย่อมมีน้อย.