พลังท้องถิ่น หัวใจความปลอดภัยทางถนน | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

พลังท้องถิ่น หัวใจความปลอดภัยทางถนน | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

ไม่ควรมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนแม้แต่คนเดียว คือหนึ่งในหลักการออกแบบระบบความปลอดภัยทางถนน ที่หลายเมืองทั่วโลกนำไปปรับใช้

ตัวเลขนี้อาจหมายถึงการสูญเสียคนสำคัญของครอบครัว การบาดเจ็บหรือพิการตลอดชีวิต ตลอดจนการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อันเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า จากข้อมูลสถิติการตายจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีการบูรณาการฐานข้อมูล 3 ฐาน ในปี 2554-2563 
    พบว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า 200,000 ชีวิต หรือเฉลี่ยมากกว่า 20,000 คนต่อปี ซึ่งนับเป็นการสูญเสียที่สูงมาก 

เราสามารถลดและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนได้ เช่นเดียวกับสาเหตุการเสียชีวิตอื่น ๆ     

กรอบแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเสนอโดยสถาบันวิจัยหรือหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ในช่วงแรกมองอุบัติเหตุทางถนนมีสาเหตุแตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์

แนวคิดในระยะถัดมามุ่งเน้นการแก้ไขความผิดพลาดของผู้ใช้รถใช้ถนน และแนวคิดในปัจจุบันมองสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ โดยตระหนักถึงความบกพร่องของมนุษย์ และเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่ายทุกปัจจัยของระบบ ในการช่วยกันแก้ไขและป้องกันการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นศูนย์ 
    กรอบแนวคิดดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในประเทศไทยและบทเรียนจากกรณีศึกษา ที่เน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างระบบความปลอดภัยทางถนน ควบคู่กับการจัดการกลุ่มเสี่ยงหลักและเสริมพลังท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา 
    หน่วยงานส่วนท้องถิ่น คือปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน เพราะมีความเข้าใจบริบทพื้นที่เป็นอย่างดี และสามารถประสานความร่วมมือจากทั้งส่วนกลาง ภาคีเครือข่ายและประชาชนในพื้นที่ สู่การแก้ไขปัญหาให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

สถาบันอนาคตไทยศึกษา จึงกลั่นกรองข้อมูลจากการศึกษาและการวิจัยเชิงทดลอง มาเป็นหลักคิดและกระบวนการในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางความคิดให้หน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน 

หลักคิดเพื่อค้นหาวิธีแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างตอบโจทย์ มี 3 ข้อ คือ
1. ส่วนร่วม (Be Radical Collaborative) การแก้ปัญหาที่ท้าทายอย่างอุบัติเหตุทางถนน อาศัยการมีส่วนร่วมจากผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญแตกต่างหลากหลาย จากทั้งหน่วยงานส่วนท้องถิ่น หน่วยงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างสรรค์มุมมองและไอเดียการแก้ไขปัญหาจากความหลากหลายของทีม และสามารถออกแบบการแก้ไขปัญหาได้อย่างตอบโจทย์การใช้งานจริง

พลังท้องถิ่น หัวใจความปลอดภัยทางถนน | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ
2. สารสนเทศ (Be Data-driven) ข้อมูลหรือสารสนเทศ เปรียบเสมือนเข็มทิศที่ช่วยสนับสนุนและชี้แนะการตัดสินใจได้ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การมองภาพรวมของปัญหา ระบุจุดเสี่ยง ไปจนถึงการวัดประสิทธิภาพของมาตรการ โดยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มี หรือเริ่มเก็บข้อมูลที่จำเป็นเพิ่มเติม
3. รอบด้าน (Be User-Vehicle-Road Centric) สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เป็นไปได้ทั้งปัจจัยด้านคน ปัจจัยด้านพาหนะ ปัจจัยด้านถนนและสภาพแวดล้อม หรือทุกปัจจัยรวมกัน การคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านช่วยให้เกิดการมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวม และการค้นหาแนวทางแก้ไขที่เกิดแรงกระเพื่อมต่อการพัฒนาได้ดีที่สุด

กระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเข้าใจบริบทและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถทำได้โดย
1. ทำความเข้าใจปัญหา (Understand) ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและบริบทของปัญหา (คน-รถ-ถนน) ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล การสังเกตพื้นที่จริง การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย หรือการมีประสบการณ์ตรง 
2. ระบุโจทย์ที่ต้องแก้ไข (Define) วิเคราะห์ปัจจัยด้านคน รถ ถนนและสภาพแวดล้อมในการสัญจรที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และระบุโจทย์ที่ต้องการแก้ไข
3. ระดมสมองค้นหาวิธีแก้ไข (Brainstorm) ศึกษาแนวคิด งานวิจัยหรือกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้อง อาทิ แนวคิดด้านวิศวกรรมจราจร การกําจัดความเสี่ยงเชิงบวกเพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย (Behavior Based Safety for Safety Culture) และทฤษฎีสะกิดพฤติกรรม (Nudge Theory) ประกอบกับข้อมูลเชิงลึก (insight) ที่ได้จากการทำความเข้าใจปัญหาในขั้นที่ 1 เพื่อค้นหาไอเดียในการแก้ไขปัญหา
4. แก้ไข วัดผลและพัฒนา (Do-Check-Act) ระบุตัวชี้วัดที่สามารถวัดประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหา อาจจัดทำตัวต้นแบบ (prototype) หรือโมเดลจำลองเพื่อสอบทานไอเดียเบื้องต้น จากนั้นลงมือแก้ไขในพื้นที่เป้าหมาย ประเมินผลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

พลังท้องถิ่น หัวใจความปลอดภัยทางถนน | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลและแนวทางเพื่อพัฒนาความปลอดภัยทางถนนเพิ่มเติม สถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมกับ Punch Up สตูดิโอผู้สร้าง Data Visualization เพื่อขับเคลื่อนสังคม ชวนทุกคนมาสำรวจอุบัติเหตุทางถนน

พร้อมส่งต่อแนวทางพัฒนาเพื่ออนาคตของถนนไทยที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนนทุกคนทุกกลุ่มในสังคม ผ่านเรื่องราวข้อมูล “Better Road, Better Life อุบัติเหตุทางถนน ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคลอย่างที่คิด” และ Road Safety Playbook สรุปข้อเสนอแนะและแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาความปลอดภัยทางถนน ฉบับหน่วยงานท้องถิ่น ได้ที่ Betterroad.ThailandFuture.org 

จากนี้ไป ประเทศไทยไม่ควรมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนแม้แต่คนเดียว ความปลอดภัยทางถนนเป็นสิ่งที่สร้างได้ ร่วมกันสร้าง ร่วมกันลดความสูญเสีย  เพื่อการเดินทางบนท้องถถนนที่ดี เพื่อชีวิตที่ดีกว่า